ผ่าประเด็นร้อน
เพิ่งถึงบางอ้อว่าทำไมถึงได้พยายามกีดกันไม่ให้นักข่าวสาวคนหนึ่งไม่ให้เดินทางไปทำข่าวการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา หลังจากมีการเปิดเผยล่าสุดว่าเป็นเพราะมีการตั้งคำถามเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เรื่องธุรกิจ “พลังงาน” ในพื้นที่อ่าวไทยทั้งในเขตทับซ้อนหรือพยายาม “ทำให้เป็น” เขตทับซ้อนนี่เอง ทำให้ได้เห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากลซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ก็มักเกิดขึ้นทำนองเดียวกันอยู่ตลอดเวลาที่สองพี่น้องคู่นี้อยู่ในอำนาจ
หากย้อนอดีตให้เห็นภาพก็ต้องบอกว่า คนในครอบครัวทั้งปีทั้งชาติก็มักจะยินแต่ข้อสงสัยเรื่อง ซุกหุ้น เลี่ยงภาษี ตั้งบริษัทฟอกเงิน ใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว วนเวียนแต่เรื่องดังกล่าวแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเวรกรรมอะไรของบ้านเมือง เนื่องจากก็ยังมีคนเชื่อถืออยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกันพวกเขาทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
หลายคนฟันธงว่าความร่ำรวยของ ทักษิณ ชินวัตร ที่มาธุรกิจสัมปทานผูกขาดล้วนมาจากความฉ้อฉลไม่ชอบมาพากล และที่ผ่านมาเริ่มมองเห็นลู่ทางแล้วว่าธุรกิจด้านโทรคมนาคมต้องมีการมีการแข่งขันสูง มีการลงทุนสูงจึงมีการหันเหหนทางใหม่ยอมขายหุ้นเครือข่ายชินคอร์ปให้ต่างชาติ เพื่อระดมทุนมาสู่ “ธุรกิจพลังงาน” ซึ่งก็ตามมาด้วยเรื่องอื้อฉาว “ไม่เสียภาษีสักบาท” เมื่อต้นปี 2549 ไงละ
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ ทักษิณ ยังมีอำนาจโดยตรงในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็มีการแปรรูปรัฐวิสากิจ ขายหุ้น ปตท. ฮุบโรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ รวมทั้งความพยายามในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่โชคยังดีที่ทำไม่สำเร็จ
นี่ว่ากันเฉพาะการแปรรูปธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน ที่ว่ากันว่ามีกำไรมหาศาล ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องความไม่ชอบมาพากล กรณีการนำรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรเข้าตลาดหุ้นอีกหลายแห่ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องแหล่งพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา และพม่า ที่ก่อนหน้านี้มักมีข่าวเรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเจรจาจนมีความคืบหน้าหลายครั้ง โดยเฉพาะกับประเทศกัมพูชาที่ ทักษิณ ชินวัตร มีความสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาก่อน เพราะหากจำกันได้ในกรณีของ “นายพลสินสอง” ที่ถูกจับกุมหลังจากก่อรัฐประหารโค่นล้ม ฮุนเซน ไม่สำเร็จเมื่อปี 2532 มีการระบุกันว่าคนที่ร่วมมีเบื้องหลังในการว่าจ้างก่อการคราวนั้นก็คือ ทักษิณ นั่นเอง รวมไปถึงเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา โดยเหตุการณ์คราวนั้นมีบริษัท ชินวัตร เทเลคอมฯ โดนเผาไปด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่าทั้งคู่จะหันมาจูบปากญาติดีกันได้
ที่ผ่านมาแม้ว่า ทักษิณ จะพ้นจากอำนาจโดยตรงแล้ว แต่หลายคนยังเชื่อว่าที่ผ่านมาเขายังชักใยรัฐบาล “หุ่นเชิด” ของเขาต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุครัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาล “น้องเขย” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาจนถึงรัฐบาลน้องสาวของตัวเอง อย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ถือว่า “ถูกครอบงำ” อย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาในการเดินทางเยือนต่างประเทศทุกครั้งก็มักมี ทักษิณ ชินวัตร เป็นเงาซ่อนอยู่ข้างหลังตลอดเวลา และแน่นอนว่าหนีไม่ผลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทุกครั้ง
แต่คราวนี้ ในการเดินทางไปเยือนกัมพูชาตั้งแต่วานนี้ (2 เมษายน) เพื่อไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมันก็มีเรื่องอีกจนได้ เนื่องจากมีการกีดกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวสาวจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 ร่วมเดินทางไปทำข่าวด้วย เนื่องจากก่อนหน้านั้นเธอได้ “บังอาจ” สอบถามและตั้งข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อันเนื่องจากมีวาระในการเจรจาเรื่องเขต “พื้นที่ทับซ้อน” ในอ่าวไทย ซึ่งก็คือเรื่องแหล่งพลังงานนั่นแหละ พูดให้ตรงเข้าไปอีกก็คือ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของ ทักษิณ ที่เป็นพี่ชายหรือไม่ ซึ่งผู้สื่อข่าวสาวคนดังกล่าวได้ “หาเรื่อง” สอบถามเอากับ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ผลก็คือถูกห้ามไปทำข่าวอย่างที่เห็น
แม้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นสามารถมองได้หลายทาง อย่างแรกเป็นการป้องกันไม่ให้ถามซอกแซก เพราะนายกฯไม่อาจ “ตอบคำถามยากๆ” ได้ทัน รวมทั้งเป็นคำถามที่จี้ใจดำเป็นคำถามตรงไปตรงมา ไม่ได้เป็นคำถามเอาใจแบบซื่อบื้อเหมือนสื่อบางคน และที่ผ่านมาสังคมเริ่มรับรู้กันไปทั่วแล้วว่า นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ มักจะมีปัญหาในเรื่องที่เป็นทางการและสลับซับซ้อน หลายครั้งจึงมักจะได้เห็นการ “อ่านโพย” แบบท่องจำจนเป็นที่ขบขันกันทั้งในและต่างประเทศ
อาจเป็นเพราะปัญหาอย่างหลังก็อาจเป็นได้ที่ทำให้ทีมงานคนใกล้ตัว ที่ดูแลทางด้านการ “สร้างภาพ” ทางการตลาด อย่าง เช่น สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ในฐานะโฆษกส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแก้ตัว ยกเหตุผลต่างๆ นานาว่าทำไมผู้สื่อข่าวสาวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 คนนั้นถึงเดินทางไปทำข่าวที่กัมพูชาไม่ได้
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสาเหตุการกีดกันผู้สื่อข่าวบางคนไม่ให้ร่วมไปทำข่าวที่กัมพูชามาจากเรื่องก็ตาม แต่จากการเปิดเผยออกมาว่าในการเดินทางไปคราวนี้มีวาระการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย คือ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาซึ่งเป็นการเผยวาระการเจรจาออกมาจากเอกสารฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั่นเอง และไม่ต้องแปลกใจที่พื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงานเป็นหลัก อีกทั้งต้องเกี่ยวข้องกับ ทักษิณ ชินวัตร อย่างแน่นอน
ขณะที่เรื่องเขตแดนอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ด้านปราสาทพระวิหาร นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ก็พูดราวกับท่องจำมาว่าเป็นเรื่องศาลโลก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากเราไปยอมรับกลไกที่ถูกกำหนดโดยต่างชาติ ทั้งที่อยู่ในอธิปไตยของไทย
ดังนั้นการเดินทางไปกัมพูชาเพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซียน แต่ในรายละเอียดเบื้องลึกยังคงคาบเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนวันยังค่ำ ลักษณะไปต่างจากการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีไป “ประทับตรา” เอาไว้ล่วงหน้า ขณะที่พี่ชายค่อยไปเก็บรายละเอียดในภายหลัง!!