xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาเห็นชอบข้อตกลง 11 ฉ.ฝ่ายค้าน-ส.ว.งงเว้นภาษีซิมบับเว แฉส่อฮั้วประโยชน์ รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบกรอบเจรจาข้อตกลง และอนุสัญญา 11 ฉบับ ด้านฝ่ายค้าน-ส.ว.กังขารัฐบาลเร่งรัดทำข้อตกลงงดเว้นเก็บภาษีซ้อน ซิมบับเว “กษิต” ซัดพาชาติพัวพันประเทศที่ถูกประชาคมคว่ำบาตร ด้าน “เกียรติ” หวั่นกระทบนักธุรกิจไทย ฉะส่อทำตามความสัมพันธ์ส่วนตัว รมต.บางคน ขณะที่ ส.ว.อัดรัฐบาลเร่งรีบเสนอกรอบข้อตกลงกลวง พิมพ์ผิดแม้แต่คำว่า “กรมสรรพากร” แนะรัฐบาลถอนร่างกลับ หวั่นขัด รธน.ม.190

วันนี้ (27 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น.การประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างข้อตกลงในรูปแบบหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยตามข้อ 28 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) 1994 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อผูกพันในเนื้อสัตว์ปีกแปรรูปที่มีอยู่ในข้อผูกพันของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงแกตต์ 1994 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

จากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบการเจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และความตกลงและอนุสัญญา จำนวน 11 ฉบับ ประกอบด้วย 1.กรอบการเจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน 2.ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งซิมบับเว และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 3.ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งรัฐปาปัวนิวกินี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 4.อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรโมร็อกโก เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 5.ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐสุลต่านบรูไนดารุสซาลามและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

6.อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐทาจิกิสถาน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 7.อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเคนยา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 8.อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งไอร์แลนด์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 9.อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 10.อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 11.อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

ทั้งนี้ มีอนุสัญญาที่สมาชิกให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งซิมบับเวและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ โดย นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าในความตกลงเพื่อการเว้นเก็บภาษีซ้อนที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ หลายประเทศ เช่น ประเทศซิมบับเว ประเทศเอสโตเนีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีธุรกิจด้านการท่องเที่ยว จึงอยากถามไปยังรัฐบาลว่าประเทศไทยเราไปลงทุนธุรกิจอะไรในประเทศเหล่านี้ ถึงต้องมีการเว้นการเก็บภาษีซ้อน

ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วยที่จะมีการทำข้อตกลงเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อนกับบางประเทศ เช่น ประเทศซิมบับเว อาทิ นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วงต่อการทำข้อตกลงกับประเทศซิมบับเว ที่กำลังถูกประชาคมโลกคว่ำบาตรในเรื่องเกี่ยวกับการเมือง และสิทธิมนุษยชน ดังนั้นขอให้กระทรวงการคลังปรึกษากับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิดว่าจะรีบเร่งหรือจะชะลอเอาไว้ก่อน เพราะไม่อยากให้ประเทศไทยไปพัวพันกับประเทศซิมบับเว ที่เขามองว่าเหมือนเป็นประเทศผู้ร้ายในสายตาของประชาคมโลกในขณะนี้

ขณะที่ นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า จะเห็นว่าอนุสัญญาดังกล่าวที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศเล็กๆ ซึ่งจากการที่ตนเคยเป็นประธานผู้แทนการค้าไทยได้มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าประเทศที่รัฐบาลเสนอเข้ามาแทบจะไม่มีผู้ประกอบการของคนไทยไปลงทุนทำการค้าเลย จึงอยากรู้ว่ารัฐบาลได้มีการศึกษาข้อมูลรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่ นอกจากนี้ รัฐบาลทราบถึงสถานะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซิมบับเวและประเทศสหประชาชาติว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือไม่ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลาง หากไปมีความสัมพันธ์กับประเทศที่เขามองว่าน่ารังเกียจในสายตาของประเทศมหาอำนาจ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เนื่องจากในรายชื่อที่รัฐบาลเสนอมาบางประเทศถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รัฐบาลได้มีการประเมินหรือไม่

“การเสนอรายชื่อ 11 ประเทศของรัฐบาลในครั้งนี้ อยากตั้งคำถามว่ามาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของรัฐมนตรีบางคน และมีผลประโยชน์บางอย่างในการไปลงทุนสัมปทาน จึงเป็นเหตุต้องการให้มีการลงนามใช่หรือไม่ ซึ่งในทางกลับกันการไปดำเนินการกับประเทศนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีปัญหากับหลายประเทศ แม้เขาจะไม่พูดตรงๆ ว่าเขารังเกียจ แต่เวลาที่เราไปประมูลโครงการก็จะตกทุกที ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยในอนาคตอย่างแน่นอน” นายเกียรติ กล่าว

นายเกียรติ กล่าวต่อว่า มีหลายประเทศที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการทำข้อตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อน แต่กลับไม่อยู่ในรายชื่อที่รัฐบาลเสนอเข้ามาในครั้งนี้ ทั้งที่เขารอมาเป็นปีแล้ว ทั้งนี้ การไม่มีข้อตกลงดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการของคนไทยที่ไปลงทุนทำธุรกิจ เมื่อสามารถประกอบธุรกิจจนได้กำไรแล้ว แต่ไม่สามารถส่งเงินกลับมายังประเทศไทยได้ เพราะจะถูกเก็บภาษี ทำไมรัฐบาลจึงไม่เร่งแก้ไข เนื่องจากมีเงินได้จากผู้ประกอบการของไทยในต่างประเทศไปค้างอยู่กว่าหมื่นล้านบาท แต่กลับมาเสนอให้ลงนามกับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศซิมบับเว ดังนั้น อยากถามว่ารัฐบาลมีสมมุติฐานอะไรในการเลือกที่จะลงนามกับ 11 ประเทศที่เสนอเข้ามา แม้ในหลักการของข้อตกลงนี้ตนจะเห็นด้วย แต่การเลือกประเทศซิมบับเวอยากให้รัฐบาลได้มีการถอนออกไปเสียก่อน

นอกจากนี้ มี ส.ว.หลายคนได้อภิปรายไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่ควรจะเร่งรีบให้ความเห็นกับกรอบข้อตกลงที่รัฐบาลเสนอมา เพราะขาดความรอบรอบ โดยเพราะกรอบการเจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ไม่มีสาระแนบมาด้วย และควรให้รัฐบาลถอนออกไปก่อน มิเช่นนั้นจะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อนุ5 และยังไม่มีความรอบคอบโดยเนื้อหาในเอกสารยังมีบางส่วนเขียนผิดแม้แต่คำว่า “กรมสรรพากร” แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจริง

ด้าน นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ชี้แจงว่า กรอบการเจรจาที่นำมาเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภานั้น เป็นการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบในการเจรจาครั้งต่อไปที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เรื่องการตรวจสอบกับการทำอนุสัญญาข้อตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศซิมบับเวว่าได้ทำกับใครบ้างนั้น เราได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ประเทศซิมบับเวได้มีการทำข้อตกลงกับหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร แคนาดา สวีเดน นอร์เวย์ และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม การเสนอ 11 ประเทศ เช่น ประเทศบรูไน ที่มีการเจรจาภาษีปิโตรเลียม ส่วนประเทศอื่นไม่มีนั้น ยืนยันว่าถ้าในอนาคตประเทศคู่เจรจามีภาษีใหม่ ก็แจ้งมาให้เราทราบ และจะมีการปรับปรุงทันที

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐบาลถึงต้องเสนอประเทศเหล่านี้เข้ามานั้น ยืนยันว่า การจะเจรจากับประเทศใดขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั้นๆ ซึ่งกรอบการเจรจาได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ และได้มีการจัดทำกรอบแล้ว โดยหลังจากมีการเจรจาเสร็จสิ้นแล้วก็จะมีการนำข้อตกลงกลับมาเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้ง ทั้งนี้ ทางรัฐบาลจะขอรับข้อเสนอต่างๆ มาพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประธานที่ประชุมได้ให้สมาชิกลงมติเห็นชอบกรอบการเจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ขณะที่ฝ่ายค้านพยายามทักท้วงว่าไม่สามารถให้ความเห็นชอบในส่วนของกรอบข้อตกลงดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีสาระแนบท้าย ซึ่งหากดึงดันต่อไปเท่ากับรัฐบาลทำขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา190 ทันที แต่สุดท้ายที่ประชุมได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง380 ไม่เห็นด้วย 25 งดออกเสียง 102 ไม่ลงคะแนน 7 นอกจากนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่ยังมีมติเห็นชอบกับข้อตกลงทั่ง 10 ฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น