เอเอฟพี - ผู้นำชาติอาเซียนร่วมหารือกันวันนี้ (3 เม.ย.) ในการประชุมสุดยอดผู้นำประจำปี ที่คาดว่าสาระสำคัญจะหารือในเรื่องการปฏิรูปครั้งประวัติศาสตร์ของพม่า แผนการปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือ และข้อพิพาททางทะเลกับจีน
ผู้นำ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประชุมในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาเป็นเวลา 2 วัน หลังการเลือกตั้งซ่อมในพม่าที่นางอองซานซูจี ผู้นำสนับสนุนประชาธิปไตยชนะที่นั่งในรัฐสภาได้เป็นครั้งแรก
ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากกัมพูชาที่เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมอาเซียน ได้ประกาศให้การเลือกตั้งของพม่าเมื่อวันอาทิตย์เป็นการเลือกตั้งอย่างเสรี และยุติธรรม และเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่า
รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนชื่นชมการเลือกตั้งที่ดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ระหว่างการหารือในกรุงพนมเปญเมื่อวันจันทร์ (2 เม.ย.) ก่อนที่ผู้นำชาติอาเซียนจะรับรองในการสรุปผลการประชุมในวันพุธ (4 เม.ย.) นี้
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้พม่ากลับเข้าสู่ประชาคมโลกอีกครั้ง โดยอ้างถึงความเป็นไปได้ที่พม่าจะได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
การละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่า และการกดขี่ต่อผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองมักขัดขวางการรวมตัวของอาเซียนในอดีต แต่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่าที่นำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคน ผ่อนคลายระเบียบควบคุมสื่อ และต้อนรับฝ่ายค้านกลับเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก
ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งก่อนเมื่อเดือน พ.ย. 2554 พม่าได้รับรางวัลสำหรับความพยายามดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศ ด้วยสิทธิการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2557
ด้านแผนการปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือ ที่รัฐบาลเกาหลีเหนือระบุว่าเป็นการปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร แต่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกล่าวว่า เป็นการอำพรางแผนการทดสอบยิงขีปนาวุธ คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมด้วย
นายอัลแบร์ เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหารือเป็นเสียงเดียวกันต่อต้านแผนการปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือ และฟิลิปปินส์ที่อยู่ใต้วิถียิงของจรวดได้ยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการต่อผู้แทนเกาหลีเหนือที่สหประชาชาติ ในจีน และอาเซียน
นักการทูตรายหนึ่งกล่าวว่า ความตึงเครียดในภูมิภาคกับจีนเกี่ยวกับข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำหรับผู้นำอาเซียน ซึ่งจีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลกับชาติสมาชิกในอาเซียน คือ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เนื่องด้วยทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน และก๊าซอีกครึ่งหนึ่ง และเชื่อกันว่ามีน้ำมันปริมาณมากอยู่ใต้น่านน้ำแห่งนี้