xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “8 ปี ไฟใต้ บทเรียนและทางออก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “8 ปี ไฟใต้ บทเรียนและทางออก”

จากเหตุการณ์คนร้ายปล้นปืน จำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญลักษณ์ของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นเงื่อนงำ ของคนที่ในพื้นที่ ว่า อาวุธปืนจำนวนมากที่หายไปจาก ค่ายปิเหล็ง ไม่ว่าจะมาจากการปล้นของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบจริง หรือ ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ตามที่หลายคนเคลือบแคลง ตั้งแต่วันนั้นมา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ความรุนแรงรายวัน’ เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีผู้บาดเจ็บ และ ล้มตาย เป็นจำนวนมาก

วันที่ 4 ม.ค.2555 จึงเป็นวันครบรอบ ‘เสียงปืนแตก’ รอบใหม่ของปลายด้ามขวาน ที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้นับได้ 8 ปีเต็ม ซึ่งในห้วง 7 ปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาล หลายชุด หลายสมัย ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาล และระดมหน่วยกำลังมากมายลงมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อดับไฟแห่งความรุนแรง แต่ก็ยังไร้ผล สถานการณ์ความรุนแรงก็ยิ่งหนักขึ้น เกิดเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้ง ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ ต้องสังเวยไปเป็นจำนวนมาก

จากเหตุการณ์คนร้ายได้ปล้นอาวุธปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมานั้น มีอาวุธปืนถูกปล้นชิงจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอีกหลายต่อหลายครั้ง รวมไปถึงเหตุการณ์ปล้นฐานพระองค์ดำ หรือ ฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ที่ บ้านมะรือโบ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 ที่ผ่านมา แต่จำนวนอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปกลับถูกปิดเป็นความลับตลอดมา

จากการตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก พบรายงานของหน่วยงานความมั่นคงระบุว่า อาวุธปืนที่ถูกปล้นไปทั้งหมดตลอด 8 ปี มีมากถึง 1,629 กระบอก แยกเป็นอาวุธปืนที่ถูกปล้นจากกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 จำนวน 413 กระบอก ถูกปล้นจากฐานพระองค์ดำเมื่อวันที่ 19 ม.ค.54 อีก 65 กระบอก นอกนั้นเป็นอาวุธปืนที่ถูกปล้นจากเหตุร้ายรายวันต่างๆ ซึ่งในขณะเดียวกันมีรายงานว่า หน่วยงานความมั่นคง สามารถติดตามปืนคืนได้เพียง จำนวน 484 กระบอก แยกเป็นปืนเอ็ม.16 จำนวน 140 กระบอก อาก้า จำนวน 66 กระบอก อาวุธปืนพกสั้น จำนวน 203 กระบอก ลูกซอง 53 กระบอก เอชเค จำนวน 15 กระบอก และอื่นๆ อีก จำนวน 7 กระบอก

ส่วนอาวุธปืนจากฐานพระองค์ดำ ติดตามยึดคืนได้ 3 กระบอก เป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก และอูซี่ จำนวน 1 กระบอก (ข้อมูลถึงสิ้นปี 2554) ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีอาวุธปืนชนิด และ ขนาดต่างๆ อยู่ในมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีข้อมูลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืน และ หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่าจากการตรวจพิสูจน์ 4,989 กรณี มีการยิงซ้ำด้วยปืนกระบอกเดียวกันจำนวน 678 ครั้ง ทำให้ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมีอาวุธปืนหมุนเวียนสำหรับใช้งานมากกว่า 600 กระบอก (ไม่นับรวมปืนที่ซุกซ่อนหรือฝังเอาไว้) ข้อมูลจากศูนย์ข่าวอิศรา

ในวันนี้ 4 ม.ค.55 ที่ ห้องประชุม ชั้น 2 ภายในอาคารเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ นำโดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “8 ปี ไฟใต้ บทเรียนและทางออก” เพื่อนำทุกองค์กรในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงของตำรวจ ทหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน และ นักวิชาการทุกแขนง นั่งทบทวน และค้นหาข้อสรุปที่จะนำไปใช้ในการกำหนดก้าวอย่างต่อไปในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อนำความสงบสุขกลับมาสู่พื้นที่ต่อไป

ด้าน ผช.ศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรีถึง 6 ท่าน ในการเข้ามาแก้ปัญหาความสงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแม่ทัพภาค ที่ 4 ถึง 7 ท่าน มี ผบ.ตร.หลายท่าน ถามว่าบทเรียนที่ผ่านมา เป็นอย่างไร ตนเองคิดว่า เห็นผลเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว ว่าเป็นอย่างไร ในวันนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงความรุนแรงอยู่พอสมควร ซึ่งก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หรือหยุดไปเลย หลายฝ่ายก็คงต้องหันมาทบทวน ว่าสิ่งที่ทำมาในอดีต ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่ก็มีความล้มเหลว ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะฉะนั้น การใช้ความรุนแรง หรือ การใช้การทหาร นำการเมือง ตรงนี้เป็นคำตอบที่ประจักษ์ว่า คงใช้ไม่ได้ผล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องหันกลับมาใช้ภาคประชาสังคม ใช้ประชาชนเป็นฐานกำลังหลัก ในการต่อสู้ทางความคิด ฉะนั้นก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ ภาคประชาสังคม ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งตนเองมองว่าคนภายนอกจะเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้นั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะวิถีชีวิต และ บริบทต่างๆ ความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ อาจจะห่างไกลสักหน่อย ซึ่งตนเองก็มั่นใจว่าในพื้นที่ ขณะนี้ โดยเฉพาะในส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 3 จังหวัด เป็นคนในพื้นที่ เกิดในพื้นที่ ในส่วน เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คนใหม่ ก็พยายามที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในพื้นที่

ตรงนี้ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จะทำอย่างไร ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามารับฟังความคิดเห็นของประชาชน คือ ประชาชนจะอยู่กันอย่างไร ? ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องย้อนถามตัวเองว่า จะให้พี่น้องประชาชนอยู่อย่างสงบสุขได้อย่างไร ? สำหรับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คำที่กินใจมากที่สุดคือ เราจะไม่ทอดทิ้งกัน หมายความว่าอย่างไร ในท้ายที่สุด ส่วนที่สำคัญที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คำตอบก็ต้องอยู่ที่พี่น้องประชาชนต้องร่วมมือกัน

ด้านการอำนวยความยุติธรรม ให้กับประชาชนในพื้นที่ ตนเองมองว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ยังประสบปัญหา แม้แต่ทีมงานของทนายความ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังขาดแคลน ก็ต้องมีการสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย

สำหรับในเรื่องการสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภาพรวมถือว่าดีขึ้นมาก บางส่วนเริ่มเข้าทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่หากถามว่าจะเข้าไปนั่งในหัวใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ หรือไม่นั้น คำตอบตรงนี้ ตนเองคิดว่าก็คงจะยาก เพราะที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนต่างได้รับความบอบช้ำ จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังภาพในด้านลบที่ยังฝั่งใจอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น