xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” จี้เปาประกาศต้านรัฐประหาร-โฆษกศาล ยธ.ปัดตุลาการต้นเหตุปฏิวัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (แฟ้มภาพ)
แก๊งแดงใช้เวทีสภาฯจัดเสวนายำกระบวนการยุติธรรม โฆษกศาลยุติธรรม โดนเชิญด้วย โต้รัฐประหารไม่ได้เกิดจากวิกฤตตุลาการ แต่เป็นวิกฤตการเมืองเรื่องอำนาจ ยันระบบตุลาการเสมอภาคสุด จี้ พวกปฏิรูปเข้าใจปัญหาที่แท้จริง ด้าน “จาตุรนต์” ซัดศาลพิพากษาตามผู้ถืออาวุธ จี้ผู้พิพากษาประกาศไม่เอารัฐประหาร

วันนี้ (20 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการจัดเสวนา เรื่อง รัฏฐาธิปัตย์ เอื้อประโยชน์รัฐประหาร หรือทำลายระบบนิติธรรม จัดโดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิธีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เข้าร่วมเสวนา โดย นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ดูเสมือนว่าสถาบันตุลาการเป็นตัวการก่อให้เกิดรัฐประหาร และอะไรเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการปฏิวัติ ยึดอำนาจรัฐ จริงๆ แล้วตนเห็นว่าไม่ใช่วิกฤตตุลาการ แต่เป็นวิกฤตการเมือง เป็นเรื่องของอำนาจ ซึ่งจะจริงหรือไม่ก็ต้องพิสูจน์โดยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถามว่า ทำไมตุลาการถึงตกเป็นจำเลยในการก่อให้เกิดรัฐประหาร เราต้องเคารพหลักการแบ่งแยกอำนาจในการเป็นประชาธิปไตย

“วันนี้ตุลาการ เข้ามาสู่ระบบการปฏิบัติอย่างจริงจัง มีการตรวจสอบ ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการมีความยุติธรรม และเสมอภาคมากที่สุด เป็นระบบที่ไม่มีบุญคุณความแค้น ระบบตุลาการถูกออกแบบมาด้วยการเคารพเสียงข้างมาก การเลือกผู้พิพากษามาเลือกโดยใช้ระบบของมติเสียงส่วนใหญ่ การเข้าสู่อำนาจรัฐโดยไม่ชอบนั้น ศาลมีหน้าที่ที่จะรักษาระบบของบ้านเมือง และระบบความยุติธรรม ศาลไม่ได้ถือตัวเองมีอำนาจเบ็ตเสร็จ เหนือส่วนอื่น ศาลต้องมีระบบตรวจสอบ การจะปฎิรูประบบศาลขอให้เข้าใจในประเด็นปัญหาที่แท้จริง เพราะเราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลง” นายสิทธิศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า คำว่ารัฏฐาธิปัตย์ คงเน้นไปในเชิงแนวความคิดว่า ใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐ ในการอภิปรายมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความชอบธรรมของการได้มาซึ่งอำนาจ ตนอยากถามว่าความชอบธรรมที่ว่า ได้อำนาจมาด้วยวิธีการใด การรัฐประหาร คือ การใช้กำลังกองทัพเข้ามาข่มขืนใจผู้อื่นด้วยอาวุธ ส่วนความรับผิด คุณรับผิดต่อใคร เมื่อขึ้นมามีอำนาจ และไม่มีใครตรวจสอบคุณได้ สังคมหรือสื่อถูกเซ็นเซอร์หมด ซึ่งความไม่ชอบของการรัฐประหารมาสู่เรื่องรัฏฐาธิปัตย์ เป็นแนวความคิดที่มักใช้ในการสร้างความชอบธรรมในรัฐประหาร ตนเห็นว่า ถ้าไม่พิพากษาเช่นนี้ คงฆ่ากันไม่เลิก เลยต้องพิพากษาให้เกิดความชอบธรรมในการรัฐประหาร สังคมนี้ถือเอาผู้มีกำลังอาวุธเป็นใหญ่ ใครที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง วิธีที่ง่ายและเป็นไปได้ที่สุด คือ การใช้กำลังอาวุธเข้าต่อสู้ ถ้ายึดไม่สำเร็จก็กลายเป็นกบฏ แต่ถ้าไม่สำเร็จและประชาชนไม่ยอม ศาลจะพิพากษาว่าใครคือ รัฏฐาธิปัตย์ การพิพากษาในลักษณะนี้จึงมีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ยอมรับการใช้อาวุธ และไม่ส่งเสริมการปกครองโดยยึดหลักสันติวิธี

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า หากดูจากคำพิพากษาจะเห็นถึงการรับรองการรัฐประหาร และคำสั่งต่างๆ ของคณะปฏิรูป ฉบับที่ 27 และยังเห็นว่า การลงโทษคน ด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นสิ่งที่กระทำได้ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทฝ่ายตุลาการต่อการรัฐประหาร ว่า เป็นอย่างไร การรับรองคำสั่งรัฐประหาร จึงขัดต่อหลักประชาธิปไตย และนิติธรรม เราจะป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีกในอนาคต ตนขอเสนอว่า ประชาชนต้องพร้อมใจไม่เห็นด้วยว่าไม่ต้องการรัฐประหาร และตุลาการต้องมีข้อสรุปใหม่ แต่ถ้าเอาให้ง่ายตนขอเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาของประเทศไทย ต้องจัดประชุมร่วมกันและลงมติว่า “จากนี้ไปการรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบ จะอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตไม่ได้” แต่ถ้าจะให้ดีผู้พิพากษาทั้งหมดควรเห็นชอบและประกาศต่อสาธารณชน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดเสวนาของคณะอนุกรรมการชุดนี้ เชิญแต่วิทยากรที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมาร่วมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนายโภคิน พลกุล, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รวมทั้ง นายอุดม มั่งมีดี อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งก็เคยขึ้นเวทีร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น