วุฒิสภานัดประชุมแถลงปิดคำร้องด้วยวาจากรณียื่นถอด “ภักดี” พ้น ป.ป.ช. “อนุดิษฐ์” ย้ำจงใจผิดกฎหมาย เจ้าตัวยันลาออกบริษัทยานานแล้ว ด้าน “รสนา-สมชาย” แฉมีแจกเอกสารโจมตีส่อล็อบบี้มติ ส.ว. นัดลงคะแนนลับ 9 มี.ค.
วันนี้ (6 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา นัดพิเศษวันนี้มีการพิจารณา กรณีนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ยื่นคำร้อง ขอให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเป็นการแถลงการณ์ปิดคำร้องด้วยวาจาของผู้ร้อง และคำโต้แย้งคำร้องของและผู้ถูกร้อง
น.อ.อนุดิษฐ์ ในฐานะผู้ร้อง นำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาประกอบการแถลงปิดคดี โดยย้ำถึงข้อกล่าวหาว่านายภักดีจงใจฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.มาตรา 46 วงเล็บ 1 ที่ระบุไว้ ไม่ให้บุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่มีการกล่าวหา ก่อนมาเป็นกรรมการไต่สวน แต่นายภักดีเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่เป็นหน่วยงานจัดซื้อคอมพิวเตอร์ ตามโครงการจัดทำระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน การคลัง และข้อมูลโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ปี 2547 และมีหน้าที่จัดทำทีโออาร์ โดยเมื่อเกิดปัญหายังได้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการทุจริตดังกล่าวการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ และได้เรียกประชุมในฐานะประธานแล้วถึง 2 ครั้ง ก่อนมีการเปลี่ยนตัวประธานฯ และภายหลังกลับได้เป็นประธานคณะอนุกรรมการของ ป.ป.ช.ไต่สวนชี้มูลความผิดโครงการนี้ และยังบ่ายเบี่ยงที่จะรับหลักฐานจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ทั้งที่คุณหญิงสุดารัตน์มีหลักฐานสำคัญเพิ่มเติมอีก 1 ข้อกล่าวหา ที่สำคัญ คือ นายภักดีมีพฤติกรรมขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 11 วงเล็บ 3 ที่กำหนดให้ผู้ที่เป็น กรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรธุรกิจ แต่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงมีชื่อนายภักดีเป็นกรรมการอยู่ในบริษัท ไทยวัฒนา ฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด แม้ในการชี้แจงต่อวุฒิสภา นายภักดีจะยืนยันอยู่หลายครั้งว่าได้ลาออกจากกรรมการบริษัทแล้ว แต่การลาออกมีพิรุธในหลายเรื่อง เช่น การลงนามในหนังสือลาออกขององค์กรเภสัชกรรม การนำส่งเอกสารทางไปรษณีย์ และประกาศลาออกผ่านหนังสือพิมพ์
ด้าน นายภักดี ในฐานะผู้ถูกร้องโต้แย้งคำร้อง โดยมีเอกสารยืนยันว่าหลังได้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ก็ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท ไทยวัฒนา ฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด ตามขั้นตอนทุกอย่าง และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากบริษัทอีก ขณะเดียวกัน การที่ยังมีชื่อปรากฏในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นเพราะทางบริษัทไม่ได้มีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้มีการแก้ไขรายชื่อกรรมการภายในของบริษัท เช่นเดียวกับกรรมการคนอื่นๆ ที่ลาออกก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงมองว่าข้อกล่าวหานี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้ร้องเท่านั้น ส่วนเรื่องคุณสมบัติการเป็นอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ กระทรวงสาธารณสุข ป.ป.ช.ชุดใหญ่วินิจฉัยแล้วว่าไม่ขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ของ ป.ป.ช. พร้อมยืนยันว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกวดราคาจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงฯ
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม สมาชิกวุฒิสภาบางส่วน เช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา มีการทักท้วงว่ามีการแจกเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลการร้องเรียนครั้งนี้ภายนอกห้องประชุม และยังมีพยายามโจมตีฝ่ายผู้ร้องว่ามีการเชิญ ส.ว.บางส่วนไปรับประทานอาหาร จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการตกลงบางอย่างกันก่อนมีการลงมติ ซึ่งกรณีการร้องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนนายภักดี โพธิศิริ ออกจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.นี้ จะมีการลงคะแนนลับในวันที่ 9 มีนาคม โดยจะใช้เกณฑ์เสียง 3 ใน 4 หรือประมาณ 112 เสียงของสมาชิกวุฒิสภาจึงจะถอดถอนนายภักดีพ้นจากตำแหน่งได้