นายกฯ สบช่องใช้เวทีอาเซียนฯ ประณามคนร้ายป่าวใต้ เสนอให้ความสำคัญสิทธิผู้หญิง ชู 3เสาหลักสร้างประชาคมอาเซียนเข้มแข็ง หนุนพัฒนาคุณภาพเยาวชนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ด้านสมาชิกรัฐสภาอาเซียน หนุนทุกฝ่ายยึดหลักกฎกติกา การออกกฎหมาย และส่งเสริมประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. เวลา 09.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะทางการฝ่ายไทย ซึ่งประกอบไปด้วยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ออกเดินทางไปยังสำนักงานนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20
โดยในเวลา 09.15 น. นายกรัฐมนตรีได้เดินทางถึงสำนักงานนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและภริยา รอให้การต้อนรับ และมีการถ่ายภาพร่วมกัน ณ จุดต้อนรับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังห้องพักรอ ชั้น 3 ก่อนเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 และการฉลองครบรอบ 45 ปี อาเซียน ณ Nuon Srey Hall ชั้น 3 สำนักงานนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
ทั้งนี้ พิธีเปิดเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งได้กล่าวถึงการพัฒนาและนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาในการบริหารประเทศและนำมาซึ่งความมั่นคง การพัฒนาในกัมพูชา และการเพิ่มบทบาทของกัมพูชาในภูมิภาค
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 (2015) ซึ่งที่ผ่านมาอาเซียนมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามาโดยตลอด จากภูมิภาคที่มีความขัดแย้งและความยากจนสู่ภูมิภาคแห่งความมั่นคง มั่งคั่งและพัฒนา ทั้งนี้ เป้าหมายของประชาคมอาเซียน คือ One Community, One Destiny จะต้องบรรลุผลสำเร็จ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและในโลก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลาง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นต้น ดังนั้น ในการรับมือกับความท้าทายและภัยคุกคามต่างๆ อาเซียนต้องลดช่องว่างทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความมุ่งมั่นร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียนต้องมีความเป็นเอกภาพ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่เต็มไปด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และมีกฎกติการ่วมกัน ดังนั้น จึงต้องมีวาระที่ต้องดำเนินการ “Phnom Penh Aganda” เช่น การสร้างกลไกทางการเงินที่เข้มแข็ง อย่างเช่น CMI-Chiang Mai Initiative จะต้องขยายเงินทุนจาก 120 พันล้าน เป็น 240 พันล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ, การเร่งดำเนินการตาม Roadmap ของอาเซียน, การสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้เกิดขึ้น การเชื่อมโยงอาเซียน ทั้งทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานทางสถาบัน (Institute Infrastructure), การบริหารจัดการภัยพิบัติร่วมกัน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างของโลก เช่น ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้อาเซียนเป็นแหล่งอาหารของโลก รวมทั้งที่สำคัญคือการขยายการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนและทุกระดับ
ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวเปิดการประชุมของสมเด็จฯ ฮุน เซน ผู้นำอาเซียนได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันบนเวทีเรียงตามลำดับตัวอักษร ต่อด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีเปิด ผู้นำอาเซียนต่างเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนแบบเต็มคณะ (Plenary) ณ ห้อง Champa Room ชั้น 3 เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต่อไป
เวลา 10.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนแบบเต็มคณะ (Plenary) ณ ห้อง Champa Room ชั้น 3 ซึ่งเป็นการหารือกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ในช่วงต้นของการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้กล่าวประณามการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะกับผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และเป็นสิ่งที่ประชาคมอาเซียนไม่สามารถยอมรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไทยและอาเซียนจะดำเนินการเสริมเข้มมาตรการความปลอดภัย เพื่อประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันให้การสนับสนุนและความร่วมมือกับกัมพูชาในการเป็นประธานอาเซียน ทั้งนี้ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จัดลำดับความสำคัญของการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการนำสามเสาหลักของประชาคมอาเซียนมาปฏิบัติใช้ให้ได้จริง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องยึดถือและดำเนินการตามแผนแม่บททั้งสาม ผู้นำทุกประเทศต้องให้ความสนับสนุน ทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ ความสำเร็จของประชาคมอาเซียน จะต้องดำเนินการตามเสาหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย
เสาหลักทางเศรษฐกิจต้องมีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การค้าแบบเสรี เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนทางตรงในอาเซียน การทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจะทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าในอาเซียนและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน ประเทศไทยสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และหวังว่า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) จะสามารถสรุปได้ตามแผนการ รวมถึงการประกาศให้มีการเจรจาในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 (launch of negotiation at 21st ASEAN Summit) และเริ่มให้มีการเจรจากับคู่ภาคี FTA ภายในปลายปีนี้ และไตรมาสแรกของปี 2556 (2013) และเพื่อให้มีการสมดุลใน RCEP เราควรจะสร้างให้เกิดผลประโยชน์ร่วมและแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้มีจุดศูนย์กลางเป็นอาเซียน
เสาหลักการเมืองและความมั่นคง ต้องมีการสนับสนุนทางสายกลางในการป้องกันการก่อการร้ายในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ยังเป็นเวลาที่สมควรสำหรับการแสดงเจตจำนงของอาเซียนในเรื่องสิทธิมนุษยธรรม (ASEAN Declaration on Human Rights) นอกจากนี้ จะต้องสนับสนุนให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ลงนามในสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (the Protocol to the Southeast Asia Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty) ภายในปีนี้ รวมถึง การพัฒนาเครือข่ายหน่วยงานนิวเคลียร์ เพื่อสร้างความร่วมมือว่าด้วยประเด็นความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยได้เป็นผู้ริเริ่มในการประชุมนิวเคลียร์ซัมมิท ครั้งที่ผ่านมา และความจำเป็นในการสร้างประชาคมที่ปราศจากยาเสพติด ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้มีการรับรองแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยเขตปลอดยาเสพติด โดยไทยได้เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยยาเสพติดอาเซียน
เสาหลักสังคมและวัฒนธรรม จะต้องมีการร่วมมือมากขึ้นในเรื่องหมอกควันข้ามเขตแดน โดยมีเป้าหมายที่จะลดวาตภัยให้เหลือเพียง 50,000 แห่ง ในลุ่มแม่น้ำโขง ภายในปี 2558 และเพื่อเป็นการสนับสนุนขีดความสามารถของภูมิภาค ประเทศไทยขอเสนอความช่วยเหลือด้านเทคนิคโดยการจัดการฝึกอบรมด้านการควบคุมคุณภาพอากาศให้แก่สมาชิกประเทศอาเซียนในปลายปีนี้
สำหรับประเด็นเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติ นายกรัฐมนตรีได้เสนอเป้าหมายการสร้างเครือข่ายประชาคมที่สามารถบริหารจัดการภัยพิบัติได้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาศักยภาพของภูมิภาค โดยการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์และแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน พร้อมกับสนับสนุนการบริหารน้ำข้ามเขตแดน ซึ่งอาจรวมถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างพลเรือนและทหารเพื่อทำให้ศูนย์กลางเครือข่ายเข้มแข็งมากขึ้น
ส่วนด้านความเชื่อมโยงในอาเซียน (connectivity) เป้าหมายคือการเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกอาเซียน เพื่อสร้างประชาคมให้มีผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน โดยต้องลดอุปสรรคบริเวณชายแดน เพื่อให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าและประชาชนระหว่างกันได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎระเบียบ หรือลดกระบวนการผ่านเข้าออก โดยใช้ ASEAN Single Window ในขณะเดียวกัน ต้องพัฒนากลไกในการรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้ใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงลักลอบกระทำการที่ผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด จนกระทั่ง วัสดุนิวเคลียร์ ในส่วนของประเทศไทยเอง จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม world economic forum on East Asia ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2555 ภายใต้หัวข้อ "Shaping the Region Future through Connectivity" ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้นำอาเซียนมาร่วมงานดังกล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่อาเซียนต้องดำเนินการ คือ การลดช่องว่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยการสร้างความมั่นคงและเจริญเติบโตแก่ประชาคมอาเซียน และประเทศไทยมีนโยบายที่จะลดช่องว่างดังกล่าวผ่านกรอบความร่วมมือ GMS ACMECS และ ASEAN โดยใน 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้สนับสนุนเงินจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความช่วยเหลือทางเทคนิค และได้อนุมัติการกู้ยืม จำนวน 256 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน และไทยก็ยังคงพัฒนาความร่วมมือภายใต้ Initiative for ASEAN Integration เพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ประชาคมอาเซียนต้องเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีการดำเนินการในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเราควรจะให้ความห่วงใยในเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์และอาชกรรมข้ามชาติ ที่มีผลกระทบต่อการเจริญรุ่งเรืองของอาเซียน ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของประชาคมอาเซียน จะนำมาสู่ความมั่นคงทางการเมือง การบูรณาการของภาคเศรษฐกิจ และการเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสังคมเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามของโลกปัจจุบัน
ในโอกาสนี้ ประเทศไทยยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (G-20) โดยการประชุม G-20 นี้ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปเท่านั้น แต่ควรเป็นการยกประเด็นที่ครอบคลุมระดับนโยบาย เช่น การสร้างกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง และการปฏิรูปสถาบันทางการเงินระดับระหว่างประเทศ โดยไทยยังสนับสนุนกลไกความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติ กับ G-20 เพื่อช่วยลดช่องว่างด้านความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย รวมถึงการสนับสนุนให้อาเซียนเข้าร่วมการประชุมนี้เป็นประจำทุกปี และขอเสนอให้อาเซียนเป็นผู้หยิบยกประเด็นในการประชุมด้วย
จากนั้น เวลา 12.30 น. นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับผู้นำอาเซียนที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ณ ห้อง Rumduol 1 ชั้น 1 ก่อนเข้าร่วมการประชุมกับภาคส่วนต่างๆ ในช่วงบ่าย
เวลา 14.00 น. ณ ห้อง Champei, Peace Palace นายกรัฐมนตรี และผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศร่วมประชุมหารือกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน นำโดย นายมาซูกี อัลลี ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน สำหรับ ผู้แทนจากรัฐสภาไทย คือ วุฒิสมาชิก นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ ซึ่งการหารือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำอาเซียนกับฝ่ายนิติบัญญัติของอาเซียน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของ AIPA ว่าเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียนในปี 2015 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญสำหรับอาเซียนในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาคมระหว่างประเทศและนักลงทุนชาวต่างชาติ ถึงแม้ว่าภูมิภาคอาเซียนจะมีการพัฒนาไปอย่างมากภายใต้กฎบัตรอาเซียนและแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียนแล้ว แต่ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่ยังต้องการความช่วยเหลือจากทาง AIPA ด้วย โดย AIPA สามารถช่วยอาเซียนสร้างประชาคมที่ยึดกฎกติกา ได้โดยการสนับสนุนการออกกฎหมายภายในประเทศ เพื่อให้ข้อตกลงอาเซียนสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาหรือหน่วยงานนิติบัญญัติจากประเทศอาเซียน ซึ่ง AIPA สามารถกระตุ้นให้สมาชิกรัฐสภาของประเทศในกลุ่มอาเซียนผ่านกฎหมายภายในที่จำเป็นเพื่อให้ความตกลงอาเซียนสามารถใช้บังคับได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สมาชิกรัฐสภายังสามารถช่วยให้อาเซียนปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎบัตรอาเซียนและสามเสาหลัก ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าอาเซียนเป็นองค์กรตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎเกณฑ์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังควรมีการหารือระหว่างอาเซียนกับ AIPA เพื่อทราบถึงความคืบหน้าของข้อตกลงอาเซียน เพื่อดูว่า AIPA สามารถช่วยในการดำเนินงานในด้านใดได้
นอกจากนี้ AIPA สามารถช่วยให้อาเซียนกลายเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการเชื่อมโยงอาเซียนกับประชาชน ในฐานะที่สมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชน สามารถเข้าหาประชาชนและรับฟังปัญหาหรือข้อกังวลที่อาจส่งผลกระทบต่ออาเซียนได้โดยตรง ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในการกำหนดนโยบายต่ออาเซียน โดย AIPA ยังสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการสร้างประชาคมอาเซียน อีกทั้งเครือข่ายนิติบัญญัติของ AIPA ยังสามารถช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนและส่งเสริมการรับรู้ในหมู่ประชาชนให้มากขึ้นได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประชาคมอาเซียนยังได้มีการพิจารณาเชิญ AIPA เข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียน อาทิ การสัมมนาของอาเซียนในอนาคตอีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าในอนาคต อาเซียนและ AIPA จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นอีก
เวลา 15.00 น. ภายหลังการพบกับคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ณ ห้อง Champei, Peace Palace นายกรัฐมนตรีและผู้นำอาเซียน 9 ประเทศ พร้อมด้วยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ประชุมหารือกับผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน ภายใต้หัวข้อ "Gender and Development in ASEAN" เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในสังคม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อที่ประชุมว่า การมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับ CSOs นั้น เป็นส่วนสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ CSOs ตั้งแต่ที่ CSOs มีส่วนช่วยในการพัฒนาในหลายๆด้าน รวมถึงในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ และการพัฒนาในอาเซียน
นายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และหวังว่าภูมิภาคอาเซียนจะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิและความท้าทายของผู้หญิงมากขึ้นด้วยเช่นกัน การพัฒนานั้นจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องพัฒนาประชากรอีกครึ่งหนึ่ง นั่นคือ สตรีให้มีศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยมีหลายสิ่งที่ผู้หญิงสามารถทำได้ดีกว่าผู้ชาย นั่นคือ การประนีประนอม และการที่สตรีเป็นผู้ที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการพัฒนา ทั้งนี้ในด้านของสิทธิมนุษยชน เราไม่ควรให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับความยากจน การแบ่งแยก การละเมิด หรือความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้น เพื่อช่วยลดช่องว่างทางเพศ ประเทศไทยจึงได้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ด้วยงบประมาณ ประมาณ 7.7 พันล้านบาท (หรือ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อพัฒนาบทบาทสตรี โดยการสร้างงาน สร้างโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ซึ่งในขณะนี้มีสตรีไทยประมาณ 6 ล้านคนได้ร่วมลงทะเบียนในกองทุนนี้แล้ว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายในอาเซียนควรสนับสนุนให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการพัฒนาและการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่า เลขาธิการอาเซียนจะให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้สตรีมีโอกาสได้รับตำแหน่งในระดับสูงในสำนักเลขาธิการอาเซียน พร้อมกันนี้เราควรพัฒนาบรรทัดฐานในระดับภูมิภาค ที่จะช่วยปกป้องผู้หญิงจากการถูกละเมิดและการถูกเลือกปฏิบัติ โดยบรรทัดฐานดังกล่าวควรได้รับการบัญญัติลงในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ควรมีการเจรจาอย่างใกล้ชิดกับ CSOs โดยหวังว่าในอนาคต อาเซียน และ CSOs จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นอีก
จากนั้นเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีและผู้นำอาเซียนได้มีการพบปะกับผู้แทนเยาวชนอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ภายใต้หัวข้อ “Role of ASEAN Youths in ASEAN Community Building” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศสมาชิก
โดยนายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทัศนคติ และความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับบทบาทของเยาวชนจากกลุ่มประเทศอาเซียนในการเดินหน้าเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศสมาชิกกับตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะเด็กคืออนาคตชองชาติ และเพื่อการมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ ต้องสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในกลุ่มประเทศสมาชิก ด้วยการพัฒนาความสามารถ ทักษะในการเรียนรู้ และเพิ่มความหลากหลายทางการศึกษา เพื่อให้เด็กมีความสามารถเพียบพร้อมต่อไปในอนาคต ในขณะเดียวกัน เยาวชนเหล่านี้ต้องเติบโตขึ้น ในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดจากยาเสพติด ปลอดอาชญากรรม และมีโภชนาการที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับชาติ และระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ ในระดับชาติต้องทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันจากพื้นฐาน ซึ่งประเทศไทยขณะนี้ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชน โดยมีการพัฒนาเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตให้ทั่วถึงทั่วประเทศ รวมถึงระบบฟรี Wifi เพื่อการศึกษา และมีการแจก Tablet PC ให้แก่เยาวชนในระดับประถม นอกจากนี้ ยังจัดให้มีค่ายเยาวชนและกิจกรรมที่จะช่วยให้ความรู้แก่เยาวชนไทยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในภาษาอังกฤษและภาษาประจำชาติอื่นๆ ของกลุ่มประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ ได้สนับสนุนการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในระดับประเทศ ระดับจังหวัด รวมถึงระดับอำเภอ เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
สำหรับการดำเนินการในระดับภูมิภาค-ต้องเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมโยงและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างประชาชนในแต่ละประเทศของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมระหว่างกันของเยาวชนในกลุ่มประเทศคู่เจรจา ทั้งนี้ ล่าสุด ประเทศไทยได้เป็นประธานการจัดโครงการเยาวชนอาเซียนจีน เพื่อสร้างประชาคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปันในกรุงเทพและคุนหมิงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการก้าวไปสู่ประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asia Community : EAC) ต่อไป
นายกรัฐมนตรียังเสนอให้มีการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน เพื่อสนับสนุนระบบการศึกษา และเป็นการขยายโอกาสในการศึกษาให้แก่เยาวชน ซึ่งประเทศไทยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับประชาคมอาเซียน