xs
xsm
sm
md
lg

ค่าบาทอ่อน ทำไมใครๆ ก็ไม่ฟัง “โต้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลง 1 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ จะมีผลต่อการการเปลียนแปลงราคาน้ำมันลิตรละ 50-60 สตางค์ ดังนั้น หากค่าเงินบาทอ่อนตัวลงไปจากปัจจุบัน 2-3 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ คือจาก 30 บาทกว่าๆ ต่อ 1 ดอลลาร์ โดยประมาณ เป็น 32-33 บาท ตามความต้องการของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนไทยจะต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นอีกลิตรละ 1-2 บาท โดยไม่รวมราคาที่จะสูงขึ้นตามตลาดโลก และต้องจ่ายให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

วัตถุดิบและสินค้าอื่นๆ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศก็จะต้อแพงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะต้องจ่ายเป็นเงินบาทมากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนผู้ที่จะได้ประโยชน์คือผู้ส่งออกนั้น ในความเป็นจริง ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราแทบจะไมได้ยินเสียงร้องของผู้ส่งออกว่าได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับ 5-6 ปีก่อน ตอนที่ค่าเงินบาทเริ่มแข็งตัวขึ้นจากดอลลาร์ละ 35 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 32-33 บาท ตอนนั้นภาคธุรกิจต่างเรียกร้องให้รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะมิฉะนั้นสินค้าส่งออกของไทยจะแข่งขันไม่ได้ และเศรษฐกิจของไทยจะพังพินาศด้วยน้ำมือของแบงก์ชาติ

จากวันนั้นถึงวันนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตด้วยดี ภาคการส่งออกขยายตัวสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยกเว้นปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ที่ทำให้การส่งออกติดลบ ทั้งๆ ที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปจนถึง 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แสดงว่า ผู้ส่งออกของไทยเองก็ปรับตัวจัดการกับปัญหาความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี โดยไม่ต้องให้รัฐเข้ามาอุ้ม

ที่สำคัญคือ เงินของชาติอื่นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้วก็แข็งขึ้นด้วยเช่นกัน ประเทศไทยจึงไมได้เสียเปรียบในการแข่งขันเพราะบาทแข็งแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีใครฟังนายกิตติรัตน์ที่ประกาศว่าต้องให้ค่าเงินบาทอ่อน ถึงแม้นายกิตติรัตน์จะแนะนำตัวว่าเขาไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรีธรรมดา แต่เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเศรษฐกิจทั้งหมด ดังนั้น ทุกคนจึงต้องฟังเขา แต่ก็ไม่มีใครฟัง เพราะไม่มีใครเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนแล้วจะเกิดประโยชน์ตรงไหน มีแต่ผลกระทบด้านเงินเฟ้อ และของแพง ที่จะตกอยู่กับประชาชน

แม้แต่ตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน ยังบอกว่านายกิตติรัตน์ไม่ควรพูด หรือแสดงท่าทีที่เป็นการแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะเรื่องค่าเงินเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย การส่งสัญญาณแบบนี้จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไร เพราะรู้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนลง

น่าสนใจว่า ทำไมนายกิตติรัตน์ต้องการให้บาทอ่อน อะไรเป็นแรงจูใจให้คนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล้าบอกให้สังคมฟัง และเชื่อในสิ่งที่เขาพูด ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาพูดนั้นผิดทั้งหลักการบริหารเศรษฐกิจ และผิดทั้งหลักการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเป็นการก้าวก่าย แทรกแซงการบริหารนโยบายการเงินอย่างเปิดเผย

สมมติว่า “แม้ว” เตรียมเงิน 12,000 ล้านบาทไว้เสียภาษี แต่กรมสรรพากรบอกว่าไม่ต้องเสีย เพราะแม้ว เป็นคนเดียวในโลกนี้ที่สามารถทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามไว้ได้ แม้วจะทำอย่างไรกับเงินที่เตรียมไว้เสียภาษีตามหน้าที่พลเมืองดี

ถ้าแม้วคิดต่างจากคนอื่นๆ คือ เชื่อว่าคำพูดของโต้งจะเป็นจริง ค่าเงินบาทที่เหมาะสมคือ 32-33 บาท เพราะคนพูดเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ แม้วก็จะเอาเงิน 12,000 ล้านบาท ไปซื้อดอลลาร์ในราคา 30 บาทต่อ 1 เหรียญ ได้เงินมา 400 ล้านดอลลาร์

อีก 3 เดือนต่อมา หลังจากแบงก์ชาติเข้าแทรกแซงเงินบาทตามความต้องการของรองนายกรัฐมนตรี เงินบาทอ่อนค่าลงมาเหลือ 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แม้วขายดอลลาร์ที่ถืออยู่จะได้กำไรทันทีถึง 800 ล้านบาท

เรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องสมมติ บนพื้นฐานของการคาดเดาว่าทำไมนายกิตติรัตน์จึงกล้าสั่งอย่างเปิดเผยให้แบงก์ชาติทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เพราะเมื่อพิจารณาดูเหตุผลอื่นๆ ที่น่าจะเป็นแล้ว ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็น ประโยชน์ที่จะได้จากค่าเงินบาทอ่อน ไม่คุ้มกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น

มีแต่นักเก็งกำไรค่าเงินเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการส่งสัญญาณของนายกิตติรัตน์ แต่แม้แต่นักเก็งกำไรก็ไม่เชื่อ และไม่ฟังในสิ่งที่นายกิตติรัตน์พูด
กำลังโหลดความคิดเห็น