ครม.เงา ปชป.แนะรัฐทบทวนโชวห่วยช่วยชาติ ชี้ผลาญงบ 1.6 พันล้าน แนะศึกษาที่โครงสร้างต้นทุนแทนแก้ปลายเหตุ จี้ดูแลค่าครองชีพหลังผลสำรวจระบุค่าใช้จ่ายร้อยละ 55 เป็นค่าอาหารและค่าเดินทาง ชี้ค่าแรง 300 ทำเอสเอ็มอีปิดกิจการนับแสน จี้แจงการใช้งบกลาง 1.2 แสนล้าน หลังพบสุดอืดเบิกจ่ายไม่ถึง 5% อัดบริหารในสถานการณ์ปกติไม่ฉุกเฉิน
วันนี้ (4 เม.ย.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รมว.พาณิชย์เงาของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการตรวจสอบการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงของรัฐบาลพบว่ายังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยเฉพาโครงการโชวห่วยช่วยชาติที่ใช้งบประมาณกว่า 1,600 ล้านบาท โดยกำหนดหนึ่งร้านค้าหนึ่งชุมชน มีเป้าหมาย 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ซึ่งกระจายไม่ทั่วถึง และการขายสินค้าที่่ำกว่าท้องตลาด 20% ก็ยังไม่มีมาตรการป้องกันการเวียนเทียนซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อ จึงเห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า โดยรัฐบาลควรใช้งบประมาณ เพื่อศึกษาโครงสร้างต้นทุนสินค้าจำเป็น และกำหนดมาตรการช่วยลดต้นทุน จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และจะทำให้ราคาปลายทางมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังเห็นว่านโยบายพลังงานที่ผิดพลาด และรัฐบาลไม่ยอมทบทวน โดยมีการปรับราคาแก๊สเอ็นจีวี แอลพีจี และดีเซล สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการผลิตทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งจะเป็นภาระต่อประชาชนอย่างมาก เพราะ 55% ของค่าใช้จ่ายประชาชนเป็นค่าอาหาร และค่าเดินทาง นอกจากนี้ยังพบว่าการประกาศควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ
นอกจากนี้ ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นห่วงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมาใน 7 จังหวัด และ 40% ในจังหวัดอื่นๆ นั้น เป็นการปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดดทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันและได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มแอล ซึ่งจะต้องปิดตัวลงนับแสนราย และธุรกิจโรงแรม และบริการ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือด้วย เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลธรรมดาจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 โดยผู้ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทใหญ่ และอุตสาหกรรมบางประเภทเท่านั้น อีกทั้งแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนก็ไม่ได้ประโยชน์จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลชุดนี้
นายอภิรักษ์ยังวิเคราะห์ถึงแนวทางแก้ปัญหาสินค้าการเกษตรตกต่ำของรัฐบาลว่า มุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่มีการกำหนดมาตรการเชิงรุก ต้องรอให้เกษตรกรออกมาปิดถนนเรียกร้องจึงค่อยเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหายางพารา มันสำปะหลัง และสับปะรด จึงขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการเชิงรุกในการเข้าไปศึกษาโครงสร้างต้นทุน จัดหาตลาดรองรับผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้แทนที่จะตามแก้ที่ปลายเหตุเหมือนที่ผ่านมา และเห็นว่ารัฐบาลต้องปรับปรุงนโยบายในการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนทั้งระบบ
นายอรรถวิช สุวรรณภักดี โฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาถึงการเบิกจ่ายงบกลาง 1.2 แสนล้าน ซึ่งพบว่ารัฐบาลยังบริหารแบบปกติในการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เป็นการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยพบว่าตัวเลขการเบิกจ่ายในกระทรวงหลัก เช่น เกษตร คมนาคม และมหาดไทย ยังมีการเบิกจ่ายไม่ถึงร้อยละ 5 และยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสจึงขอให้มีการตรวจสอบได้ เช่น กรณีงบไทยเข้มแข็งของรัฐบาลชุดที่แล้ว เปิดโอกาสให้ติดตามผ่านเว็บไซต์ได้ว่า แต่ละโครงการอยู่ในขั้นตอนใดแต่ยังไม่เห็นความโปร่งใสในการดำเนินการให้ตรวจสอบได้ของรัฐบาลชุดนี้
นายอรรถวิชกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ พร้อมก้บฝากถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องขอให้ลดการให้ข่าวต่อสาธารณชน เพราะมีความอ่อนไหวมาก หากไม่ระมัดระวังอาจกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ได้