เวลาจนตรอกขึ้นมา เพราะจนมุมด้วยข้อเท็จจริง หรือถูกจับโกหก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ชอบใช้วิธีเอะอะโวยวาย ส่งเสียงดัง ทำตาถลึง เล่นสำบัดสำนวน เฉไฉไปประเด็นอื่น และใช้มุกเก่าๆ ว่าผมเป็นสารวัตรกองปราบฯ รู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร ผมเป็นด็อกเตอร์ทางกฎหมาย อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น
อีกวิธีหนึ่งคือ ข่มขู่ คุกคาม ด้วยการแจ้งความ กล่าวหาคู่กรณีว่าหมิ่นประมาท ใช้วิธีนี้เมื่อไร คนที่เดือดร้อนไม่ใช่คนที่ถูก ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวหา แต่เป็นผู้กำกับ และสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจแสมดำ เพราะจะต้องถูก ร.ต.อ.เฉลิมไล่บี้ให้ออกหมายเรียก ให้ออกหมายจับ เรียกตัวผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวนโดยเร็ว หลังจากนั้นก็บี้ให้รีบมีความเห็นส่งฟ้องไปยังอัยการ
ร.ต.อ.เฉลิม นิยมใช้บริการสถานีตำรวจแสมดำ เพราะใกล้บ้าน การใช้วิธีแจ้งความ แทนที่จะตั้งทนายไปฟ้องศาลเอง ตำรวจเองปกติมีคดีรกโรงพักมากอยู่แล้ว ต้องมีงานเพิ่มขี้นโดยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการพิทักษ์สันติราษฎร์เลย แต่ต้องสนองอารมณ์ ร.ต.อ.เฉลิม ถือว่าเป็นการใช้เจ้าพนักงานที่กินเงินเดือนซึ่งมาจากภาษีประชาชน เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตน
บางครั้ง ทำสำนวนส่งไปยังสำนักงานอัยการแขวง 7 (ธนบุรี) แล้ว ภารกิจของสารวัตรสอบสวนแสมดำยังไม่จบ เพราะอัยการอาจจะสั่งให้ตำรวจไปดูว่า คนที่ถูก ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวหานั้น มีคดีประเภทเดียวกันนั้นอีกไหม คดีไปถึงไหนแล้ว เพื่อใส่ลงไปในสำนวนสอบสวนนั้นด้วย ตั้งใจเอากันให้ตายไปเลย ไม่รู้ว่ามีใครไปสั่งให้อัยการทำแบบนี้เหรือเปล่า
เรื่อง ร.ต.อ.เฉลิม เมาไวน์แล้วเข้าไปอาละวาดในสภาฯ ถ้า ร.ต.อ.เฉลิมเป็นคนจริง ทำผิดแล้วยอมรับผิด ขอโทษประชาชน เรื่องก็จบ ไม่มีใครอยากถือสาหาความอยู่แล้ว แต่กลับแก้ตัวข้างๆ คูๆ เอาสีข้างเข้าถู ทั้งๆ ที่คนได้เห็นได้ยินกันทั้งบ้านทั้งเมือง
ร.ต.อ.เฉลิมยังใช้วิธีเดิมๆ คือ ให้คนไปแจ้งความตำรวจต่อ สน.แสมดำ กล่าวหา น.ส.รังสิมา รอดรัศมี นายเทพไท เสนพงศ์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับหนังสือพิมพ์อีก 6 ฉบับว่าหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยการกล่าวหาว่า ร.ต.อ. เฉลิมเมาเหล้าเข้าสภาฯ
หนังสือพิมพ์ทั้ง 6 ฉบับที่ถูกแจ้งความได้แก่ เอเอสทีวีผู้จัดการ ไทยโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก สยามรัฐ และแนวหน้า ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถูกข่มขู่ตามนิสัยตำรวจว่าถ้าไม่ยอมเป็นพยาน ปรักปรำเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกันก็อาจจะถูกกล่าวหาด้วยอีกฉบับ
ไม่มีใครกลัวหรอก เพราะหนังสือพิมพ์นั้นถูกฟ้องมาเยอะ การแจ้งความฟ้องร้องหนังสือพิมพืครั้งนี้ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นนิสัยเดิมๆ ของ ร.ต.อ.เฉลิมที่ชอบข่มขู่คุกคาม คนที่รู้ตนไปทั่ว เฉพาะคดีนี้ ข้อเท็จจริงนำสืบง่ายมาก ถ้าหนังสือพิมพ์ที่ถูกฟ้องร้อง จะขอให้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา หรือนักข่าวทำเนียบ ไปให้การกับตำรวจถึงพฤติกรรม ร.ต.อ.เฉลิมในคืนนั้น และพฤติกรรมการเสพสุราที่ทำอยู่เป็นนิจ ความจริงก็จะปรากฏต่อพนังานสอบสวน เรื่องอาจจะไม่ถึงอัยการก็ได้
คนที่จะเดือดร้อนไม่ใช่คนที่ถูก ร.ต.อ.เฉลิมแจ้งความ แต่เป็นผู้กำกับสถานีตำรวจแสมดำ เพราะจะต้องถูก ร.ต.อ.เฉลิมกดดันให้ส่งฟ้องจนได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง เป็นเรื่องของคนเมาที่บอกว่าตัวเองไม่เมา
อย่างไรก็ตาม การแจ้งความดำเนินคดีต่อหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับในครั้งนี้ ถือว่าเป็นพฤติกรรมคุกคามสื่ออย่างชัดจน เพราะข่าวที่หนังสือพิมพ์รายงานไปนั้น เป็นการรายงานตามหน้าที่สื่อมวลชน ร.ต.อ.เฉลิม เป็นนักการเมือง ต้องยอมรับการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมในที่สาธารณะระหว่างการทำหน้าที่ที่เป็นเรื่องส่วนรวม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิมอ้างว่า ไม่ได้กินเหล้าเมาเข้าสภาฯ ที่หน้าแดงเพราะออกกำลังกายมา ที่เดินเซเพราะเป็นโรคที่หมอด้านหู คอ จมูก บอกว่า เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกคือ โรคก้านหูอักเสบ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมทั้ง 6 บับที่ ถูกแจ้งความก็ลงให้ตามนั้น ครั้งที่ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ยังใช้บังคับถือว่าเป็นข้อยกเว้น ไม่ต้องรับผิด เพราะได้แก้ข่าวให้แล้ว
การแจ้งความดำเนินคดีหนังสือพิมพ์ทั้ง 6 ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม จึงไม่ใช่การใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้วยความอาฆาต เพราะหนังสือพิมพ์รายงานข่าวไปตามหน้าที่ ไปตามข้อเท็จจริงทีปรากฏ ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม แก้ข่าว ก็ลงให้หมด
ผู้ที่ควรตระหนักในเหตุผลข้อนี้มากกว่าใครทั้งหมด คือ องค์กรวิชาชีพสื่อ ที่มีหน้าที่ปกป้องการทำงานของสมาชิก อย่างสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อย่าไปเอาเหตุผลของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่อ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย มาเป็นเหตุผลของสมาคม ให้เสียเกียรติภูมิที่นักข่าวรุ่นพ่อ รุ่นพี่ สั่งสมกันมา