xs
xsm
sm
md
lg

ไทยปล่อยเขมรสร้างถนนสะพานคอนกรีต จ่อฮุบพื้นที่ 4.6 ตร.กม.อีกแล้ว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยจุดเขมรเปิดฉากยิงถล่มไทยหน้าบันไดทางขึ้นปราสาทฯ ก่อนตีหน้าเศร้าขอเงินสนับสนุนยูเนสโกซ่อมแซมตลาดเพลิงไหม้ ล่าสุดสร้างบ้าน ตร.-ทหาร ตั้งบังเกอร์ สะพานและถนนคอนกรีตอย่างดี แถมด้วยศาลาเก็บเงินแถวประตูเหล็กข้ามห้วยตานี ทับรอยจุดประจำการของเจ้าหน้าที่ไทย ขนชาวบ้านหลายร้อยขึ้นไปยึดครองพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ซึ่งเป็นแผ่นดินไทยเบ็ดเสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 มี.ค. เวลา 21.00 น. เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ยกจากรายงานของสถานตำรวจภูธรบึงมะลูในฐานะพื้นที่รับผิดชอบ ระบุว่าภายหลังที่ไทยและกัมพูชาได้มีการเปิดให้มีการขึ้นเที่ยวชมปราสาทพระวิหารทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการเปิด-ปิดเป็นห้วงๆ ในหลายช่วงเวลา การท่องเที่ยวในพื้นที่ทำให้ทั้งชาวไทยและกัมพูชาต่างขึ้นไปตั้งร้านเพื่อค้าขายสินค้าบริเวณปราสาทฯ โดยคนไทยไปค้าขายในลักษณะเช้าไปเย็นกลับ และส่วนหนึ่งเป็นทหารที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ จนเมื่อ 1 สิงหาคม 2541 ได้มีการเปิดให้ขึ้นเที่ยวชมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการย้ายตลาดขายสินค้าที่เดิมวางขายระหว่างศาลาจตุรมุขหลังที่ 1 กับปราสาทหลังที่ 1 ลงมาสร้างเป็นเพิงบริเวณหน้าบันไดทางขึ้นปราสาทฯ ไม่ไกลกับห้วยตานี จนเป็นที่มาของ “ตลาดกัมพูชา” ที่รู้จักกันในภายหลัง บริเวณดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของพื้นที่ 4 ตร.กม. ที่เรียกขานกันปัจจุบัน

การเปิดขึ้นเที่ยวชมปราสาทฯ และการขยายตัวของตลาดดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาเส้นทางจากบ้านโกมุยขึ้นมายังปราสาทฯ การตั้งบ้านเรือนชาวกัมพูชาที่ขึ้นมาทำมาค้าขาย และการสร้างวัดแก้วสิกขาคีรีสาวาระในช่วง พ.ศ. 2542 สถานที่ดังกล่าวเหล่านี้ล้วนอยู่แผ่นดินภายใต้อธิปไตยของไทย ซึ่งสองปีให้หลังได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU43 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

15 ธันวาคม 2554 ฝ่ายทหารไทยได้สั่งปิด ห้ามไม่ให้มีการเที่ยวชมปราสาทฯ เนื่องจากปัญหาน้ำเสียและการขยายตัวของตลาด-ชุมชนกัมพูชา เพื่อหวังกดดันให้มีการย้ายออกไปแต่ไม่เป็นผล กระทั่งเมื่อ 31 พฤษภาคม 2546 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทำความตกลงกับรัฐบาลฮุน เซน และได้มีพิธีเปิดเขาพระวิหารและช่องตาเฒ่าอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมมือพัฒนาเขาพระวิหารของสองประเทศ และเปิด “จุดผ่อนปรนปราสาทพระวิหาร” ที่บริเวณห้วยตานี (ประตูเหล็กข้ามห้วยตานี) เป็นจุดผ่านแดนเฉพาะที่ไม่มีในสารบบของกระทรวงมหาดไทย

