xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเตรียมปิดเตาปฏิกรณ์เครื่องสุดท้ายวันนี้ ครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ที่ไร้พลังงานนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งสุดท้ายของญี่ปุ่น ที่ยังคงเดินเครื่องอยู่ จะปิดการใช้งานในวันนี้ (5) เพื่อตรวจสภาพตามระยะเวลา โดยจะทำให้ประเทศแห่งนี้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 42 ปี และเป็นเวลา 1 ปีกว่าหลังเผชิญอุบัติภัยปรมาณูครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

ฮอกไกโด อิเล็กทริก พาวเวอร์ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าโทมาริ ในเมืองฮอกไกโด เผยว่า พวกเขาจะเริ่มใส่แท่งควบคุม เพื่อหยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ในเวลา 17.00 น.วันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เตาดังกล่าวเข้าสู่ภาวะปิดแบบเย็น (cold shutdown) ราววันจันทร์ (7)

การปิดเตาปฏิกรณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งญี่ปุ่น ประเทศกระหายพลังงาน แต่ขาดทรัพยากร จะไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ อันเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 1 ใน 3 ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้กันทั้งประเทศ จนกระทั่งเกิดการเมลต์ดาวน์ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

ภัยพิบัตินิวเคลียร์ อันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องทิ้งบ้านช่องในบริเวณรอบโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ บางรายไม่สามารถกลับไปได้อีกเลย แม้จะไม่ได้คร่าชีวิตผู้ใดโดยตรง แต่วิกฤตนี้ก็ทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้ที่ดินมากมายไม่สามารถเพาะปลูกได้ เนื่องจากปนเปื้อนกัมมันตรังสี

เมื่อเตาปฏิกรณ์ทั้ง 4 เครื่อง ณ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้จากภัยธรรมชาติ ก็ก่อให้เกิดความหวาดระแวงพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสียจนไม่มีเตาปฏิกรณ์ใด ที่ถูกปิดไปเพื่อตรวจเช็กความปลอดภัย ได้รับอนุญาตให้เดินเครื่องได้อีกนับแต่นั้น

เมื่อปฏิกิริยาฟิชชันยุติลงในคืนวันนี้ เตาปฏิกรณ์ที่ยังเสถียรทั้งหมด 50 แห่งของญี่ปุ่น ก็จะออฟไลน์ไป แม้จะมีข้อเรียกร้องเร่งด่วนมากขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และหน่วยงานอย่างโออีซีดี ซึ่งเกรงถึงผลเสียที่จะตามมาต่อเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ให้ไฟเขียวเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ ที่โรงไฟฟ้าปรมาณูโออิ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท คันไซ อิเล็กทริก ทว่า ผู้มีอำนาจยังต้องชักจูงใจผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าแห่งนั้นเสียก่อน

ขณะนี้ เพื่อที่จะเติมเชื้อเพลิงได้อีกครั้ง เตาปฏิกรณ์ทั้งหลายต้องผ่านการทดสอบมาตรการของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ และยังต้องได้รับความยินยอมจากชาวบ้านผู้อยู่ในชุมชนละแวกนั้น อันเป็นอุปสรรคด่านสุดท้ายที่ยากจะเอาชนะไปได้

กำลังโหลดความคิดเห็น