xs
xsm
sm
md
lg

“ตุ๊ดตู่” ทำธุรกิจทิ้งปริศนาชวนคิด ซุกทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชำแหละถุงเงิน “จตุพร” พบปี 45 หอบเงิน 8.6 ล้านร่วมหุ้น หจก. ต่อมาปี 49 ร่วมทำธุรกิจ 11 ล้านบาท แต่แจ้ง ป.ป.ช.มีทรัพย์แค่ 5.3 ล้าน วิเคราะห์ยอดต่างอย่างน้อยอาจซุกทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.กว่า 3 ล้านบาท หากคิดไกลกว่านั้นเงินจากการขายหุ้น 11 ล้านบาทสูญหายหรือหลงลืมไว้กับใครหรือไม่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอิศรา ได้ไขปริศนาตัวเลขธุรกิจ 7 แห่งที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถือหุ้นรวม 19.6 ล้าน เมื่อนำมาหักลบกับทรัพย์สินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ปรากฏว่ามีทรัพย์สินน้อยกว่าที่ควรเป็น เข้าข่ายซุกทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ ดังนี้

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 นายจตุพรกับพวกจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.สยามเชนจ์ พอยท์ ทุน 5 ล้านบาท รับเหมาก่อสร้าง ถมดิน ขุดดิน ปรับหน้าดิน นายจตุพรถือหุ้น 1,600,000 บาท

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 จดทะเบียนจัดตั้ง หจก.3 แห่ง ได้แก่ 1. หจก.วิชั่น แอนด์ ซีนะรี ทุน 5 ล้านบาท ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ผลิตสื่อโฆษณา นายจตุพรถือหุ้น 4,000,000 บาท 2. หจก.ศรีหมวดเก้า ทุน 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ขุดถ่านหิน ขุด ขนแร่ต่างๆ นายจตุพรถือหุ้น 1,000,000 บาท และ 3. หจก.บุตรตะวัน ทุน 5 ล้านบาท ประกอบกิจการ ถมดิน ขุดปรับหน้าดิน ขายซื้อที่ดินทั้งหมด และ ประกอบกิจการขนถ่ายขุดถ่านหิน แร่ต่างๆ ทำเหมืองแร่ทั้งหมด นายจตุพรถือหุ้น 1,000,000 บาท

วันที่ 12 มีนาคม 2545 จดทะเบียนจัดตั้ง หจก.ศรีสมุย ลองสเตย์ ทุน 5 ล้านบาท แจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแก่ชาวไทยและต่างชาติเพื่อเป็นสมาชิกประกอบธุรกิจท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ประกอบกิจการอำนวยความสะดวกในการจองที่พัก โรงแรม ในโครงการที่พักระยะยาว และประกอบกิจการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาโครงการพัฒนาโครงการหมู่บ้าน นายจตุพรถือหุ้น 1,000,000 บาท

รวมเงินลงทุนของนายจตุพรใน หจก.5 แห่ง 8.6 ล้านบาท จากทั้งหมด 25 ล้านบาท โดยหจก.ทั้ง 5 แห่งมีที่ตั้งเลขที่เดียวกัน เลขที่ 69/12 อาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง ชั้น 12 โซนเอ ถนนวิภาวดีรังสิต สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ และไม่ได้แจ้งผลประกอบการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและแจ้งเลิกกิจการพร้อมกันวันที่ 24 ธันวาคม 2547

ต่อมาในช่วงขับเคลื่อนทางการเมืองปลายปี 2549 ปรากฏข้อมูลว่านายจตุพรมีเงินลงทุนอย่างน้อย 2 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 100 บาท รวม 1 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มสัดส่วนเป็น 100,000 หุ้น เท่ากับ 10 ล้านบาท (วันที่ 18 มกราคม 2550 บริษัท เพื่อนพองน้องพี่ จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท) และ 2. บริษัท พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน จำกัด (โทรทัศน์ PTV) 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เท่ากับ 1 ล้านบาท

รวมเงินลงทุน 2 แห่งของนายจตุพร 11 ล้านบาท (ต่อมานายจตุพรได้โอนหุ้นทั้งสองบริษัทให้บุคคลอื่นในช่วงเดือนตุลาคม 2550) เท่ากับนายจตุพรมีเงินลงทุน 7 แห่ง 19.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรณีการจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.5 แห่งของนายจตุพรกับพวกนั้นอาจมาจาก 3 แนวทาง

