xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ปะทะ “วรเจตน์” ตัดไฟ ม.112 ก่อนลุกลาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมคิด เลิศไพฑูรย์
“สมคิด” แจง “นิติราษฎร์” เลยเถิดจากวิชาการ เป็นเคลื่อนไหวทางการเมือง เหตุสั่งงดใช้พื้นที่หวั่น สร้างความแตกแยกบานปลาย “วรเจตน์” ท้าชน ถ้าผิดกฎหมาย ผิดวินัย พร้อมถูกดำเนินคดี ปัดโยงพรรค “แม้ว” ไม่สนเล่นการเมือง

กรณีการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิบการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นแชนแนล ว่าเป็นธรรมดาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะมีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองตลอดเวลา กรณีของนิติราษฎร์ที่ผ่านมาตนอนุญาตให้ใช้สถานที่มาโดยตลอด มีคำถามจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ก็มาก ว่าทำไมให้จัดอยู่ ตนเป็นอธิการบดีก็ต้องรับฟังคนจากทุกฝ่าย ต้องดูว่ามีเหตุมีผล มีหลักการอย่างไร ถ้าตนทำตามเสียงเรียกร้องซึ่งมีเสียงเรียกร้องมานานแล้วตั้งแต่แรกๆ ที่นิติราษฎร์ออกมา ทั้งนักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และคนนอก

ในตอนแรกๆ ก็เห็นว่าไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการแสดงความคิดเห็น ทำตามสิทธิ เสรีภาพตามปกติ ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์มีความคิดใหม่ๆ ทางการเมือง แม้คนจะไม่เห็นด้วย ไม่ใช่สิ่งที่อธิการบดีจะไปสกัดกั้น ซึ่งการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร การแก้ไขมาตรา 112 บางเรื่องตนก็เห็นด้วยโดยหลักการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ไม่ใช่นิติราษฎร์คิดคนแรก เคยมีหลายคนคิดเรื่องนี้ ตนก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เห็นด้วยว่าทำรัฐประหารไม่ได้ แต่เมื่อลงในรายละเอียด อย่างมาตรา 112 ตนไม่เห็นด้วย เพราะว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่อยู่ที่การบังคับใช้ กฎหมาย พอนิติราษฎร์แตะว่าจะแก้กฎหมาย ก็เกิดปัญหา

หลักการแก้กฎหมายยังไม่มีอะไร เขาล่ารายชื่อหมื่นชื่อเข้าสภา เปิดประเด็นมีรายละเอียดมาก การร่างตัวบทกฎหมาย การลงรายละเอียด พอเสนอมาเป็นแพกเกจก็มีปัญหา มีข้อถกเถียงตามมา มีคนมาโต้แย้งทีละประเด็น กลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่ามีการใช้ ม.112 อย่างพร่ำเพรื่อ กลุ่มนิติราษฎร์คิดว่าปัญหาอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ตนเห็นว่าเรื่องตัวบทกฏหมายไม่จำเป็นต้องแก้ไข ส่วนเรื่องอัตราโทษอาจมีปัญหาบ้างว่าโทษหนักไป แต่ศาลก็สามารถมีดุลยพินิจได้ ตนเห็นว่าประเด็นเรื่องอัตราโทษสามารถแก้ไขได้

ดร.สมคิดกล่าวว่า การที่คนกลุ่มหนึ่งอยากแก้กฎหมายก็เป็นสิทธิที่ทำได้ การที่นิติราษฎร์เสนอเรื่อง ม.112 กับเรื่องหมิ่นสถาบันฯ เป็นคนละเรื่องกัน อยากให้วิจารณ์ เนื้อหาที่นิติราษฎร์เสนอ ไม่อยากให้ใช้อารมณ์ ความรู้สึก ไม่อยากให้พูดประเด็นอื่น

