xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบแจก 2.4 หมื่นล้านเสริมแนวเจ้าพระยา แก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐ เผย ครม.เห็นชอบ กบอ.ของบแก้อุทกภัย 246 โครงการ 2.48 หมื่นล้านบาท เน้นเสริมแนวแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฝั่ง พร้อมปรับปรุงระบบระบายน้ำหลายจุด “ยิ่งลักษณ์” สั่งเบรก 3 โครงการใหญ่ บี้ทำแผนให้ละเอียดก่อนชงเข้า ครม.อีก ชูเยือนญี่ปุ่นทำนักธุรกิจเชื่อมั่น แย้ม ครม.ยุ่นเล็งแจก 8 พันล้านช่วยไทยสร้างวงแหวนรอบนอกกันน้ำ ชูศูนย์พักพิงสึนามินาโตริต้นแบบป้องกันน้ำท่วมไทย


วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ขออนุมติกรอบงบประมาณแก้ไขอุทกภัยระยะเร่งด่วนจำนวน 246 โครงการ งบประมาณ 24,828 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 161 งบประมาณ รวม 15,592 ล้านบาท มีโครงการ เช่น เสริมแนวคันกั้นน้ำจากปากคลองระพีพัฒน์-ปากแม่น้ำเจ้าพระยา-ชายทะเล เสริมแนวคันกั้นน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ปรับปรุงคลองระบายน้ำ และติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม เป็นต้น

นายชลิตรัตน์กล่าวต่อว่า 2. การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 85 โครงการ งบประมาณ 9,235 ล้านบาท มีโครงการ เช่น เสริมแนวคันกั้นน้ำตั้งแต่ปากคลองพระยาบรรลือ จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมแนวคันกั้นน้ำด้านใต้คลองมหาสวัสดิ์ เสริมแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำท่าจีน และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำคลองทวีวัฒนาให้สามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่แก้มลิงมหาชัย เป็นต้น

นายชลิตรัตน์กล่าวด้วยว่า ครม.ยังได้มีมติเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการเพื่อวางระบบบริหารจัดการจัดการน้ำและสร้างอนาคต พ.ศ.... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต พ.ศ. 2555 (พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท) โดย ครม.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแผนบริหารโครงการเพื่อกำหนดระยะเวลา ขนาดของโครงการให้ชัดเจน และให้กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ไปดำเนินการศึกษาและวางแผนในเรื่องหลักเกณฑ์ของการทำงานต่อไป

นายชลิตรัตน์เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวว่า สำหรับโครงการขยายทางยกระดับบรมราชชนนี มูลค่า 12,500 ล้านบาท และโครงการ Street Canal ถนนพุทธมณฑลสาย 4 และสาย 5 มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาทที่กระทรวงคมนาคมเสนอเข้ามาในคราวเดียวกันนี้ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม. เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นควรให้กลับไปทบทวนโครงการและทำรายละเอียดเข้ามาเสนอให้ชัดเจน เพราะถือเป็นโครงการระยะยั่งยืน ต่างจาก 246 โครงการข้างต้นที่เป็นโครงการในระยะเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนหน้าน้ำของปีนี้ โดยให้นำเสนอแผนงานผ่าน กบอ. เพื่อเสนอแผนปฏิบัติการต่อ กนอช.เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆที่จะขออนุมัติมาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ 246 โครงการที่อนุมัติไปแล้วนั้น ถือเป็นกรณีพิเศษที่ได้ผ่านการพิจารณาของ กบอ.และ กนอช.ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธานแล้ว เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่มีเพียงหัวข้อ ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการแนบมาด้วย แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จให้ทันก่อนฤดูฝนของปีนี้ ครม.จึงได้อนุมัติในหลักการ ก่อนที่จะให้หน่วยงานทำรายละเอียดเสนอ กบอ.เพื่อทราบอีกครั้ง

ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อ ครม.ถึงผลการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในโอกาสที่เจริญความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 125 ปี ไทย-ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีทุกคน คณะทำงานทุกคนที่ร่วมเดินทางทำให้การเยือนญี่ปุ่นครั้งนึ้ประสบผลสำเร็จอย่างดี ได้รับความเชื่อมั่นทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคธุรกิจเป็นอย่างดี รัฐบาลไทยสร้างความเชื่อมั่นอย่างมาก ต่อรัฐบาลและผู้ค้าชาวญี่ปุ่นมีบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท เช่น ฮอนด้า ที่ประสบปัญหาสึนามิที่ญี่ปุ่น และประสบอุทกภัยที่ไทย ภายหลังเข้าพบนายกฯ และการเจรจากับคู่ค้าทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นและยืนยันขยายกรอบการลงทุนในปีนี้และปีถัดไป

นายอนุสรณ์กล่าวว่า โดยที่ญี่ปุ่นเตรียมจะเสนอเรื่องเข้า ครม.ของเขาในวันที่ 24 มี.ค.นี้ เพื่ออนุมัติงบประมาณ 8,000 ล้านเยน ในการสนับสนุนไทยใช้ในการสร้างถนนวงแหวนรอบนอกป้องกันน้ำท่วมด้วย นอกจากนิ้ไจก้ายังจะสนับสนุนงบประมาณในการให้คำปรึกษาเรื่องการระบายน้ำ และเรื่องขยายวีซ่าให้ชาวญี่ปุ่นอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทั้งยังจะมีการเพิ่มโควตาการสั่งเพิ่มสินค้าไทยอย่างมากโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เช่น ไก่ปรุงสุกแช่แข็งจะมีความนิยมมาก

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ญี่ปุ่นยังให้ความสนใจอนุภูมิภาคใหม่ คือ ชินเดีย หมายถึงไชน่ากับอินเดีย ซึ่งพม่าอยู่ตรงกลาง จะเป็นส่วนสำคัญต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึกของพม่า ซึ่งญี่ปุ่นฝากไทยให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงท่าเรือดังกล่าว นายกฯ ยังมีโอกาสไปเยี่ยมศูนย์พักพิงของผู้ประสบภัยจากสึนามิที่เมืองนาโตริ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยกโมเดลเมืองดังกล่าวจะเป็นต้นแบบของคณะทำงานในการป้องกันแก้ไขอุทกภัยของไทย ความจริงแล้วสื่อหลายสำนักเช่น เอ็นเอชเค อาซาฮี ชิมบุน ได้เสนอผลสัมฤทธิ์การเยือนครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น