แนวทางแรก นายจตุพรกับพวกต้องการทำธุรกิจจริงๆ เพราะในช่วงที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด 5 แห่ง เกิดขึ้นในช่วงพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และมีโครงการประชานิยมจำนวนมาก บริษัทที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอาจได้รับอานิสงส์ เห็นได้จาก การจัดตั้ง หจก.ศรีสมุย ลองสเตย์ ได้ระบุวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

“1. ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแก่ชาวไทยและต่างชาติ เพื่อเป็นสมาชิกประกอบธุรกิจท่องเที่ยวพำนักระยะยาว 2. ประกอบกิจการอำนวยความสะดวกในการจองที่พัก โรงแรม ในโครงการที่พักระยะยาว และ 3. ประกอบกิจการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาโครงการพัฒนาโครงการหมู่บ้าน”

แต่ต่อมาได้กลับใจ จึงยกเลิกกิจการดังกล่าว

แนวทางที่ 2 นายจตุพรกับพวกได้เงินมาก้อนหนึ่ง ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร? จึงจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นมา โดยใช้ที่ตั้งเดียวกัน แล้วก็ “ปล่อยกู้” ให้ตัวเองและพวกพ้อง เสร็จแล้วแจ้งเลิกกิจการ

แนวทางที่ 3 นายจตุพร “รับอาสา” นำเงินจากพรรคพวกมาบริหารจัดการโดยจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากนั้นก็ปล่อยกู้กลับคืนไปให้พรรคพวกและแจ้งเลิกกิจการ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นแนวทางแรกและแนวทางที่สอง เท่ากับข้อเท็จจริงในช่วงเวลาปี 2545 นายจตุพรมีเงินลงทุนอย่างน้อย 8.6 ล้านบาท

กรณีการถือหุ้น บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด และ บริษัท พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน จำกัด จำนวน 110,000 หุ้น มูลค่า 11 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2549 - ปลายปี 2550 นั้น

แนวทางแรกนายจตุพรอาจนำเงิน 8.6 ล้านบาทดังกล่าวบวกกับเงินอีกจำนวนหนึ่ง มาลงทุนร่วมกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับพวกใน บริษัท เพื่อนพ้อง น้องพี่ จำกัด และ บริษัท พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน จำกัด ต่อมาก็ถอนหุ้นออกก่อนเลือกตั้งปลายปี 2550

แนวทางที่ 2 เงิน 8.6 ล้านบาท เป็นคนละก้อนกับเงินลงทุน 11 ล้านบาท ซึ่งเงิน 11 ล้านบาทอาจเป็นเงินส่วนตัวของนายจตุพรเอง หรือไม่ทราบที่มา แล้วนำมาลงทุน 2 บริษัทดังกล่าว เท่ากับในช่วงปลายปี 2550 นายจตุพรมีทรัพย์สินอย่างน้อย 19.6 ล้านบาท

เมื่อนำมาเปรียบเที่ยบกับ การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินในช่วงปลายปี 2550 นายจตุพรได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนตำแหน่งระบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 22 มกราคม 2551 มีทรัพย์สิน 8,050,892.2 บาท แบ่งเป็น

เงินฝาก 5 บัญชี 2,599,939.46 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 99/92 หมู่ 4 แขวงคลองถนน เขตสายใหม่ กรุงเทพฯ 2,700,000 บาท รถยนต์ 2 คัน ทะเบียน สอ 2535 กรุงเทพมหานคร 1,750,800 บาท คันที่ 2 ทะเบียน ชศ 2535 กรุงเทพมหานคร มูลค่า 999,312 บาท รวมมูลค่า 2,750,122 บาท บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (นอกสมรส) 1 คน มีเงินฝาก ธนาคารออมสิน 1 บัญชี 840.96 บาท ส่วนหนี้สินมีเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 2,750,112 บาท เบ็ดเสร็จมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 5,300,780.2 บาท

เห็นได้ว่าทรัพย์สินที่แจ้ง ต่อ ป.ป.ช.ครั้งแรกใกล้เคียงกับเงินลงทุน 8.6 ล้านบาท

ถ้าคิดแบบหยาบๆ ก็คือ ทรัพย์สินที่แจ้ง ป.ป.ช.เป็นก้อนเดียวกับ 8.6 ล้านบาท

ประเด็นปริศนาก็คือเงินอีกก้อนที่นายจตุพรได้จากการขายหุ้น 2 บริษัทมูลค่านับสิบล้านบาทสูญหายหรือหลงลืมไว้กับใครหรือไม่?

แหล่งที่มา : ข่าว ไขปริศนา! “ตู่-จตุพร” ถือหุ้น 7 แห่ง 19.6 ล้าน -ซุกทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่? โดย สำนักข่าวอิศรา
กำลังโหลดความคิดเห็น