วันนี้ คนที่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 มีน้อยมาก มีคนที่ออกมาคัดค้าน ตนจึงงดให้ใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวการเมือง แต่ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรมทางวิชาการ การ แสดงความคิดเห็นยังสามารถทำได้ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองน่าเป็นห่วง คนที่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์มีน้อย แต่คนคัดค้านมีเต็มบ้านเต็มเมือง แต่อย่างไรก็ ตามความถูกต้องไม่ได้วัดที่จำนวน ควรสนใจที่เหตุผลในการที่ออกมาคัดค้าน

ทางคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่า เริ่มมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวไปสู่การเมือง นำไปสู่ความไม่สบายใจของทั้งคนใน มหาวิทยาลัยและคนนอกมหาวิทยาลัย ตามต่างจังหวัดเริ่มเคลื่อนไหว รัฐบาลก็ออกมาพูด คนเสื้อแดง คนที่เคยหนุนอ.วรเจตน์ก็ออกมาคัดค้าน เริ่มรู้สึกว่ามันลุกลามขยายตัวไป ขยายตัวทางด้านอื่นที่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น มีความขัดแย้งกัน ในสังคมการใช้เสรีภาพโดยสันติสุขนั้นยากพอสมควร คิดว่าจะมีปัญหาตามมา และเรื่องที่ อ.วรเจตน์ถูกข่มขู่คุกคาม ตนเชื่อว่าเป็นจริง ถ้านิติราษฎร์ยังไม่หยุดจะมีคนคัดค้านมากขึ้น อาจมีคนใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงมาล้อม มาทำอะไร ถ้ามีคน มาขัดแย้งมากๆ ก็มีปัญหา ตนเป็นอธิการบดีก็ต้องรับผิดชอบ

ดร.สมคิดกล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่คนที่ออกมาคัดค้าน ในอดีตที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ตำรวจก็ทำหน้าที่ มหาวิทยาลัยก็ทำหน้าที่ แต่เหตุการณ์ก็เกิดขึ้น แต่ตนไม่คิดว่าจะลุกลามเหมือนสมัย 6 ตุลา 2519 แต่ก็เกรงว่าจะลุกลามและไม่สามารถควบคุมได้ สมมติว่ากลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ขอจัดงานวันเดียวกันกับกลุ่มนิติราษฎร์จะทำอย่างไร มหาวิทยาลัย ตำรวจจะทำอย่างไร ถ้าทำอะไรได้ก็ไม่เกิดเหตุการณ์

ตนไม่ได้ห้ามการพูดเรื่อง ม.112 อนุญาตให้จัดอภิปราย หรือพูดคุยกับใคร อนุญาตทุกเรื่อง ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ไม่ได้ห้าม แต่ถ้ามหาวิทยาลัยเป็นเหตุของการแพร่ขยายความขัดแย้ง วันนี้เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารไม่มีผลสร้างความแตกแยกร้าวฉาน แต่วันหนึ่งวันใด ถ้านิติราษฎร์เคลื่อนไหวแล้วสังคมแตกแยก เกิดอันตรายต่อมหาวิทยาลัยและผู้คน วันนี้ตนเห็นว่า ม.112 เป็นปัญหา การพูดการใช้เสรีภาพทำได้ แต่ไม่ใช่เคลื่อนไหวทางการเมือง วันนี้ถ้ากลุ่มสยามประชาภิวัฒน์มาพูดเรื่อง ม.112 ตนก็ไม่ให้พูด เพราะวันนี้ประเด็นทางวิชาการ พูดกันหมดแล้ว

ตนต้องการส่งสัญญาณว่านิติราษฎร์ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ในเชิงวิธีการ ทำให้เกิดขัดแย้งของสังคมไทย ถ้าทุกคนพูดคุยด้วยท่าทีปกติธรรมดาตนไม่ห้าม ตอนนี้เป็นปัญหาที่รูปแบบ มีการระดมผู้คนมา มีการล่ารายชื่อ มีคนมาคัดค้าน มีคนมาเผาหุ่น ตนไม่เคยห้ามเคลื่อนไหวสามารถทำได้ทางวิชาการ แต่อย่าทำให้เป็นการ เคลื่อนไหวทางการเมือง

