“วิทยา” เผยสั่งระงับขายยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีน สารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดแล้วในส่วนของร้านขายปลีก ระบุพบโรงพยาบาลเบิกจ่ายผิดปกติชัดเจน 5 แห่ง ยันฟันทั้งแพ่งและอาญา ส่วนแนวทางป้องกันกำลังปรึกษากฤษฎีกาใช้บัตรประชาชนทำบัญชีซื้อขายได้หรือไม่ เพื่อให้รู้ว่ายาไปอยู่ที่ไหน
นายวิยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม ครม.สัญจร จ.ภูเก็ต ถึงการดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน หลังตรวจสอบพบมีการเบิกจ่ายยาแอ็กติเฟดออกไปเป็นส่วนประกอบยาเสพติดว่า หลังจากที่เรามีการประกาศตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องของการป้องกันยาเสพติด ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีการสั่งยกเลิกขายยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนในส่วนของร้านขายยาปลีกย่อย และเมื่อยกเลิกแล้วเราก็จะพบรายละเอียดในการเบิกจ่ายยาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานที่ให้บริการสาธารณสุข เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่กระบวนการที่พบข้อผิดสังเกต จากนั้นจึงตั้งคณะกรรมการสอบ เช่น ที่มีบุคคลของเราเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องของเภสัชกรที่จำหน่ายยาให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความประสงค์ไม่ดี นำไปใช้เป็นสารประกอบยาเสพติด
ส่วนจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประชาชนทั่วไปที่ใช้ยาแก้หวัดหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า ไม่มี เพราะอย่างน้อยซูโดอีเฟดรีนชนิดเดี่ยวยังใช้ได้อยู่ มีการควบคุมอยู่แล้ว แต่ขณะนี้องค์การอาหารและยา (อย.) ได้ทำหนังสือหารือไปที่กฤษฎีกาเพื่อขอความเห็นว่า ถ้าซูโดอีเฟดรีนมีผลกระทบต่อจิตและประสาท เราจะขอเป็นการควบคุมได้หรือไม่ โดยถ้าจะทำโดยวิธีการถ้าใครจะสั่งจ่ายยาจะควบคุมโดยใช้บัตรประชาชน ซึ่งจะทำให้รู้ที่มาว่ายาไปอยู่ที่ใคร เพราะขณะนี้มีปิดช่องว่างตรงนี้อยู่ และปัจจุบันได้มีคำสั่งขอให้ระงับการสั่งจ่าย และการขายชั่วคราว จนกว่ากฤษฎีกาจะมีความเห็น และมีประกาศออกมาสามารถควบคุมได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า โรงพยาบาลภูมิภาคอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่ภาคอีสานมีพฤติกรรมลักษณะเช่นนี้หรือไม่ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ขณะนี้ที่เราพบมีอยู่ 10 กว่าแห่ง แต่ที่ค่อนข้างจะมีความผิดปกติชัดเจน 5 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ
ต่อข้อถามว่ามีการควบคุมการจำหน่ายในร้านขายยาบ้างหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า มีการจำกัดจำนวนหรือให้จำหน่ายตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งหลังจากเรามีมาตรการแล้ว เราจึงพบว่ามีไปปูดอยู่ที่ใด ส่วนบทลงโทษจะมีทั้งในส่วนของความผิดทางวินัย ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการเกินกว่าระดับ 8 เป็นหน้าที่ของกระทรวงต้องดูแล ส่วนถ้าเป็นความผิดทางอาญาก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับเรื่องของการกวดขันจะมอบให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการในส่วนของทางราชการให้เป็นผู้พิจารณาความผิดทางวินัย ส่วนจะบรรจุเป็นคดีพิเศษในกรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ที่เสียงส่วนใหญ่