xs
xsm
sm
md
lg

สยามประชาภิวัฒน์เตือนระวัง รธน.ใหม่ทำทุกสถาบันอ่อนแอ-ปชช.ถูกครอบงำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ
“บรรเจิด” ย้ำแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มีแต่ทำให้เกิดระบบทุนผูกขาดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เชื่อร่างใหม่ศาลรัฐธรรมนูญถูกกำจัดแน่ เนื่องจากถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลมาโดยตลอด ด้าน “ทวี” ชี้ทุกสถาบันในสังคมจะถูกทำให้อ่อนแอ จนสุดท้ายสถาบันประชาชนถูกยึดครอง และอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุนพรรคการเมือง

วันที่ 9 ก.พ. เมื่อเวลา 20.30 น. ในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “หยุด! รัฐธรรมนูญเพื่อเผด็จการทุน”

โดยนายบรรเจิดกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ได้ผ่านการลงประชามติ ถือว่าได้ผ่านความชอบธรรมของประชาชน ในแง่ความชอบธรรม ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประชาชนได้ทำการลงประชามติ ตรงนี้เป็นตัวตอบได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรม

ส่วนที่บอกว่ามาตรา 309 ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้  เนื่องจากระบุว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” เป็นข้ออ้างที่ไม่จริงเลย เพราะการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เคยหยิบมาตรา 309 มาใช้เลย แต่ดูที่เนื้อหาความจริง ยกตัวอย่างเช่น หากคตส.ไปรับสินบน ศาลก็ต้องตัดสินว่าผิด ไม่ได้ไปยกมาตรา 309 มาใช้แต่อย่างใด

เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะนำไปสู่เป้าหมายอะไร นายทวีกล่าวว่า นโยบายหลักของรัฐบาลนี้ก็คือนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน โดยปราศจากความมผิด ซึ่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะสอดแทรกตรงนี้ไว้ด้วยแน่นอน

อีกนโยบายที่เขาต้องการ คือทำให้สถาบันต่างๆ อ่อนแอ และอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มทุน สถาบันอะไรที่เป็นอุปสรรคของเขา อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อยู่ในเป้าหมายเช่นกัน  ไม่อย่างนั้นคงไม่จุดกระแสขนาดนี้ รวมถึงสถาบันทหาร และสุดท้ายต้องการยึดครองสถาบันประชาชน เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนความจงรักภักดีมาสู่กลุ่มการเมืองนี้

อีกนโยบายที่ต้องการ คือ พยายามสืบทอดอำนาจ ขจัดกลุ่มคน หรือพรรคการเมืองตรงกันข้าม ให้หมดสิ้นไป หรือทำให้อ่อนแอต่อสู้ไม่ได้ และคงมีอีกหลายเรื่องที่เขาจะทำ เพื่อให้อำนาจของประชาชนมาอยู่ในมือ และอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุนพรรคการเมือง สรุปคือต้องการทำให้ระบบต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปหมด ไม่แน่ใจว่าแนวคิดรัฐไทยใหม่ยังจะมีอยู่หรือเปล่า

นายบรรเจิดกล่าวว่า ผลที่จะได้จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประการแรกจะทำให้เกิดระบบทุนผูกขาดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นี่คือผลสุดท้ายที่จะได้ ประการที่ 2 สูญเสียดุลยภาพหลักอธิปไตย ในแง่ของการแบ่งแยกอำนาจ หลักการควบคุมตรวจสอบ เพราะทุกวันนี้อำนาจนิติบัญญัติกับบริหารมันไม่มีดุลยภาพอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่ยังดีที่มีองค์กรอิสระกับองค์กรตุลาการมาคอยดึงรั้งไว้ เขาจึงจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อมาครอบองค์กรอิสระ และองค์กรตุลาการ ทำลายหลักแบ่งแย่งอำนาจ ทำลายหลักนิติรัฐ

ประเด็นใหญ่ความจริงแล้วเวลาพูดถึงหลักเสรีธิปไตย มันมีหลักสำคัญ 2 หลัก คือ หลักประชาธิปไตย กับหลักนิติรัฐ ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้หลักประชาธิปไตยที่เขามีฐานที่เข้มแข็งจากการเลือกตั้ง ไปครอบงำตัวหลักนิติรัฐ แต่ตามหลักเสรีธิปไตย ตัวหลักประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้การกำกับของหลักนิติรัฐ อันนี้สูญเสียหลักดุลยภาพอย่างสำคัญ

ประการที่ 3 การแก้ครั้งนี้เอื้อต่อบุคคลที่ถูกลงโทษเพื่อให้กลับมาสู่การเมืองได้ เช่นมีการกำหนดคุณสมบัติไว้ว่าใครเคยถูกศาลยึดทรัพย์ ไม่สามารถมีคุณสมบัติเป็น ส.ส.ได้ ประเด็นเหล่านี้จะถูกแก้ไขเพื่อให้สามารถกลับมาได้ หรืออาจเขียนให้นิรโทษกรรม โดยอ้างว่าเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหาร

ประการสุดท้ายจะทำลายระบบตุลาการของไทย ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่มีต่อไป เพราะที่มาที่ไปของศาลรัฐธรรมนูญเอารูปแบบมาจากเยอรมนี สร้างมาเพื่อถ่วงดุลเสียงข้างมากในสภา เพราะเสียงข้างน้อยไม่มีทางถ่วงรั้งได้ เช่น กรณีกฎหมายที่ผ่านแล้ว แต่เสียงข้างน้อยเห็นแย้ง ก็ยังยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ เขาคงไม่พอใจที่มีองค์กรคอยพิทักษ์กติกาประชาธิปไตย ตนคิดว่าองค์กรเหล่านี้ถูกลบทิ้งแน่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนศาลปกครองจะอยู่หรือจะไป แต่ถ้าอยู่แล้วกระบวนการได้มาต้องผ่านคณะรัฐมนตรี มันก็กระทบต่อความเป็นอิสระแน่นอน เท่าที่ดูการแก้รัฐธรรมนูญไม่เห็นประโยชน์ต่อประชาชนเลย

ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น