ดร.สมคิดกล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข ม.112 จะแก้เมื่อถึงเวลา ปัญหาเรื่องอัตราโทษ แต่เนื้อหาอื่นไม่เป็นปัญหา ยังไม่ถึงเวลา สังคมไทยรับไม่ได้ ดูได้ จากการคัดค้าน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ส. ส.ว. นักวิชาการ ไม่มีใครเอาเลย อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่านิติราษฎร์ไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพียงแต่เสนอ มุมมองที่แตกต่างไป ตนไม่เคยมองนิติราษฎร์ในเชิงลบ ไม่อยากมองว่าเกี่ยวโยงกับใคร แต่จะมองที่ข้อเสนอ ซึ่งอ.วรเจตน์ก็เป็นรุ่นน้องของตน สนิทกัน ตอนนี้แรง กดดดันอยู่ที่ อ.วรเจตน์มาก โดนเรื่องเนื้อหา ม.112 ตนโดนเรื่องไม่เปิดให้ใช้พื้นที่

อย่างไรก็ตาม อย่าไปข่มขู่คุกคาม อย่าไปกล่าวหาว่าเนรคุณ ล้มเจ้า ล้มระบบ ต้องสู้กันบนพื้นฐานทางวิชาการ เรื่องการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ ถ้ามองอย่างเป็น ธรรมนิติราษฎร์ไม่ได้ต้องการล้มเจ้า แต่มีผลโดยอ้อม ที่ทำให้สถานะของสถาบันกษัตริย์ตกต่ำลงไป เขาอธิบายว่าต้องการทำให้เทียบเท่าสากล คนก็รับไม่ได้ ในอดีต ม.112 ถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง กลุ่มนิติราษฎร์จับปัญหาถูก แต่วิธีการแก้ไขไม่ตรงกัน การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ ก็มีคนตั้งคำถามว่าไปเชื่อมโยงกับสีเสื้อ นิติราษฎร์พยายามอธิบาย แต่คนก็ไม่เชื่อ

อย่างเรื่องแยก ราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนออกจากกษัตริย์ในกรณีหมิ่น ให้เท่ากับหมิ่นคนทั่วไป หรือการหมิ่นกษัตริย์ไทยได้รับโทษน้อยกว่าหมิ่นผู้นำรัฐ ต่างประเทศ กลุ่มนิติราษฎร์อาจจะยังดูไม่รอบคอบในเชิงเนื้อหา และในเชิงวิธีการถ้าทำให้นุ่มนวลลง แต่นิติราษฎร์ได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มหนึ่ง ก็เริ่มขยายๆ การเคลื่อนไหว จนมันเลยจากวิชาการ ไปเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตอนนี้เท่าที่ทราบคือตนถูกห้ามจัดกิจกรรม รณรงค์ชี้นำ มวลชน สำหรับการเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 นั้น คณะกรรมการรณรงค์ หรือ ครก.112 จะเป็นหลัก ส่วนของนิติราษฎร์ในแง่กฎหมาย เราอธิบายไปหมดแล้ว นิติ ราษฎร์เป็นคนร่าง และอธิบายเนื้อหากฎหมาย ไม่ได้เป็นแกนนำเคลื่อนไหว ตอนนี้กระบวนการก็จบไปแล้ว เรื่องประเด็นขัดแย้งต่างๆ ก็ตอบไปหมดแล้ว

ส่วนเรื่องการระดมคน เรื่องแฟนคลับที่ติดตาม ตนไม่ทราบ เราจัดงานก็ไม่มีเงินทุน มีค่าใช้จ่ายบ้างอย่างเว็บไซต์ก็ลงทุนไม่มาก ออกเงินกันเอง เราจัดอภิปรายตาม ปกติหลังจากครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร มีคนมาร่วมมากขึ้นในช่วงหลังๆ การใช้หอประชุมก็มีค่าใช้จ่ายหมื่นกว่าบาท จึงทำเสื้อขายเพื่อจ่ายค่าหอประชุม นิติราษฎร์ไม่รับบริจาคเงินใดๆ ทั้งสิ้น แต่คนก็ไม่เชื่อ คนมองว่าเรารับเงิน ก็เป็นเรื่องของความคิดคน ส่วนคนที่มาฟัง มีคนเสื้อแดงมาฟัง ตนจะไปห้ามก็ไม่ได้

เรื่อง ม.112 นิติราษฎร์เสนอร่าง เพื่อปฏิรูปกฎหมายนี้ มีคนคัดค้านก็เป็นไปได้ แต่เราถือหลักการว่ากฎหมายนี้มีปัญหา เราก็คิดแก้ไข ไม่คิดว่าเป็นการเคลื่อนไหว ทางการเมืองอะไร มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อ ขอแก้ไขกฎหมายได้ เรื่อง ม.112 เป็นเรื่องกระทบต่อเสรีภาพร่างกาย เสรีภาพการแสดงความ คิดเห็น สุดท้ายก็อยู่ที่รัฐสภาว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมาย

ส่วนที่ว่านิติราษฎร์เป็นแขนซ้าย แขนขวาของใครนั้น ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ไม่มีครับ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็หนีจากนิติราษฎร์ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกถูกทิ้ง นิติราษฎร์มี 7 คน มีอิสระทางความคิด ไม่มีใครมาสั่งได้ เราทำบนพื้นฐานทางวิชาการบริสุทธิ์ ส่วนผลกระทบต่อการเมืองนั้นอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของตน อย่าดึงเราเข้าไปเกี่ยว เรื่องพรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณ คนเสื้อแดง ไม่เกี่ยวกันเลย แต่บางเรื่องไปถูกใจคนเสื้อแดง ตนจะไปห้ามได้อย่างไร เขาก็เข้ามาฟังกัน

ถ้าใครเห็นเราทำไม่ถูกกฎหมายก็ดำเนินการทางกฎหมายกับเรา เราทำอยู่ในกรอบของกฎหมาย รวมทั้งเรื่องวินัย มีการเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบวินัย ถ้าผิดก็ ดำเนินการตามสะดวก ถ้าคิดว่าผิดก็ตั้งกรรมการ และทำตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตามกระแสสังคม ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก ตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ได้ล้มเจ้า

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าสร้างความแตกแยก ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ในสังคมประชาธิปไตยมีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย มีความขัดแย้งทางความคิด เป็นเรื่องปกติมาก แล้วก็มา นั่งคุยกันด้วยเหตุผล ต้องฝึก ความแข็งแกร่งทางสติปัญญาจะได้เกิดขึ้น ถ้าเห็นว่าคนคิดไม่เหมือนกัน เราจะก้าวไปเป็นอารยะได้อย่างไร ทำไมถึงจะถอยจากความ เป็นมนุษย์ ทางมหาวิทยาลัยควรจะจัดให้คนมาพูดกัน ถ้าอะไรผิดกฎหมายก็ดำเนินคดีไป

เราทำร่างกฎหมาย เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่สื่อไม่ยอมลง คนที่โจมตีเราอ่านข้อเสนอเราหรือยัง ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการรายงานข่าวของสื่อ โจมตีฝั่งเดียว จะไม่เห็น ด้วยก็ได้ เราเสนอร่างกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิหมด แล้วมาพูดคุยกันว่าแบบไหนจะดีที่สุด

สำหรับเรื่องการให้งดใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย ตนรู้สึกว่าผู้บริหารแย่มาก การประกาศ การชี้นิ้วกล่าวหาว่าเราชี้นำมวลชน เราแค่แสดงความคิดเห็นออกไป ใครเห็นด้วยก็มา มหาวิทยาลัยควรจะจัดเวทีแล้วเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ถ้าสุดท้ายไม่แก้กฎหมายก็จบ ไม่เห็นเป็นปัญหา ที่บอกว่านิติราษฎร์เคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วตนจะได้อะไร ตนไม่ได้อะไรเลย ไม่มีตำแหน่งการเมือง ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ควรใช้ความรู้สึก การใช้อำนาจจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ ต้องใช้เกณฑ์ข้อกฎหมายใช้ข้อเท็จจริง หรือว่าเสียดแทงความรู้สึกที่มีคนเสื้อแดงมาเดินในมหาวิทยาลัย

เรื่องการถูกข่มขู่คุกคามก็มี ดร.วรเจตน์กล่าวว่า เราทำอะไรให้ส่วนรวม ทางขรุขระมีอุปสรรค เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็เดินต่อ ตนไม่ได้เล่นการเมือง ชอบอ่าน หนังสือ ชอบสอนหนังสือ

สำหรับปัญหาของ ม.112 เขากล่าวว่า ปัญหามี 3 ระดับ คือ ตัวบทกฎหมาย การนำไปใช้ และอุดมการณ์ที่กำกับการใช้มาตรานี้ คนที่โต้แย้งคัดค้านทราบไหมว่า กฎหมายมาตรานี้ถูกแก้ไขโดยคณะรัฐประหาร เป็นผลมาจากการล้อมฆ่านักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา 2519 ฝ่ายขวาไล่ฆ่านักศึกษา สร้างเรื่องราวว่าเป็น คอมมิวนิสต์ เป็นแกว เป็นญวน ล้มสถาบัน หลังจากนั้นก็แก้ม.112 เพิ่มโทษจำคุกเป็น 3-15 ปี ซึ่งกฎหมายนี้เกิดจากการรัฐประหารในปี 2519 ในเชิงหลักการแล้วอัตราโทษที่กำหนดขึ้น ต้องสมควรกับความผิด อัตราโทษต้องพอเหมาะพอประมาณ ต้องคำนึงถึงต่างประเทศด้วย เขามองเรา เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ โลกแคบลงทุกที ถ้าคิดว่าเรา ไม่ทำ ก็ใช้กฎหมายตราสามดวง ถ้าไม่อยากเป็นอารยะ เป็นสากล ก็ไม่ต้องแก้ไข ก็ใช้กฎหมายเก่า

สำหรับเรื่องการแยกมาตรา โดยแยกตำแหน่งกษัตริย์ออก กับตำแหน่งราชินี รัชทายาท ให้รับโทษลดหลั่นลงมา มาตราอื่นๆก็แยกตำแหน่งกษัตริย์ออก เพราะตำแหน่งกษัตริย์ต้องได้รับการคุ้มครองพิเศษกว่าตำแหน่งอื่นๆ ลองเอาตัวบทมาเปิดดูได้

เรื่องการนำไปใช้ และอุดมการณ์ในการกำกับการใช้กฎหมาย จะทำให้การตีความกฎหมายแตกต่างไป ถ้าผู้ใช้กฎหมายตีความว่าเราปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ การตีความก็จะไม่เหมือนกัน การอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะตีความอีกอย่าง วันนี้เราอ่อนไหวเรื่องนี้มาก

ตอนนี้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ คนพยายามจะรู้ในความคิดของคนอื่น กล่าวหากันง่าย ไม่ต้องพิสูจน์อะไรทั้งสิ้น ถ้าเชื่อแบบนี้ ก็เป็นเหมือนล่าแม่มด คนอ่านแต่ที่สื่อ พาดหัวข่าว ไม่อ่านเนื้อในของข่าว ตนไม่เคยขอเข้าพบผู้บัญชาการกงทัพบก แต่บอกว่าถ้ากองทัพจะให้ไปบรรยาย ให้ไปตอบคำถามต่างๆก็ยินดีจะไป เรื่องก็คลาดเคลื่อน สื่อก็ชอบรายงานเรื่องความขัดแย้ง

