รายงานการเมือง
ถูกจับตามองอย่างมากกับการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ครั้งที่ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จังหวัดภูเก็ตในวันอังคารที่ 20 มี.ค.นี้
ว่าการประชุม ครม.สัญจรที่ภาคใต้ พื้นที่ที่เพื่อไทยแพ้ยกภาค ไม่มี ส.ส.ภาคใต้แม้แต่คนเดียว ครม.ยิ่งลักษณ์จะให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดภาคใต้แบบ “จัดเต็ม” เหมือนกับที่เชียงใหม่กับอุดรธานีหรือไม่
ต้องรอดูผลการประชุม ครม.ว่าจะมีโครงการหรืองบประมาณก้อนใหญ่ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ ครม.ยิ่งลักษณ์จะอนุมัติกันหรือไม่
ฝ่ายรัฐบาลให้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาหาเสียงล่วงหน้าบอกว่า ครม.ภูเก็ตจะมีการพิจารณาโครงการพัฒนาจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะ 5 กลุ่มจังหวัดอันดามัน ที่มีการเสนองบประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาทให้ ครม.พิจารณา แยกเป็นโครงการพัฒนาสาธารณูปโภค การขนส่ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เลือกปฏิบัติแม้พรรคเพื่อไทยจะไม่มี ส.ส.ในภาคใต้ก็ตาม
ก็ต้องดูกันว่า ครม.ยิ่งลักษณ์จะเทงบ 8 หมื่นล้านบาทอย่างที่ให้พร้อมพงศ์คุยไว้หรือไม่ แต่ก็น่าเชื่อระดับหนึ่งว่าจะเป็นจริงเช่นนั้น เพราะนี่คือโอกาสหาเสียงอันดีของเพื่อไทยในภาคใต้
เบื้องต้นตามข่าวที่หลุดออกมา หลายหน่วยงานก็เตรียมชงโครงการให้ครม.เห็นชอบ อาทิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เตรียมชงโครงการให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบโครงการในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และระนอง เบื้องต้นที่น่าจะผ่านแน่ๆ มี 18 โครงการ รวมวงเงินที่ขอจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,012.05 ล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.ภูเก็ต ได้แก่ โครงการแก้มลิงขุมน้ำสวนเฉลิมพระเกียรติ งบประมาณ 15 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินศึกษาธรรมชาติตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งบประมาณ 8 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน อ.เมืองถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต งบประมาณ 500 ล้านบาท
สำหรับ จ.พังงา มีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวบ้านทับละมุ จ.พังงา วงเงิน 31.2 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 งบประมาณ 42.97 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอันดามัน งบประมาณ 20 ล้านบาท, โครงการจัดตั้งศูนย์ราชการ จ.พังงา วงเงินทั้งหมด 466.79 ล้านบาท โดยในปี 2555 ขอรับจัดสรรงบประมาณในการปรับภูมิทัศน์ถมดินวงเงิน 49 ล้านบาท
จังหวัดกระบี่ มีโครงการทั้งหมด 4 โครงการ ประกอบด้วย การขุดลอกร่องน้ำบริเวณท่าเทียบแพขนานยนต์ข้ามฟากเกาะลันตาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทะเลอันดามัน งบประมาณ 18.40 ล้านบาท, การก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน และอุบัติภัยทางธรรมชาติ เพื่อรองรับคุณภาพชีวิตที่ดีและการท่องเที่ยว งบประมาณ 99.34 ล้านบาท, สำรวจออกแบบการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองกระบี่ งบประมาณ 20 ล้านบาท, จัดตั้งมหาวิทยาลัยของฝั่งทะเลอันดามันในพื้นที่ จ.กระบี่ งบประมาณ 20 ล้านบาท
ส่วน จ.ตรัง มีโครงการการพัฒนาท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยววงเงิน 30 ล้านบาท, โครงการการพัฒนาแหล่งน้ำของ จ. ตรัง งบประมาณ 64 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถ้ำเขาช้างหาย อ.นาโยง จ.ตรัง งบประมาณ 10 ล้านบาท
ที่ จ.ระนองก็เช่นโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเลบ้านอ่าวเคย วงเงิน 10 ล้านบาท, โครงการฟื้นฟูคูคลองเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน งบประมาณ 37.54 ล้านบาท, โครงการพัฒนาศักยภาพการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของสถาบันเกษตรกร งบประมาณ 21.6 ล้านบาท และโครงการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเกาะพยาม งบประมาณ 15 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละจังหวัดในภาคใต้ ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะลงมาประชุมกันที่ภูเก็ต ทุกจังหวัด ต่างก็มีการเคลื่อนไหวกันเองของพวกนักธุรกิจ-หน่วยงานราชการที่มีการประชุมหารือกันก่อนเบื้องต้นว่าจะนำเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างไรให้ ครม.เห็นชอบผ่านช่องทางต่างๆ เช่น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพราะภาคเอกชนรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น ต่างก็ต้องการเห็นจังหวัดตัวเองได้รับงบและโครงการ มาลงพื้นที่ เพื่อผลในทางธุรกิจและคะแนนเสียงที่จะได้ตามไปด้วย
อย่างเช่นที่ จ.ตรัง พบว่า ก่อนหน้า ครม.จะลงมาที่ภูเก็ต นักการเมืองท้องถิ่น คือ กิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ไปประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชนในจังหวัดจนได้ข้อสรุปจะนำเสนอให้ ครม.สัญจรเห็นชอบโครงการพัฒนาพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งประชาธิปัตย์ผูกขาดมาหลายสิบปี ที่บางโครงการก็ไม่ตรงกับที่สภาพัฒน์เคาะไว้
เช่น โครงการขยายสนามบินตรัง, โครงการสร้างศูนย์เรียนรู้ RCE ,โครงการก่อสร้างสะพานสี่แยกควนปริง และโครงการขยายทางจราจร ทางหลวงหมายเลข 4270 กม.ที่ 3 เบ็ดเสร็จเคาะว่า งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,243.8 ล้านบาท แต่ทาง กิจ หลีกภัย บอกว่า ไม่ได้หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทั้งหมด แต่หากโครงการไหนยังไม่ผ่าน ก็จะเก็บไว้ไปผลักดันต่อในการประชุมครม.สัญจรภาคใต้รอบหน้าที่มีข่าวว่าจะเป็นที่นครศรีธรรมราช
ขณะที่ในระดับภาพใหญ่ พบว่านักธุรกิจและนักลงทุนในพื้นที่และในส่วนกลางที่ไปลงทุนในภาคใต้ ต้องการเห็นการผลักดันโครงการใหญ่ๆของรัฐบาลเพื่อไทยในภาคใต้หลายโครงการ จนจะมีการเสนอผ่านช่องทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่ดูแลหลายโครงการที่นำเสนอแนวคิดไว้น่าจะได้รับการหนุนเต็มที่
เบื้องต้นภาคธุรกิจเคาะกันไว้ว่า อยากเห็นโครงการการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งในจังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร, รถไฟรางคู่กรุงเทพมหานคร-หาดใหญ่ เป็นต้น
แต่ที่เป็นระดับโครงการใหญ่ๆ ตามข่าวพบว่านักธุรกิจในพื้นที่อยากเห็นมากที่สุด คือ การเดินหน้าฟื้นเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์ท่าเรือปากบารา มูลค่า 3 หมื่นล้าน รวมถึงการเทงบโครงการก่อสร้างพื้นฐานเชื่อมลอจิสติกส์ ถนน 4 เลนชุมพร-ระนอง-พังงา มูลค่า 4 พันล้าน
แต่ที่ต้องจับตามองและเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ก็คือ การสานศูนย์ประชุมภูเก็ตที่มีนักธุรกิจในพื้นที่ภูเก็ตเรียกร้อง โดยโครงการดังกล่าวซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ อัญชลี วานิช เทพบุตร อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งเดินหน้าเต็มที่ แต่พอรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามา นอกจากไม่เดินหน้าและสั่งให้ทบทวนโครงการแล้วยังมีข่าวว่ารัฐบาลสั่งให้รัฐมนตรีของเพื่อไทยบางคนเก็บข้อมูลโครงการดังกล่าวที่ใช้งบบางส่วนมาจากงบเงินกู้ไทยเข้มแข็งเพื่อเอาไว้เป็นข้อมูลทางการเมืองเล่นงานประชาธิปัตย์ในอนาคตอาทิในช่วงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ผลประชุม ครม.สัญจรที่ภูเก็ต จะออกมาอย่างไร คนใต้จะได้เฮเหมือนคนเหนือ-อีสาน ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อนุมัติสารพัดโครงการหรือไม่ ก็ต้องรอดูกัน