วงเสวนาครบรอบจัดตั้งศาลปกครอง 11 ปี ภาครัฐ-เอกชน-นักวิชาการ ชี้ ศาล ปค.ยังจำเป็นสำหรับสังคมไทย เพื่อใช้ตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และคุ้มครองสิทธิปชช.ไม่เห็นด้วยยุบเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ติงต้องเร่งพิจารณา เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเยียวยาผู้เสียหายให้ทันเวลา
วันนี้ (9 มี.ค.) ศาลปกครองได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “หลากหลายมุมมอง...ศาลปกครอง 11 ปี” โดย นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวเปิดเสวนาตอนหนึ่ง ว่า ศาลปกครองไทยได้รับการสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 ต่อมาแม้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองยังได้การยอมรับให้คงอยู่ประเทศไทยเป็นนิติรัฐการดำเนินการใดๆ ต้องเคารพหลักสำคัญ 3 ประการ หลักการชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลักความชอบด้วยการกระทำหน้าที่ของศาลปกครอง และหลักการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองโดยองค์กรตุลาการ หากเปลี่ยนไปจากนี้กล่าวไม่ได้ว่าประเทศไทยเป็นนิติรัฐ การใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุด ซึ่งความเกี่ยวข้องนั้นเป็นลักษณะแทรกแซงละเมิดสิทธิของประชาชนได้
นายหัสวุฒิ กล่าวว่า หากถามว่า ประเทศไทยไม่เคยควบคุมการกระทำการปกครอง โดยองค์กรตุลาการเลยหรือ คำตอบคือ มี แต่นับแต่อดีตพบว่าการชี้ขาดปัญหากฎหมายขึ้นอยู่กับปรัชญาการมองกฎหมายของผู้พิพากษา แต่กฎหมายแต่ละสาขามีปรัชญาคิดปัญหาแตกต่างกัน ปัญหาทางปกครองเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชน ภายนอกดูเหมือนว่าคดีปกครองมีสองฝ่ายเหมือนคดีแพ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนกัน ผู้พิพากษาต้องตัดสินผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อสาธารณะ เหตุผลดังกล่าวจำเป็นต้องมีองค์กรอีกแห่งเกิดขึ้น
จากนั้นได้เสวนา นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า 11ปี ของศาลปกครองได้วางรากฐานการใช้กฎหมายปกครองหยั่งลึกลงไปในสังคมไทย และปรากฏว่า การใช้กฎหมายโดยศาลปกครองค่อยๆ มีวิวัฒนาการขึ้น ซึ่งความจริงแล้วจุดสำคัญ คือ การตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทั้งประชาชน ข้าราชการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติทางกฎหมาย เป็นการคานอำนาจ ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการตรวจสอบก็ไม่มีการคานอำนาจ แต่หลักใหญ่ของกฎหมายปกครอง ไม่มีกฎหมายก็ไม่มีอำนาจ ซึ่งหลักนี้กำลังมีการถกเถียงกันมากในต่างประเทศ เพราะการปกป้องประโยชน์สาธารณะ บางครั้งก็ไม่มีกฎหมายไปรองรับ แต่ของประเทศไทยศาลปกครองยังยึดหลักไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ จึงเป็นความท้าทายว่าจะเชื่อมโยงอย่างไรระหว่างประโยชน์สาธารณะกับความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบางคนก็มองว่า หากศาลปกครองยังยึดหลักการนั้นก็ตามโลกไม่ทัน
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมีศาลปกครองภาคเอกชนมีความรู้สึกว่ามีที่พึ่ง เพราะในอดีตหากมีปัญหากับภาครัฐยากที่จะหาที่พึ่ง ในฐานะภาคเอกชนขอสนับสนุนให้มีศาลปกครอง แต่การพิจารณาคดีอยากให้คำนึงผลประโยชน์ของผู้ได้เสียทุกฝ่าย เพราะหลายครั้งกลุ่มผลประโยชน์นำเรื่องฟ้องศาลเพื่อหวังเป็นประโยชน์ในการกดดัน ซึ่งอยากให้ศาลระมัดระวัง และการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมองว่ามีผลกระทบกับภาคเอกชนที่ถูกฟ้อง เนื่องจากเมื่อเรื่องใดถูกคุ้มครองชั่วคราวคนถูกร้องเหมือนเป็นผู้แพ้คดีแล้ว เกิดความเสียหายแล้ว เพราะหากท้ายสุดไม่ผิด แต่ความเสียหายจากความล่าช้าเกิดขึ้นแล้ว จะมีแนวทางการเยียวยาอย่างไร เพราะเสียโอกาสการดำเนินธุรกิจ การตัดสินคดีควรคำนึงประโยชน์ประเทศส่วนรวมเป็นหลัก และระวังบางกลุ่มมาฟ้องเพื่อประโยชน์ตัวเอง พร้อมกันนี้อยากให้เร่งพัฒนาตุลาการให้มีความรู้รอบด้านเพิ่มขึ้น เพราะคดีที่ร้องกับศาลปกครองขยายขอบเขตหลายด้าน ถ้าตุลาการมีความเข้าใจการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วราบรื่น
นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า อยากให้ศาลเร่งการพิจารณาคดี โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เพราะบางครั้งกว่าจะตัดสิน ผู้ที่ถูกโยกย้ายอาจไม่ได้รับเยียวยาอย่างทันท่วงที และควรมีการเพิ่มแผนกคดีบริหารงานบุคคลเพื่อมารองรับ ส่วนการยุบศาลปกครองไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกาก็เห็นว่าขนาดแยกออกมายังมีที่ค้างการพิจารณาจำนวน 14,000 คดี หากนำไปรวมกันก็ไม่ใจว่าจะมีปริมาณค้างอีกมากแค่ไหน
“ก็เหมือนบ้านหลังหนึ่งมีลูก 5 คน แต่ละคนแต่งงานแล้วเอาเมีย เอาลูกเข้ามาอยู่ในบ้าน ถามว่าถ้าคนในบ้านมีจำนวนมาก ควรจะยุบบ้านแล้วไปซื้อคอนโดอยู่หรือไม่ มันก็เหมือนกับยุบศาลปกครองแล้วให้ไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ข้อเสนอแบบนี้นับว่าเป็นข้อเสนอที่แปลกพิสดาร” นายสุภาพ กล่าว
นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของศาลปกครองในประเทศไทยกว่าจะมีขึ้นได้ใช้เวลานานมาก เพราะในอดีตเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมรับ ประกอบกับที่ผ่านมาศาลยุติธรรมจำกัดบทบาทของตัวเองมากเกินไป ศาลปกครองจึงเกิดขึ้นเพราะข้อจำกัดของศาลเดี่ยวที่ไม่เข้าไปคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นหากจะยุบก็ต้องตอบในเชิงเนื้อหาให้ได้ ว่า ศาลปกครองคุ้มครองสิทธิประชาชนไม่ดีอย่างไร ส่วนการดำรงอยู่ในอนาคต ตนคิดว่ามี 4 ภาพที่ศาลจะต้องยึดถือคือ1. ดุลยภาพ การวินิจฉัยคดีของศาลต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการคุ้มครองสิทธิของประชาชนกับการบริหารราชการแผ่นดิน 2.คุณภาพ คำวินิจฉัยจะต้องวางหลักในการปฏิบัติราชการทางการปกครองให้กับหน่วยงานทางปกครองได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก 3.ประสิทธิภาพ การดำเนินคดีต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมเป็นธรรม ต้องมีกระบวนการสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของศาล มาตรการบังคับคดีของศาลต้องมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารบุคคลและควรมีความร่วมมือกันระหว่างองค์กรศาลที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน 4.เอกภาพ ที่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในสภาวะที่ศาลมีปัญหาการถูกคุกคาม
“สามภาพแรกไม่ใช้ลำหักลำโค่นที่จะทำให้ถูกยุบได้เลย แต่เรื่องของเอกภาพหากมีปัญหาความขัดแย้งภายในบ้าน จะกระทบสถานภาพการดำรงอยู่ของศาล อย่างศาลรัฐธรรมนูญ หากมีตุลาการคนใดมีคำวินิจฉัยไปในทางที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง อาจจะบอกได้ว่าเป็นความเห็นส่วนตน แต่ก็ต้องบอกว่า มันกระทบต่อภาพรวมการดำรงอยู่ของศาล ดังนั้นอยู่ที่ศาลปกครองจะสามารถประสานหรือบริหารความขัดแย้งภายในได้อย่างไร โดยให้ศาลดำรงอยู่บนหลักนิติรัฐ ซึ่ง 4 ภาพนี้หากศาลมีอยู่ ผมไม่คิดว่าจะทำให้ศาลถูกยุบได้ โดยกรณีใดก็ตาม” นายบรรเจิด กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ได้กล่าวชี้แจงถึงเรื่องมาตรการในการบังคับคดี ว่า ในคดีปกครองไม่มีอำนาจที่จะไปจับกุมหรือลงโทษหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ไม่เหมือนกับคดีแพ่งที่กฎหมายให้อำนาจ ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐจะมีความล่าช้าในการบังคับคดีตามคำสั่งศาลอ้างว่าไม่มีงบประมาณ เช่นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม เมื่อศาลตัดสินไปแล้วก็ถ่วง พอ29 ก.ย.ก็แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเพียง 1 วันแล้วก็จบ ซึ่งการบังคับคดีเหล่านี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ที่ต้องไปเร่งรัดหน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยในขณะนี้ศาลเองกำลังดำเนินการระดมความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรให้การบังคับคดีมีภาพการบังคับใช้โดยเร็วหลังศาลมีคำพิพากษา ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาต่างก็เห็นด้วย เพราะจะทำให้การชดเชยความเสียหายสามารถดำเนินการได้ทันทวงที