ดร.วรเจตน์กล่าวว่า การแก้ไข ม.112 ต้องดูในระยะยาว แก้ไขเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในระดับเดิม แต่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ดำรงความสง่างามตาม ประชาคมโลก ทั้งหมดในโลกยอมรับ ได้เกณฑ์เหมือนที่คนอื่นทำกัน สถาบันฯ จะต้องดำรงอยู่ไปตลอด ส่วนตัวบุคคลมาแล้วก็ไป ถ้าเรารักสถาบันฯ จะต้องปรับให้ เหมาะสมกับกาลสมัยด้วย ถ้าสถาบันฯอยู่นิ่งๆก็ลำบากที่จะคงอยู่ตลอด อย่าคิดว่าเป็นการลดโทษ หรือลดทอนอะไร ต้องคิดในภาพรวม ในเชิงโครงสร้าง การปรับ เปลี่ยนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันฯไม่ใช่การล้มเจ้า คนควรจะปรับเปลี่ยนวิธีคิด การดูถูกคนว่าซื้อได้ด้วยเงิน เท่ากับดูถูกตัวเอง ตนชัดเจน จะไม่เป็น ส.ส.ร.(สมาชิกสภา ร่างรัฐธรรมนูญ) จะขอแสดงความคิดเห็นอิสระ อยากให้เลิกป้ายสี เพราะไม่ทำให้เกิดสติปัญญา

การเสนอแก้ ม.112 จะมีการทำหมวดใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับพระเกียรติ และไปแก้กฎหมายเรื่องอื่นให้สอดรับกัน อย่างเรื่องการดูหมิ่นประมุขรัฐต่างประเทศ ต้องไปแก้ไข ถ้าทำต้องแก้ทั้งหมด เราก็เอาอันนี้เป็นหลัก อันอื่นก็มาปรับให้รับกัน ต้องแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆ แต่เวลาเสนอกฎหมายต้องโฟกัสเรื่อง ไม่งั้นประเด็นจะเข้า มามากไปหมด

การให้กษัตริย์ต้องปฏิญาณสาบานตน จุดยืนของเราเห็นว่าประชาธิปไตยไม่พัฒนา เพราะมีอำนาจนอกระบบ มีการปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องป้องกันการรัฐประหารให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันกลไกที่มีให้ไว้น้อยมาก จึงเสนอหลายเรื่องเพราะรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกฉีกได้ง่ายๆ ในหมวดการลบล้างผลพวง รัฐประหาร การแย่งชิงอำนาจ ให้มีความผิดทางอาญา ให้ดำเนินคดีได้ และอายุความให้เริ่มนับหลังจากอำนาจกลับคืนสู่มือประชาชน เป็นเทคนิคป้องกันการรัฐ ประหาร ส่วนการที่ให้กษัตริย์ก่อนขึ้นครองราชย์ต้องสาบานว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ ต้องทำก่อนขึ้นครองราชย์ ไม่ได้ใช้บังคับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน เป็นการทำในเชิงสัญลักษณ์ ทหารจะเห็นว่ากษัตริย์ทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นการกดดันพระมหากษัตริย์

ส่วนกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ม.112 มีแนวโน้มจะสำเร็จหรือไม่ ก็ว่ากันไปตามระบบ ก็จบ วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะมีการพูดอีกในอนาคต ตอนนี้ทุกคนทำหน้าที่ คนที่ไม่เห็นด้วยก็โต้แย้ง ใช้เหตุผลในการโต้แย้ง แต่อย่ามาบอกว่าไม่จงรักภักดี ล้มเจ้า เป็นคนไทยหรือเปล่า อย่าโต้แย้งจากอารมณ์ ความรู้สึก แล้วเราจะก้าวไปมี เหตุผลได้อย่างไร โดยเฉพาะสื่อมวลชน ยิ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ยิ่งต้องไม่ใส่อารมณ์ ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด วันนี้หลายคนบอกจะตัดคอตน เราจะ อยู่ในสังคมแบบนี้หรือ มแล้วตอนนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มาเป็นแบบนี้อีก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เหมือนเดิมมาตั้งนานแล้ว แม้การแก้กฎหมายจะไม่ สำเร็จ ถูกใครประณาม ก่นด่า วันหนึ่งข้างหน้าคนจะเข้าใจ ต้องใช้เวลา อนาคตคนจะเข้าใจ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
กำลังโหลดความคิดเห็น