ผ่าประเด็นร้อน
หลังจากได้ยินคนโน้นคนนี้พูดแย้มพรายออกมา ไม่ว่าจะเป็น วัฒนา เมืองสุข ที่ทำตัวเป็นผู้ประสานงานแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกสภา ว่าจะต้องมีการรื้อ-ยุบรวมศาล และองค์กรอิสระกันใหม่หมด เรียกเสียงฮือฮา เกิดเสียงโวยวายด่าทอกันดังลั่นตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อน จากนั้น นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกดันหลังให้ออกมาท่องบทเพื่อ “เบรกเกม” จะไม่มีการแตะต้องหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญที่เป็นหมวดที่ 1 และ 2 พร้อมทั้งยังโชว์ “ท่องจำ” เพิ่มเติมอีกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขทั้งฉบับ
ล่าสุดก็ถึงทีที่ ทักษิณ ชินวัตร “นายทุนใหญ่” ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณทางไกลระหว่างให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงสรุปท่าทีที่ชัดเจนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะ(ยัง)ไม่แตะต้องหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ หมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 แต่บอกว่าจะต้องมีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันศาลยุติธรรม และองค์กรอิสระทั้งหมวด
คำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของเขาสะท้อนให้เห็นชัดเจนโดยไม่ต้องตีความอะไรมากมาย เพราะชัดเจนแล้วว่า การแก้ไขคราวนี้แม้จะไม่ถึงกับฉีกทิ้งทั้งฉบับเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายของบรรดาลูกน้องทั้งที่เป็นสมาชิกรัฐสภาจำนวน 399 เสียงที่โหวตเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 291 ในวาระแรก รวมไปถึงพวกที่เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังพิจารณาแปรญัตติจะถูกถอดถอนหากให้ “แก้ไขทั้งฉบับ”
ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อ “กระแสต่อต้านที่ตีกลับ” ทำให้เขาต้องสั่งเบรกกระทัน ไม่แตะต้องในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ในหมวดที่ 1-2
แต่ที่เหลือนอกนั้น ทักษิณได้สั่งการให้รื้อเต็มพิกัด โดยเฉพาะในหมวดศาลยุติธรรม และองค์กรอิสระทั้งหมด ซึ่งอย่าได้แปลกใจที่ต้องทำแบบนี้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า ที่ผ่านมาเขาถูกองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันลงโทษ นั่นคือถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกในคดีซื้อที่ดินรัชดาภิเษกเป็นเวลา 2 ปี รวมไปถึงถูกศาลอาญาออกหมายจับในหลายคดี และก่อนหน้านั้นก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และถูกยึดทรัพย์สิน ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ เคยถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาห้ามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เป็นต้น
ภาพหลอนดังกล่าวนี่เองเชื่อว่า หากมีโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาก็ต้องการให้มีการรื้อองค์กรศาล และองค์กรอิสระเป็นคิดว่าเป็นอุปสรรคในทางการเมืองและในการทำ “ธุรกิจการเมือง” ของเขาอย่างแน่นอน
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเดินหน้ากันเต็มกำลังอยู่ตอนนี้ หลายคนเชื่อว่าต้องการเพิ่มอำนาจความเข้มแข็งให้กับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายบริหารมากขึ้นกว่าเดิม และยังเชื่อว่าการแก้ไขคราวนี้ทำเพื่อรองรับการกลับมามีอำนาจอีกรอบของ ทักษิณ ชินวัตร นั่นคือ มีวัตถุประสงค์สามประการที่ซุกซ่อนอยู่ก็คือ อำนาจการเมือง พ้นความผิด และได้ทรัพย์สินที่ถูกยึดไปกลับคืนมา ขณะเดียวกันเพื่อแผ้วถางทางไว้ล่วงหน้า ก็ต้องมุ่งไปที่องค์กรตรวจสอบดังกล่าวนี่แหละ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นท่าทีของทักษิณที่แสดงออกมาให้เห็นก็คือ การเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายเมืองผ่านทางสภา รวมทั้งฝ่ายบริหารคือรัฐบาล โดยสิ่งที่เขาต้องการก็คือการคัดเลือกองค์กรตามรัฐธรรมนูญหากมี เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น หรือแม้แต่ “ประธานศาลฎีกา” จะแก้ไขให้ต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภา ด้วย โดย ทักษิณ อ้างว่าต้องการให้ยึดโยงกับประชาชน
แน่นอนว่าคำพูดของทักษิณคราวนี้ เป็นการส่งสัญญาณชัดที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ว่าจะยังไม่มีการรุกเข้าไปรื้อในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง เนื่องจากเห็นว่ายังเสี่ยงเกินไป ทำให้การใหญ่ที่เหลืออาจจะพังครืนลงไปด้วย แต่สิ่งที่ต้องบอกว่า “เอาแน่” ก็คือ รื้อศาล-องค์กรอิสระ ที่เป็นภัยเฉพาะหน้าต่อตัวเขา นั่นคือการตรวจสอบการใช้อำนาจที่มิชอบนั่นเอง
สิ่งที่ต้องจับสัญญาณกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ นอกเหนือจากไม่แตะต้องหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงแล้ว โดยจะยังไม่เข้าไปแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะเดียวกันยังประกาศว่าจะไม่เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติกระทรวงกลาโหม ที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามเข้าไปล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพอีกด้วย ท่าทีดังกล่าวที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าเขากำลัง “ทำทีละเรื่อง” เน้นเฉพาะเรื่องเร่งด่วนก่อน นั่นคือเรื่องอำนาจทางการเมืองปลดพันธนาการให้พ้นไปจากตัวเสียก่อน เพราะคงประเมินแล้วเห็นว่าหากทำพร้อมกัน โดยเฉพาะการไปแตะสถาบันพระมหากษัตริย์ และกองทัพ ถือว่าเป็นการเร่ง “โหมไฟ” เกินความจำเป็น ดีไม่ดีจะพังก่อนกำหนดก็ได้
ดังนั้น ถ้าให้สรุปอีกครั้งก็ต้องบอกว่า นี่คือสัญญาณล่าสุดของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศให้สังคมและลิ่วล้อให้รับทราบว่าเขากำลังเดินหน้ารื้อระบบศาล และองค์กรอิสระให้เข้ามาอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายการเมือง ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา โดยเขาอ้างว่านี่คือการยึดโยงจากประชาชน ทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เพราะนี่คือประชาธิปไตยในทัศนะของเขา ส่วนจะตรงใจกับสังคมส่วนใหญ่หรือไม่ อีกไม่นานก็คงได้เห็นกัน
เพราะหากพิจารณากันอีกมุมหนึ่งศาลก็ทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย การรื้อศาลมันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปแตะต้อง “พระราชอำนาจ” ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง