“คำนูณ” ค้านยุบศาลปกครอง เผยเป็นเจตนาดั้งเดิมของ “ปรีดี” ตั้งแต่ 2475 อีกทั้งใช้เวลาต่อสู้มายาวนานกว่าจะได้ศาลนี้มา พร้อมระบุข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญมีแต่จะทำประเทศถอยหลังเข้าคลองไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี ด้าน “พิชาย” ตั้งข้อสังเกตคนชก "วรเจตน์" อาจถูกว่าจ้างมา เหตุเป็นคนไม่สนใจการเมือง ไม่น่าถึงขั้นลงมือทำร้าย หวั่นมีการปั่นกระแสทำความขัดแย้งขยายตัว แนะต้องไม่หนุนความรุนแรง อย่ามีส่วนร่วมกับกระบวนการนี้
วันที่ 1 ก.พ. เมื่อเวลา 20.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
จากกรณีข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง นายคำนูณกล่าวว่า ความเห็นส่วนตัว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เท่าไหร่ เพราะมีวิวัฒนาการไม่มาก ก่อนหน้านี้เป็นรูปแบบตุลาการรัฐธรรมนูญ เพิ่งมายกระดับเป็นศาลรัฐธรรมนูญไม่นาน ที่มาก็เปลี่ยนไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานมั่นคง แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็มาจากศาลฎีกา สมมติกลับไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ก็ไม่น่ามีผลเปลี่ยนแปลงในเชิงสารัตถะมากนัก
แต่ถ้าศาลปกครองอยากให้ทุกคนคิดมากๆ แม้มองว่าเพิ่งก่อตั้งมา 11-12 ปี แล้วเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่อันที่จริงแล้วมีวิวัฒนาการมายาวนาน เป็นแนวคิดของอ.ปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส ประสงค์เอารูปแบบของเคาน์ซิลออฟสเตด (Council of State) ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของศาลปกครองมาใช้กับประเทศไทย ท่านตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาขึ้นมาตอนปี 2476 แต่ว่ามีเสียงคัดค้านมากว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม คณะกรรมการกฤษฎีกาเลยทำหน้าที่เพียงร่างกฎหมาย จากนั้นก็ยังมีความพยายามหลายครั้งในประวัติศาสตร์ก่อนปี 2500 ที่ต้องการเพิ่มกรรมการวินิจฉัยเรื่องราวร้องทุกข์ให้เป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่สำเร็จ
คดีปกครองเป็นการดูแลคดีระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ต้องการความชำนาญพิเศษ ต้องการหลักกฎหมายเฉพาะ ในแวดวงวิชาการต่อสู้มาระหว่างความเป็นศาลเดี่ยวกับศาลคู่ คณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่งมามี 2 ขาครบถ้วนคือกรรมการร่างกฎหมาย กับกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในปี 2522 ยุคที่ ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่าเป็นครั้งแรกที่อุบัติศาลปกครองขึ้น โดยยังไม่ใช้ชื่อว่าศาลปกครอง
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าทำให้ระบบศาลคู่หรือศาลปกครอง กลับไปเป็นระบบศาลเดี่ยว เป็นเรื่องน่าเศร้า พัฒนาการการต่อสู้ต่างๆที่ให้ได้ศาลนี้มามันจบเลย เพียงเพราะว่านักการเมืองคาใจว่าศาลก้าวล่วงอำนาจบางอย่าง
นายคำนูณกล่าวอีกว่า บรรยากาศแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่เอื้อ มันควรเป็นบรรยากาศที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมระดมความเห็น อย่างตอนกำเนิดรัฐธรรมนูญปี 40 บรรยากาศดีกว่านี้เยอะ แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันถูกทำให้เป็นการเมือง ยากที่จะได้รัฐธรรมนูญที่ดี
ทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญที่พูดกันมา ดูแล้วถอยหลังเข้าคลองไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี โลกทุกวันนี้ทางวิชาการเขาเลิกพูดกันเรื่องทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 อำนาจแล้ว และก็เลิกพูดถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิตบัญญัติแล้ว เพราะมันถ่วงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกประชาธิปไตย แต่เป็นวิวัฒนาการต่อไป แล้วก็มีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆเกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งบ้านเราทำตั้งแต่ปี 40 แต่ถ้าวันนี้ถ้าจะกลับไปก่อนปี 40 คือทุกอย่างตัดสินกันที่การเลือกตั้ง ตัดสินกันที่สภา เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ถ้าเผื่อในช่วง 1 ปีจากนี้ไป ทิศทางเป็นอย่างนั้น ประเทศไทยจะตกอยู่ในกำมือของนักการเมืองและกลุ่มทุนที่ตั้งพรรคอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ตนคิดว่าไม่ง่าย
นายคำนูณยังกล่าวถึงกรณีทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ว่า เราไม่ควรยินดีกับเรื่องเหล่านี้ ความรุนแรงเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันจะมีต่อเนื่องหยุดไม่ได้ อันนี้ไม่ดี แล้วตนก็อ่านในเฟซบุ๊ก ในทวิตเตอร์ ไม่อยากให้เกิดบรรยากาศยินดี เชิดชู อยู่เฉยๆ ดีกว่า ทำอย่างนั้นยิ่งเข้าทางของฝ่ายตรงข้ามให้เกิดปัญหาขึ้นมา
แต่ขอตั้งข้อสังเกต คดีนี้ตำรวจเข้ามาดูแลหนักหนาสาหัสมาก ถ้าตนเป็นนายเอกยุทธ อัญชันบุตร คงน้อยใจ ถูกชกที่โรงแรงห้าดาว ซึ่งมีวงจรปิด แต่บัดนี้ยังหาคนทำไม่เจอ
ด้าน นายพิชายกล่าวว่า ดูลักษณะนิสัยส่วนตัวจากเฟซบุ๊กของคนชก เป็นคนที่ชอบเล่นปืน ชอบฟังเพลงร็อก ตามตัวมีรอยสัก เคยมีคดีชกต่อย ท่าทางเป็นนักเลง แต่บอกว่าไม่ได้สนใจการเมือง ทีนี้คนไม่สนใจการเมืองมาก่อน แต่อินถึงขั้นทำร้ายคน ตนคิดว่ายาก คนที่มาดักรอเพื่อทำร้าย น่าจะเป็นคนที่สนใจการเมืองและอินจัดจนทำร้ายคนที่ไม่เห็นด้วย แต่อยู่ๆคนแบบนี้มาชกนายวรเจตน์ ตนคิดว่าผิดปกติ
ประเด็นที่บอกว่าชกเพราะความคิดเห็นต่าง อันนั้นตัดออก ตนว่าไม่จริง ลักษณะของปรากฎการณ์อันนี้ไม่ได้เห็นต่าง แต่มาจากสาเหตุอื่น อาจถูกจ้างวานมา โดยผู้ก่อเหตุอยู่ในปทุมธานี ซึ่งเป็นถิ่นของเสื้อแดง ก็มีความเป็นไปได้ที่เสื้อแดงบางส่วน อาจไปว่าจ้างเพื่อเลี้ยงกระแสมาตรา 112 ที่เริ่มแผ่วไปแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ปูทางสร้างความชอบธรรมที่อาจทำให้เกิดปรากฎกาณ์แบบนี้ในกลุ่มนักวิชาการอื่นๆ ที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายนายวรเจตน์ก็ได้ อีกกรณีอาจเป็นคนฝ่ายขวา ที่ไม่พอใจนายเวรเจตน์ในการเสนอแก้มาตรา 112 ก็เลยจ้างมาสั่งสอน
อย่างไรก็ตาม ปฏิกริยาที่เกิดขึ้น นายวรเจตน์กลายเป็นฮีโร่ของเสื้อแดง ส่วนผู้ก่อเหตุกลายเป็นฮีโร่ของคนที่ไม่ชอบนายวรเจตน์ เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ดี เพราะมันจะมีผลต่อเนื่องที่ตามมา ทำให้ความขัดแย้งแผ่ขยายวงไปได้ง่าย แม้กรณีนี้ดูไม่รุนแรง แต่เป็นไปได้ที่จะมีคนเอาไปปั่นกระแสให้ขยายออกไป สร้างเป็นเงื่อนไขให้คน 2 กลุ่มขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น และอาจเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ความรุนแรงขึ้นมาได้ จุดยืนพันธมิตรฯชัดเจน เราไม่สนับสนุนความรุนแรง และต้องไม่ให้ท้ายด้วย ไม่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการนี้