“สมศักดิ์” ยอมรับหากสภาฯออก กม.ไร้ความชอบธรรม สังคมก็จะเกิดความขัดแย้ง ด้านสมาชิกบ้านเลขที่ 111 โวยคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุ การรัฐประหารหากทำได้สำเร็จ คณะรัฐประหารจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ผู้มีอำนาจในแผ่นดิน
วันนี้ (20 มี.ค.) คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จัดประชุมเสวนา เรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์ เอื้อประโยชน์รัฐประหารหรือทำลายระบบนิติธรรม” เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นมา มีคณะบุคคลเข้าทำการปฏิวัติรัฐประหาร หรือทำการอื่นใดที่เข้าทำนองเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศตกอยู่อำนาจเผด็จการ และส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
โดย ประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ว่า รัฐสภาเป็นเอกลักษณ์ของประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งใน 3 อำนาจ ก็คือ อำนาจนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมาย ที่ต้องบังคับใช้อย่างมีมาตรฐาน สังคมไทยจึงสงบสุข แต่หากกฎหมายที่ออกมาไร้ความชอบธรรม ขัดต่อประชาธิปไตย และบังคับใช้ไม่ได้มาตรฐาน กฎหมายนั้นก็จะกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งการเสวนาในวันนี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่คณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายได้ดำเนินการ จึงขอให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
ด้าน นายโภคิน พลกุล สมาชิกบ้านเลขที่ 111 อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาที่มีการวินิจฉัย ว่า การรัฐประหารหากทำได้สำเร็จ คณะรัฐประหารจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกกฎหมายได้ทั้งหมด ซึ่ง นายโภคิน มองว่า รัฏฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจในแผ่นดิน และคำวินิจฉัยเหล่านี้เองที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย
นายโภคิน กล่าวต่อว่า เมื่อมีกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค.ก็ถูกกล่าวหาว่าต้องการช่วยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งความจริงการแก้ไขมาตรานี้ จะช่วยผู้ที่ได้รับผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมด ไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว ซึ่งหากยังสนับสนุนการยึดอำนาจ การปกครองก็จะไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง
ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตโฆษกประจำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่ามกลางสังคมที่มีความขัดแย้ง สิ่งจำเป็นที่สุด คือ ผู้รักษากติกาด้วยความเที่ยงธรรม เชื่อถือได้ ซึ่งหากไม่มีผู้รักษากติกาเช่นนี้ สังคมก็จะหาทางยุติความขัดแย้งด้วยวิธีอื่น
ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ เห็นสอดคล้องกับนายโภคิน ที่บอกว่า คำวินิจฉัยที่ให้อำนาจกับคณะรัฐประหาร จะเป็นการส่งเสริมผู้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และหลังการยึดอำนาจปี 2549 จะได้เห็นบทบาทของตุลาการหลายคนว่ามีการสนับสนุนการยึดอำนาจ และหลังการยึดอำนาจแล้วยังเห็นการเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย