รายงานการเมือง
“กลุ่มนิติราษฎร์-ครก.112”ประกาศเดินหน้าไม่หยุดไม่เลิก แม้หัวขบวน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จะกลายเป็นเหยื่อของความเห็นแตกต่างจนถูกรัวหมัดหน้าระบม กระทั่งมีเสียงเตือนให้นิติราษฎร์ทบทวนการเคลื่อนไหวด้วยเห็นว่า
หากยังเดินหน้าต่อไป อาจเกิดเหตุรุนแรงกับกลุ่มนิติราษฎร์ได้ เนื่องจากการที่สองพี่น้องฝาแฝด สุพจน์ ศิลารัตน์ และสุพัฒน์ ศิลารัตน์ที่เข้าทำร้ายร่างกาย วรเจตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฏร์ เข้ามอบตัวหลังก่อเหตุหนึ่งวัน ก็เพราะจำนนต่อหลักฐานจากกล้องวงจรปิดในธรรมศาสตร์ ถึงหากไม่มอบตัว ตำรวจก็สามารถสืบสวนไปถึงตัวทั้งสองคนได้เพราะเห็นทั้งใบหน้าและเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ทั้งคู่ขับขี่ชัดเจน
สุดท้ายคู่แฝด เลยโดนแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ที่คดีตำรวจจะส่งตัวฟ้องยังศาลแขวงดุสิตไปตามขั้นตอน
แต่หากเป็นการก่อเหตุที่อื่น นอกรั้วมหาวิทยาลัย สถานที่ซึ่งลับตาคน ไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีตำรวจไปดูแลความปลอดภัยให้ ไม่มีระบบตรวจตราการเข้าออกสถานที่เหมือนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วรเจตน์อาจจะหนักมากกว่านั้น
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนซึ่งต่อต้านนิติราษฎร์ ก็ไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่มีใครอยากเห็นอาจารย์ในนิติราษฎร์ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่มีใครคนไหนต้องการให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นแน่นอน
แต่คำถามมีว่า หากการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ยังดำเนินต่อไป แล้วถ้าเกิดเหตุการเผชิญหน้ากันของกลุ่มหนุนนิติราษฎร์กับกลุ่มต่อต้าน ไม่ว่าจะในรั้วธรรมศาสตร์หรือนอกรั้วธรรมศาสตร์ บรรดา คณาจารย์ นิติราษฎร์จะรับมือไหวหรือไม่ จะควบคุมแนวร่วมของตัวเองได้หรือไม่
อันนี้คือสิ่งสำคัญที่กลุ่มนิติราษฎร์ต้องคิดให้ดี หากจะมุ่งเดินหน้าต่อไป ในสถานการณ์ที่มองเห็นแนวโน้มอยู่ว่า อาจเกิดเหตุเผชิญหน้ากันขึ้นแน่นอนในอนาคต
ยิ่งหากกลุ่มนิติราษฎร์และกลุ่มรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือครก. 112 ใช้วิธีการเดินสายรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไข 112 เพื่อให้ได้ 1 หมื่นรายชื่อจะได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร ทั้งที่ทุกพรรคการเมืองแม้แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งมีส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ก็ประกาศมาตลอดว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไข 112
แค่ในกรุงเทพมหานคร เช่นการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังมีทั้งกลุ่มต่อต้าน-กลุ่มสนับสนุน มาจดๆจ้องๆ จะเผชิญหน้ากัน
การที่กลุ่มครก. 112 ดื้อใช้วิธีเดินสายหาแนวร่วม ด้วยการไปจัดกิจกรรมและล่ารายชื่อประชาชนในต่างจังหวัดอย่างถี่ยิบ ตระเวนทั้งเหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันออก ที่แน่นอนว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของครก. 112 จะทำได้ แต่นิติราษฎร์และครก. 112 ก็ต้องตระหนักด้วยว่าการไปจัดกิจกรรมกันที่ต่างจังหวัด ที่ระบบการป้องกันย่อมสู้ที่กรุงเทพมหานครไม่ได้ มีโอกาสเสี่ยงสูงจะเกิดเหตุเผชิญหน้ากันได้ หากมีการจัดตั้งมวลชนทั้งสองฝ่ายออกมาเจอกัน
ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือเสียหน้าแต่อย่างใด หากนิติราษฎร์จะทบทวนบทบาทการเคลื่อนไหว
ถ้าไม่ได้แก้ไขม. 112 บ้านเมืองมันจะล่มสลายกันหรืออย่างไร นิติราษฎร์ซึ่งเคลื่อนไหวมาร่วมหลายเดือน ก็ยังตอบคำถามนี้ให้สังคมไม่ได้ นอกจากแถไปเรื่อย
แต่หากจะเคลื่อนไหวกันแบบเอาให้ได้ ก็แล้วแต่ แต่เสียงเตือนจากหลายฝ่ายที่ให้นิติราษฎร์สรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกลุ่มต่างๆ ก็ควรที่นิติราษฎร์ต้องรับฟังเช่นกัน ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
ไม่ใช่จะรั้นเอาชนะคะคานกัน อย่างฝ่ายครก. 112 เห็นข่าวว่าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไปเดินสายจัดกันที่อีสานคืออุบลราชธานี และภาคกลางคือระยอง สองวันเดินสายไปแล้วสองจังหวัด กะหาแนวร่วมให้ได้มากที่สุด
ทั้งที่แกนนำครก.112 อย่าง “อาจารย์ยิ้ม ขวัญใจคนเสื้อแดง” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ก็บอกเองว่าการเดินสายไปต่างจังหวัด มีกลุ่มต่อต้านที่ไม่เห็นด้วยเรื่อง 112 แม้แต่ส.ส.ในพื้นที่ซึ่งครก.112 ไปเดินสายก็ยังมาขอร้องไม่ให้ทำกิจกรรมในพื้นที่ แต่ยังไม่มีเหตุรุนแรง
สังคมเลยข้องใจ แล้วจะให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นก่อน ถึงค่อยคิดจะทบทวนหรือยกเลิกกันหรืออย่างไร ?