นับตั้งแต่ พฤศจิกายน 2547 ถึงพฤษภาคม 2548 ได้มีการประท้วงกิจกรรมการก่อสร้างของกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง และพยายามให้กัมพูชารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากบริเวณพื้นที่ตลาดหน้าบันไดทางขึ้นปราสาทฯ จนนำไปสู่การเพิ่มเติมกำลังของสองฝ่าย อพยพครอบครัวทหารกัมพูชาออกจากพื้นที่ 165 ครอบครัว และปิดจุดผ่อนปรนที่ห้วยตานี กระทั่ง 19 พฤษภาคม 2548 การเจรจาระหว่างผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีกับผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชา ได้ข้อตกลงที่จะยกประเด็นปัญหาสิ่งปลูกสร้างให้เป็นเรื่องของฝ่ายบ้านเมือง ให้คงความสัมพันธ์ทางทหารเป็นปกติ และเปิดจุดผ่อนปรนในวันถัดมา



(ซ้าย) แผนที่เขาพระวิหารแสดงที่ตั้งส่วนต่างๆ เช่น ตลาด ประตูเหล็กข้ามห้วยตานี (ขวา) เพลิงไหม้ตลาดเมื่อ 3 เมษายน 2552 หลังทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงโจมตีทหารไทย

หลังความตึงเครียดจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และไทยนำกำลังเข้าประจำการที่วัดแก้วฯ ในเดือนกรกฎาคม 2551 ต่อมาเมื่อ 3 เมษายน 2552 ทหารกัมพูชาตั้งแนวจากบริเวณตลาดไปจนถึงช่องบันไดหัก เปิดฉากโจมตีทหารไทย ผลจากการยิงปะทะกันทำให้ชุมชนบ้านเรือน ร้านค้าและคลังแสงของทหารกัมพูชาบริเวณหน้าบันไดทางขึ้นปราสาทฯ ถูกเพลิงไหม้วอดกว่าร้อยหลัง ต่อมากัมพูชาได้ร้องขอไปยังยูเนสโกให้สนับสนุนเงินช่วยเหลือซ่อมแซมตลาดดังกล่าว

รายงานล่าสุดจากการลงพื้นที่ของแหล่งข่าว เมื่อ 25 มีนาคม 2555 พบว่า บริเวณตลาดได้มีสิ่งปลูกสร้างใหม่จำนวนมาก เช่น บ้านของทหารและชาวกัมพูชา ศาลาพัก ป้อมเก็บค่าธรรมเนียม โรงเรือนของทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่องค์การพระวิหารและยูเนสโก มีการสร้างสะพานไม้และบันไดคอนกรีตมั่นคง พร้อมถนนเทคอนกรีตอย่างดีบ่อเเก็บน้ำคอนกรีต ถังบรรจุน้ำขนาดใหญ่และอื่นๆ ภาพที่ปรากฎในลำดับถัดไปทั้งหมดถ่ายโดยแหล่งข่าวฟิฟทีนมูฟ เมื่อ 25 มีนาคม 2555



อาคารปฏิบัติงานขององค์การพระวิหารและยูเนสโกจากเงินสนับสนุนของยูเนสโกหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้เดือนเมษายน 2552 ตั้งอยู่บริเวณก่อนถึงตลาด

แหล่งข่าวระบุว่า หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ตลาดเมื่อ 3 เมษายน 2552 กัมพูชาได้รับเงินสนับสนุนจากยูเนสโก นำมาสร้างโรงเรือนมุงหญ้าขนาดใหญ่ จำนวน 2-3 หลัง บริเวณก่อนถึงตลาด ถัดจากห้วยสายเล็กที่อยู่เลยจุดตรวจเดิมของไทยเล็กน้อย โดยอ้างว่าเป็นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีการสร้างบังเกอร์รอบพื้นที่ พร้อมบ้านเรือนเจ้าหน้าที่กัมพูชา



ศาลาและป้อมเก็บเงินที่กัมพูชาเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ 2552 บริเวณนี้เคยเป็นจุดประจำการของเจ้าหน้าที่ไทย ปัจจุบันมีการเทพื้นคอนกรีตอย่างดีและมีทหารกัมพูชาประจำการ เลยสะพานไม้และบันไดคอนกรีตขึ้นไปเป็นอาคารองค์การพระวิหารและตลาด



บริเวนใกล้กับที่ทำการองค์การพระวิหาร จะเห็นมีบ้านเรือนใหญ่น้อยอยู่จำนวนมาก

ต่อมาได้มีการสร้างป้อมเก็บเงินขนาดเล็กมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ใกล้กับประตูเหล็กข้ามห้วยตานี ศาลาพักมุงด้วยสังกะสีสีเขียว ซึ่งบริเวณนี้เดิมเป็นจุดประจำการของเจ้าหน้าที่ไทย (กัมพูชาอยู่เลยจากสะพานไม้ในภาพที่ 5, 7 และ 9 ขึ้นไป) ปัจจุบันบริเวณนี้ถูกทหารกัมพูชาควบคุมเบ็ดเสร็จ มีทหารกัมพูชาเข้าเวร 2-3 คน ที่ศาลาพัก ใกล้กันมีบังเกอร์และบ้านพักหลังเล็ก รอบบริเวณถูกเทด้วยพื้นคอนกรีตมั่นคง แหล่งข่าวระบุด้วยว่ารอบบริเวณดังกล่าวไปจนถึงตลาดมีบ้านเรือนชาวกัมพูชาหลังน้อยใหญ่ ทั้งที่เป็นเพิงและบ้านมั่นคง ร่วม 30 หลังคาเรือน มีชาวกัมพูชาทั้งชาย หญิง และเด็ก ประมาณ 200-300 คน (ไม่รวมพื้นที่รอบวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ) มีเสียงกิจกรรมชุมชนอื้ออึงที่แสดงว่ามีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ฟังได้ชัดเจนจากบริเวณพลาญหินใกล้กับประตูห้วยตานี เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายไทยระบุว่า แม้สัดส่วนกำลังไทยต่อเขมรปัจจุบันอยู่ที่ 1 : 1 แต่ไม่แน่ใจว่าด้วยจำนวนชาวกัมพูชาที่บริเวณตลาด เมื่อจับปืนขึ้นมาสัดส่วนจะมากกว่าเท่าใด เนื่องจากส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นครอบครัวทหาร



ประตูข้ามห้วยตานีที่ถูกเขมรปิดตายตั้งแต่เหตุการณ์ 15 กรกฎาคม 2551 ถัดไปจะเห็นป้อมเก็บเงิน ทางเดิน พื้นและบันไดคอนกรีต รวมถึงบังเกอร์ของทหารกัมพูชา

นับตั้งแต่การย้ายร้านค้าจากตัวปราสาทฯ ลงมาบริเวณหน้าบันไดทางขึ้น บนแผ่นดิน 4.6 ตร.กม. ของไทย เมื่อ 1 สิงหาคม 2541 เป็นต้นมา กัมพูชาได้ขยายตลาด ชุมชน วัด พร้อมพัฒนาถนนอย่างต่อเนื่องโดยไม่ฟังเสียงประท้วงจากฝ่ายไทย ในหลายโอกาสฝ่ายไทยมีการเสริมกำลังเพื่อจะใช้ปฏิบัติการทางทหารรื้อถอน แต่สุดท้ายเมื่อ “ชักเข้า” ก็มีการ “ชักออก” อยู่เสมอ เหตุการณ์ปะทะเมื่อ 3 เมษายน 2552 กลายเป็นไฟลามในทุ่งหญ้าให้พืชพรรณฟื้นคืนสมบูรณ์ยิ่งกว่าเดิม การรื้อทำลายด้วยเอกสารและช่องทางการทูตจึงให้ผลเป็นสิ่งก่อสร้างมั่นคงอย่างที่เห็น เป็นแผ่นดินไทยที่เขมรยึดครองเบ็ดเสร็จ แม้หลายคนหลายฝ่ายบอกว่าไทยยังไม่เสียดินแดนก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น