xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.สส.ยันอินโดฯ ยังไม่เข้าพื้นที่พระวิหาร รอคณะทำงานถกเขมรก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธนะศักดิ์  ปฏิมาประกร (แฟ้มภาพ)
ผบ.สส.เผย นายกฯลงนามตั้งคณะทำงานปฏิบัติตามมติคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกแล้ว ยันทหารอินโดนีเซียจะยังไม่เข้าพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ต้องรอการหารือของฝ่ายไทยและกัมพูชา ก่อน บอกอาจไม่เข้าก็ได้ เหตุบรรยากาศ 2 ประเทศกำลังดี ส่วนการเจรจาต้องยึดหลักไม่เสียอธิปไตย โปร่งใส เท่าเทียม พร้อมเสนอรื้อการกำหนดจุดของศาลโลก เชียร์แนวคิดพัฒนาพื้นที่ร่วมกันเชื่อได้ทั้งคู่ “ธนะศักดิ์” เผย ไม่ขวางแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามทหารสลายม็อบ ชี้ ปัญหาอยู่ที่คนใช้ กม.ทหารมีวินัยสั่งอะไรก็ทำ


พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าของคณะทำงานเพื่อปฏิบัติตามมติคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกในปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทย กับกัมพูชา หรือจีดับเบิลยูเจ ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งแล้ว ช่วงนี้เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารได้เดินทางไปกัมพูชา เพื่อพบปะและพูดคุยในเรื่องนี้อยู่ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าขั้นตอนตามกฎหมายของไทยเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็จะเชิญมาหารือกัน คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือจีบีซี ครั้งล่าสุด กัมพูชายอมทำตามทุกอย่างแล้ว โดยเฉพาะขั้นตอนตามกฎหมายในประเทศไทย ทางฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับในจุดนี้

“ทั้งนี้ ต้องยึดหลักพื้นฐานในการไม่เสียอธิปไตย ความโปร่งใส และเท่าเทียม ไม่ใช่ใครได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ เพราะเมื่อศาลโลกได้กำหนดจุด เอ บี ซี ดี ออกมา เมื่อความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้น เป็นเพื่อนกัน เจ้าหน้าที่ระดับล่างได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ตอนนี้ถือว่าสงบอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อมาคุยกันก็ยินดีที่จะทำให้ชายแดนสงบ อะไรที่เป็นปัญหา ก็ละวางไว้ แล้วก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้วิน-วินด้วยกันทั้งคู่ ขณะนี้พื้นที่เงียบ ไม่มีปัญหาอะไร ผมไปตรวจเยี่ยมโบกมือให้ทางฝั่งโน่น ซึ่งไม่มีปัญหา สิ้นเดือนนี้ผมจะไปประชุม ผบ.สส.อาเซียนจะได้ไปพบกับ ผบ.สส.กัมพูชา และ นายกรัฐมนตรี กัมพูชา ความจริงเราเป็นเพื่อนสนิทกัน เพราะประเทศอยู่ใกล้กัน ก็จะคุยกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบาย ของ ผบ.สส.ต้องการรื้อ การกำหนดจุด เอ บี ซี ดี ที่ศาลโลกกำหนดใช่หรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คิดนโยบายไม่ได้ แต่ด้วยความรู้สึกคือ ตอนแรกก็อยู่กันดีๆ แล้วมาขีดเส้น ทางฝั่งกัมพูชาเป็นหน้าผา โดยปกติมนุษย์ก็ไม่อยู่ ฝั่งเราจะเป็นพื้นที่ราบ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าใครเป็นคนชี้จุดตรงนี้ แต่การตั้งคณะทำงานฯจะได้พูดกัน ซึ่งเป้าหมายของศาลโลกอยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ พูดกันรู้เรื่อง และ ตกลงกันได้จริง ก็อยากให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ถ้าหยุดเรื่องที่มีปัญหา และมาร่วมกัน สิ่งที่ดีก็จะเกิด ก็มีแต่ได้กับได้ แต่ถ้าเราไม่ร่วมกัน ระบบเศรษฐกิจของสองชาติก็จะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ คงตอบไม่ได้ว่าจะเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ แต่เราพร้อมปฏิบัติอยู่แล้ว เมื่อมี คณะทำงานฯ และเชิญเขามาแล้ว เราก็แสดงออกว่าเราพร้อมอยู่ร่วมในสังคม

ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยเสียเปรียบกัมพูชา พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้ฟัง แต่ในส่วนของตน ส่วนที่ทหารรับผิดชอบจะไม่ให้เสียเปรียบ เพราะหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะเห็นไปในทางที่ต้องปฏิบัติตามหมด แต่หน่วยความมั่นคง ซึ่งยืนยันว่าไม่ควรทำ แต่ถ้าจะทำ ก็ต้องทำเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน เมื่อเป็นเพื่อนกัน อยู่ข้างบ้านกัน ก็ไม่ควรเอาเปรียบกัน ถ้าเราดีด้วยกันทั้งคู่ สิ่งดีก็จะตามมา เมื่อมีการตั้งคณะทำงานมาแล้ว จะได้คุยกันในรายละเอียด คุยแบบเปิดอก ในฐานะเพื่อนกัน สร้างสรรค์เรื่องดี สิ่งที่ดีในการพัฒนาประเทศร่วมกัน ปราสาทเขาพระวิหารก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว

สำหรับข้อเสนอ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการให้พัฒนาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่นั้น พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า อะไรที่ทำร่วมกันก็ดีทั้งนั้น เมื่อมีปัญหาและทะเลาะกันก็ไม่มีใครได้อะไรทั้งคู่ แต่ถ้านำจุดที่มีปัญหามาทำให้ไม่มีปัญหา และพัฒนาให้ดีขึ้นก็จะได้ทั้งคู่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่ก็เป็นส่วนที่เราต้องไปคุยกับเขาอีกว่า จะพัฒนาในรูปแบบใดที่จะร่วมมือกัน

ส่วนข้อกังวลเรื่องผลการพิพากษาของศาลโลกนั้น คงต้องใช้เวลาดูว่าผลจะออกมาอย่างไร ระหว่างที่ยังไม่ตัดสิน เรามีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอยู่ จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ สองประเทศมีวินัยทั้งคู่ ก็อยู่อย่างสบาย แต่การจะมีผู้สังเกตการณ์เข้ามานั้น ก็ต้องเข้าตามกฎหมาย กติกา ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม อย่าไปกังวลต่อผลการวินิจฉัยของศาลโลก เพราะส่วนที่รับผิดชอบก็มีมาตรการรองรับอยู่แล้วว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ มีกลุ่มมวลชนเสื้อเหลือง ที่ศรีสะเกษ จะออกมาชุมนุมค้านการถอนทหาร และต้านการมีผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า คณะทำงานฯ ยังไม่ได้มีการประชุมกัน ทางอินโดนีเซียจะเข้ามาได้อย่างไร ตนได้เจอ ผบ.สส.อินโดนีเซียท่านก็บอกว่าอยากให้ไทยกับกัมพูชาคุยกัน เขาก็มั่นใจว่าเราจะคุยกันได้ แต่ถ้าร้องขอเขาจึงจะเข้าปฏิบัติ ซึ่งการร้องขอนั้นต้องทำสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอ ดังนั้นต้องรอคณะทำงานฯ เจรจา เมื่อได้ผลแล้วจึงจะมาเข้า จีบีซี และ นำเสนอรัฐบาล ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของ ม.190 ตามรัฐธรรมนูญ จึงจะมีผลบังคับใช้ ทุกอย่างมีขั้นตอนอยู่ ประเทศเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ที่จะไปพูดตกลงได้

พล.อ.ธนะศักดิ์ยังกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพ ไม่ได้พูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้เขาทำกันไป เราก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ส่วนที่มีการเสนอของคณะกรรมาธิการสภาฯ ให้แก้ไข พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้ทหารสลายการชุมนุมนั้น ตนคิดว่า ทหารเป็นหน่วยวินัย เขาเขียนให้ทำอะไร เราก็ทำแบบนั้น แต่ที่สำคัญก็อยู่ที่คนใช้ ถ้าหากใช้ตามกติกา เราก็ทำตามกติกา แต่ถ้าใช้ผิดกติกา ขัดหลักทำนองคลองธรรม เราก็ต้องให้เขาทบทวนชี้แจง ซึ่งการสั่งการเป็นไปตามสายการบังคับบัญชา ความเป็นจริงแล้ว ทหารไม่ต้องออกมาทำอะไรเลย เพียงแต่ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตย พัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชน ยกเว้นสิ่งที่เขาออกเป็นมาตรฐานสากลเมื่อเกิดกลียุค แต่ก็มีกติกาเขียนอยู่แล้ว ว่า ต้องผ่าน ครม.และผ่านสภาฯ จึงจะออกมาได้ ซึ่งเราก็ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด

พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพ เป็นการติดตามผลงานและเน้นย้ำให้เขาทำงานให้มีประสิทธิภาพ และ ยึดถือนโยบาย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นแนวทางในการปฏิบัติ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานกับรัฐบาลอย่างเต็มความสามารถ ในเรื่องการขุดลอกคูคลองที่ป้องกันน้ำท่วมให้ทำอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะนำเรียนไปยังรัฐบาล และนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อเสนอให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น