xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก รบ.ผิดคิว แหกคำสั่งห้ามแถลงโครงการยืดอายุพักหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฐิติมา ฉายแสง
โฆษกรัฐบาลผิดคิวทิ้งทวน แหกคำสั่งห้ามแถลงโครงการยืดอายุพักหนี้ เหตุไม่ตรงที่หาเสียง หลังมีเกษตรกรเข้าโครงการแค่ 6.8 หมื่นราย

วันนี้ (7 ก.พ.) นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการแสดงเจตจำนงเข้าโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย และประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท โดยให้ขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2555 จากเดิมที่ให้มีการเปิดให้เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

โดยขณะนี้มีเกษตรกรมายื่นแสดงความจงแล้ว 68,460 ราย คิดเป็นมูลหนี้ ประมาณ 8,511.81 ล้านบาท หรือประมาณ 8.83% ของจำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิทั้งหมด ที่ 777,090 ราย มูลหนี้ 90,502.55 ล้านบาท

นอกจากนี้ ให้มีการผ่อนปรนเกณฑ์การแสดงหลักฐานยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 โดยให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่มีหลักฐานการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 15 เมษายน 2555 ซึ่งหมายความว่า ลูกค้าสามารถใช้หลักฐาน ภ.ง.ด.91 และ ภ.ง.ด.90 สำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2554 เป็นหลักฐานการขอเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ สาเหตุที่มีเกษตรกรเข้ามายื่นแสดงความจำนงน้อยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากระยะเวลาที่เปิดให้ลูกค้ามายื่นแสดงความจำนงเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อกับลูกค้าเพื่อชี้แจงโครงการและสิทธิให้ลูกค้ารับทราบ ในขณะที่ลูกค้าเองก็ไม่สามารถเดินทางมาแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการได้

นอกจากนี้ การกำหนดสิทธิให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าวของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดการและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ ต้องมีหลักฐานการยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งหมายถึง ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 สำหรับเงินได้ในปี 2553 ซึ่งเป็นการยื่นแบบล่วงหน้าของรายได้ปี 2554 แต่ลูกค้าที่มีอาชีพค้าขายรายย่อยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะลูกค้าของ ธพว. และธนาคารออมสิน ไม่มีหลักฐานดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถยื่นความจำนงเพื่อเข้าร่วมโครงการได้

“ครม.พิจารณาข้อเสนอของทางกระทรวงการคลังแล้ว และยังยืนยันว่า เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องใช้ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ด้วย เพราะถือเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญ แต่ก็ได้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในส่วนนี้ให้เบาลง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกร” นางฐิติมา กล่าว

แหล่ง ข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีดังกล่าว โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เสนอกับที่ประชุมครม.ว่า เรื่องนี้ไม่ควรแถลงข่าว โดย ร.ต.อ.เฉลิม อ้างว่า นโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไม่ได้พูดเรื่องนี้ แต่พูดเรื่องการพักหนี้เกษตรกรที่มีไม่ถึงห้าแสนบาท ใครที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลก็ไม่จ่ายหนี้อยู่แล้ว ธ.ก.ส.อาจไม่เข้าใจ ต่อมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารเอ็นพีแอลเป็นเรื่องที่ ธ.ก.ส.ต้องจัดการไม่ใช่นำงบประมาณของรัฐบาลไปดำเนินการ

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวกับที่ประชุม ครม.ว่า ช่วงหาเสียงให้พรรคเพื่อไทยนั้น ปราศรัยว่า ใครที่มีหนี้ต้องไปหาหนี้เพิ่มให้ถึง 5 แสนบาท หากหนี้ถึงแล้วจะพักชำระหนี้ให้เกษตรกร นโยบายนี้เกิดขึ้นผิดจังหวะในช่วงนี้ แต่ย้ำว่า นโยบายนี้จะมีขึ้นแน่นอนในอนาคต ทั้งนี้ ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม และ นายณัฐวุฒิ ได้ย้ำกับทางทีมโฆษก ว่า ไม่ต้องแถลงเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน เพราะไม่เป็นผลดีกับพรรค

แต่เนื่องจาก นางฐิติมา ซึ่งนั่งอยู่ในห้องประชุม แต่ไม่มีสมาธิฟัง หลังประชุม ครม.เสร็จ ได้นำเรื่องนี้มาแถลง สร้างความแปลกใจให้กับคณะโฆษกอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น