ผบ.ทบ.ยืนยันจำเป็นต้องใช้ทหารพรานปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีความเหมาะสมทั้งงานด้านการข่าว มวลชน เข้าใจพื้นที่ เตรียมส่งเพิ่มอีก 2 กรม รับเหตุการณ์ยิง 4 ศพเพราะทหารพรานชุดปัจจุบันยังด้อยประสบการณ์ เหตุเพิ่งบรรจุเข้าใหม่ ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงแล้ว
พล.ต.ดิฎฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รม น.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ใช้ทหารหลักแทนทหารพรานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่เกิดเหตุทหารพรานยิงรถกระบะต้องสงสัยจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บอีก 4 คนที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในภารกิจหน้าที่ของการใช้ทหารพรานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน. โดยสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนา เมื่อปี 2547 จนต้องมีการระดมทหารหลักจากกองทัพภาคที่ 1-4 ลงไปในพื้นที่เป็นจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เล็งเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทำให้สูญเสียกำลังทหารที่ใช้ในการป้องกันอธิปไตยของ ประเทศในกองทัพภาคต่างๆ รวมถึงงบประมาณ จึงให้มีการนำกำลังทหารพรานมาใช้ เพื่อให้กำลังทหารหลักในกองทัพภาคที่1-3 กลับไปทำหน้าที่ในพื้นที่ของตัวเอง
“ทหารพรานมีขีดความสามารถเหมาะที่จะปฎิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านการข่าว มวลชน ทำได้มีประสิทธิภาพ สำหรับการจัดตั้งทหารพรานก็ใช้เวลาไม่นาน สามารถยุบหรือเรียกรวมตัวได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการฝึกก็กินเวลาสั้น เพราะเป็นการฝึกจรยุทธ์ เพื่อเข้าถึงในพื้นที่ที่มีความลำบาก และทหารพรานมีความชำนาญในพื้นที่ป่าเขา นอกจากนี้ยังเป็นคนในพื้นที่สามารถเข้าใจวัฒนธรรม ประเพณีได้เป็นอย่างดี”
พล.ต.ดิฎฐพรกล่าวว่า สำหรับกำลังทหารหลักที่ต้องฝึกตามขั้นตอนซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณมาก ทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าทหารพรานเหมาะสมที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้ ขอให้สังคมเข้าใจ และเห็นใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทหารพรานปัจจุบันเพิ่งได้รับการบรรจุและค่อนข้างใหม่ ประสบการณ์ในการทำงานอาจจะมีน้อย และมีความกระตือรือร้น ตื่นตัวในการปฎิบัติงานตามแผนของผู้บังคับบัญชา จึงอาจจะมีความบกพร่องผิดพลาดได้
พล.ต.ดิฏฐพรกล่าวว่า ขณะนี้ ผบ.ทบ.ยังยืนยันความจำเป็นใช้ทหารพราน และไม่มีการถอนออก โดยขณะนี้กำลังทหารพรานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 7 กรม และในเดือน มี.ค.นี้จะมีการเพิ่มเติมอีก 2 กรม ทหารพรานลงไปในภาคใต้ ซึ่งทหารพรานมีความคล่องตัว สามารถลดจรยุทธ์ ไม่ต้องแบกอาวุธปืนไร้แสงสะท้อนถอยหลัง (ปรส.) ปืน ค.81 แต่จากเหตุการณ์ความสูญเสียดังกล่าว ทางผู้บังคับบัญชา กอ.รมน. รัฐบาล เห็นใจทั้งผู้เสียหายและผู้ปฎิบัติหน้าที่ โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ระบุว่าขอให้รอผลการสอบสวนของคณะกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริง เชื่อว่าเมื่อผลออกมาจะเป็นที่ยอมรับต่อสังคม ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยในพื้นที่ 3 จังหวัดได้กระทำด้วยความเสียสละ ซึ่งทุกคนมีแนวคิดตรงกันอยากให้ประเทศชาติกลับมาสงบเรียบร้อย
“เหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ เหมือนเวลาคนเดินผ่านหน้าบ้านแล้วเอาก้อนหินขว้างเข้ามาในบ้าน แต่กว่าเราจะออกมาดู คนที่ขว้างก็เดินผ่านไปแล้ว แต่มีคนใหม่เดินมาแทน เราก็เข้าใจว่าคนนี้ต้องทำแน่ เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เข้าใจว่ารถต้องสงสัยเป็นรถที่ก่อเหตุ เมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้รถคันต้องสงสัยหยุดแต่ไม่หยุด ด้วยความตกใจรถคันดังกล่าวจึงแตะเบรกทำให้รถไหลเบี่ยงไปทางข้างทาง เจ้าหน้าที่จึงคิดว่าจะหนี ซึ่งตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 จำนวน 13 คน โดยแบ่งเป็นคณะกรรมการอิสระที่ได้จากผู้แทนชุมชน ผู้แทนผู้เสียหายจำนวน 8 คน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ 5 คน โดยจะใช้เวลาการตรวจสอบ 1 เดือน”