ในเวลาห่างกันไม่ถึง 1 สัปดาห์ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงเจตนาชัดเจนว่า อยากให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนตัวลงกว่านี้ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เขาให้สัมภาษณ์ที่ฮ่องกงว่า ค่าเงินบาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 32-34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ (อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 30.97 บาท) และแนะนำว่าประเทศไทยควรจะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากที่เกินดุลทั้งดุลการค้า ดุลการชำระเงิน และดุลบัญชีเดินสะพัด ก็ควรจะขาดดุลบ้างเพื่อสร้างสมดุลใหม่
วานนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจของชาติ พูกอีกครั้งหนึ่งในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่า อยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากกว่านี้เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คราวนี้เขาพุ่งเป้าไปที่แบงก์ชาติ ซึ่งเป็นผุ้ดูแลนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยกล่าวว่า เชื่อว่าแบงก์ชาติคงจะมีวิธีทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงกว่านี้ และให้รู้จักการขาดดุลเสียบ้าง
หวังว่า นักลงทุนต่างชาติคงจะเหมือนกับคนไทยที่ชินกับคนในรัฐบาลนี้ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงรัฐมนตรีว่าชอบสับขาหลอก จริงคือเท็จ เท็จคือจริง และคงแยกออกว่า นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เป็นความรับผิดชอบของแบงก์ชาติ ไม่ใช่นักการเมืองที่คุมกระทรวงการคลัง เพราะหากพวกเขายึดถือเอาคำพูดของนายกิตติรัตน์อย่างเป็นจริงเป็นจังแล้ว นี่ก็คือการส่งสัญญาณให้นักเก็งกำไร เตรียม “โจมตีค่าเงินบาท” ได้แล้ว
เพราะค่าเงินบาทที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 32-33 บาท ที่นายกิตติรัตน์เชื่อว่าเหมาะสมนั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงของไทย เป็นอัตราเลกเปลี่ยนที่ฝืนกลไกตลาด เป็น “สมดุลเทียม” มิใช่ “สมดุลใหม่” ที่นายกิตติรัตน์อ้างถึงของเทียมนั้น อยู่ได้ไม่นาน ในไม่ช้าของจริงก็จะแสดงตัวออกมา ถ้านักลงทุนต่างชาติรู้ว่าค่าเงินบาทที่อ่อ่นตัวลงมานั้นเกิดจากการแทรกแซงจัดการของแบงก์ชาติ ตามความต้องการขอรัฐบาล ไม่ได้สะท้อนสมดุลของเศรษฐกิจโดยรวม พวกเขาจะเชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะฝืนสภาพความเป็นจริงในตลาดไปได้ไม่นาน ในที่สุดแล้วจะต้องมีค่าแข็งขึ้น จาก 32-33 บาท เพิ่มค่าเป็น 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์
นักลงทุนก็จะแห่กันขนเงินดอลลาร์เข้ามาในประเทศไทย เพื่อเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่พวกเขาเชื่อว่า จะต้องแข็งขึ้นแน่ในไม่ช้า ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องอัดฉีดเงินบาทเข้ามาในระบบ เพื่อรับซื้อดอลลลาร์จนถึงจุดหนึ่งสมดุลแท้ที่ไม่ใช่สมดุลเทียมก็จะเกิดขึ้น คือ เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนแห่กันมาซื้อดอลลาร์กลับคืนไปในราคาที่ถูกกว่าตอนเอาเข้ามาขาย ถึง 1-2 บาทต่อดอลลาร์
ปี 2540 ประเทศไทยถูกนักเก็งกำไรค่าเงิน โจมตีค่าเงินบาท จนประเทศแทบจะล้มละลายมาแล้ว เพราะรัฐบาลและแบงก์ชาติในขณะนั้น และก่อนหน้านั้น ดำเนินนโยบานการเงินที่ไม่มีใครทำกันในโลกนี้ คือ ตรึงค่าเงินบาทไว้คงที่ แต่ปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี และคงอัตราดอกเบี้ยในประเทศในระดับสูงกว่า ต่างประเทศมาก นักเก็งกำไรเชื่อว่า ค่าเงินบาทที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลาร์ในตอนนั้น แข็งเกินความเป็นจริงมาก และเชื่อว่าค่าเงินบาทจะต้องลดลง จึงเริมโจมตีค่าเงินบาท โดยการเอาเงินบาทมาซื้อดอลลาร์จากแบงก์ชาติ จนในที่สุดรับไม่ไหว ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท นักเก็งกำไรต่างชาติฟันกำไรจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงได้อย่างมหาศาล ส่วนประเทศไทยแทบจะล้มละลาย ต้องบากหน้าเอาอธิปไตยทางเศรษฐกิจไปแลกเงินกู้ของไอเอ็มเอฟ
หากค่าเงินบาทที่เหมาะสมในความเชื่อของนายกิตติรัตน์ ขึ้นไปที่ 32-33 บาทจริง การโจมตีค่าเงินก็อาจจะเกิดขึ้น แต่เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ เก็งว่าค่าเงินบาทจะต้องแข็งขึ้น นักเก็งกำไรจะเอาดอลลาร์มาขายให้แบงก์ชาติในราคาแพงๆ เพื่อรอซื้อกลับไปในราคาถูกว่าตอนที่ขาย
ไม่รู้ว่าเจตนาที่แท้จริงของนายกิตติรัตน์ ที่เหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณว่าค่าเงินบาทกำลังจะอ่อนตัวลง คืออะไร หรือสักแต่ว่าพูดไปเท่านั้นเอง เพื่อเป็นตัวอย่างของการ “คิดนอกกรอบ” โดยไม่สนใจว่าคำพูดของคนที่อยู่ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น จะถูกตลาดการเงินตีความไปว่าอย่างไร และไม่รู้ว่าจะมีใครจ้องหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนเมื่อ 15 ปีที่แล้วหรือเปล่า