xs
xsm
sm
md
lg

อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ!! “นิวัฒน์ธำรง” ไม่แทรกแซงสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
รายงานการเมือง

“แนวนโยบายของรัฐบาลต้องการให้สื่อของรัฐวางตัวเป็นกลาง ทำงานด้วยความรวดเร็ว มีหน้าที่ในการให้ความรู้กับประชาชน และประชาสัมพันธ์งานที่เป็นประโยชน์ โดยยืนยันว่าแม้จะเคยเป็นอดีตผู้บริหารกลุ่มชินวัตรก็จะไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อ ขอให้สบายใจได้ผมมีหน้าที่สนับสนุนนโยบายนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่เคยมีความคิดที่จะแทรกแซงการทำงานสื่อมวลชน แต่กลับมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนหรือการพัฒนาสื่อของรัฐต้องดำเนินการให้เป็นไปอย่างมีศักยภาพ และไม่หนักใจที่จะเข้ามาดูเรื่องของสื่อมวลชน”

ต้องบอกว่า “อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ” กับคำพูดข้างต้นของ “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลด้านสื่อสารมวลชน ตามการจัดวางของนายใหญ่ที่บงการมาจากดูไบ

เหตุผลที่ไม่เชื่อก็เพราะว่า คนเราสามารถตัดสินได้ว่าเขาโกหกหรือไม่ จากพฤติกรรมในอดีต

ก็ในเมื่อ “นิวัฒน์ธำรง” คือคนที่ทำลาย “ไอทีวี” จาก “ทีวีเสรี” ให้เหลือเพียงแค่ตำนานที่ไม่มีวันหวนกลับมา

วันนี้จะพลิกลิ้นบอกว่าไม่แทรกแซงสื่อ ใครเขาจะไปเชื่อ

จุดกำเนิดไอทีวีมาจากรัฐบาลอานันท์ ที่ต้องการสร้างทีวีเสรี หลังเผชิญวิกฤตสื่อในยุคพฤษภาทมิฬ ในการเสนอความจริงต่อสังคม กำหนดให้มีเนื้อหารายการข่าว 70% บันเทิง 30% เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และทำหน้าที่สื่อเสรีได้อย่างน่าชื่นชมมาโดยตลอด

จนกระทั่ง “เงาของทักษิณ” เข้าไปครอบงำทีวีแห่งนี้

เดือน พ.ย. 2543 กลุ่มชินคอร์ปสยายปีกเข้ามาถือหุ้นในไอทีวี ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักจากพนักงานฝ่ายข่าว จนเป็นที่มาของ “21 กบฏไอทีวี”

เสรีภาพในการทำข่าวของพนักงานไอทีวีถูกคุกคามอย่างรุนแรงในยุคที่ชินคอร์ปส่ง “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” จากรองประธานกรรมการบริหารชินคอร์ป มากินตำแหน่งประธานกรรมการบริหร บมจ.ไอทีวี อีกตำแหน่งหนึ่ง

ไอทีวียุคที่ “นิวัฒน์ธำรง” เป็นผู้บริหาร คือจุดเริ่มต้นความตกต่ำทางสิทธิและเสรีภาพของคนทำข่าวในไอทีวี

มี “ใบสั่ง” ห้ามทำข่าวที่เป็นผลลบต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรซึ่งขณะนั้นกำลังคั่วตำแหน่งนายกฯ โดยเฉพาะเรื่อง “ซุกหุ้น” และ “ปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์” เนื่องจากเกรงจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2544

นอกจากแทรกแซงเนื้อหาการนำเสนอข่าวแปรสภาพให้ไอทีวีกลายเป็น “ทีวีแม้ว” แล้ว ยุคที่ “นิวัฒน์ธำรง” เป็นผู้บริหารไอทีวี ยังมีคำสั่งเปลี่ยนตัวนักข่าวที่ถามจี้ใจดำทักษิณออกจากพื้นที่ สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวในรายการ “สายตรงไอทีวี” อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงข่าวเกี่ยวกับการซุกหุ้นและสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิด “กบฏไอทีวี” ต่อต้านทุนการเมืองครอบงำสื่อ คือ กรณีที่ผู้บริหารสั่งเรียกรถโอบีกลับสถานีขณะกำลังเดินทางไปทำข่าวการปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่พรรคไทยรักไทยที่ทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค ได้รับอภิสิทธิ์เช่ารถโอบีของไอทีวี เพื่อถ่ายทอดการปราศรัยของพรรคไทยรักไทยหลายครั้ง โดยไม่มีหนังสือหรือบันทึกถึงฝ่ายข่าวแม้แต่ครั้งเดียว

แถลงการณ์ของ “กบฏไอทีวี” ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารยุติการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าว ทำให้ทั้งหมดถูกเลิกจ้างในวันที่ 7 ก.พ. 2544 จำนวน 23 คน และมีการฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อขอความเป็นธรรม ในจำนวนนี้ไม่ฟ้องบริษัท 2 ราย

ปี พ.ศ. 2546 ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ กบฏไอทีวีทั้ง 21 คน ชนะคดี โดยผู้บริหารไอทีวีขณะนั้นต่อสู้ถึงชั้นฎีกา แต่ก็แพ้คดี

ประวัติแทรกแซงสื่อเพื่อนายขนาดนี้ มีหน้ามาบอกว่า “จะไม่แทรกแซงสื่อ” ใครเขาจะไปเชื่อ

แถมพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยก็ฉาวโฉ่อย่างยิ่งจากอีเมลซื้อสื่อของ “วิม รุ่งวัฒนจินดา”ซึ่งปัจจุบันขึ้นแท่นเป็นมือขวาของ “นิวัฒน์ธำรง” ในฐานะเลขาฯ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในยุค “ทักษิณ” เรืองอำนาจ ใช้วิธีแทรกแซง แทรกซื้อ แทรกซึม ซึ่งยังคงเป็นมรดกตกทอดมาถึง “รัฐบาลนกแก้วโคลนนิ่ง” เพียงแต่ยุคนี้พัฒนามากขึ้น ยังเพิ่มความน่ากลัวว่าด้วยการสยบยอมของ “สื่อหลัก” เช่นเครือ “มติชน” ก็เข้าข่ายถูกมองว่า เต็มใจรับใช้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และนายห้างดูไบอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ข่าวอวยชัยให้พรจนน่าอ้วก ปรากฏให้เห็นทุกวันบนหนากระดาษเปื้อนหมึกของสื่อที่ถูกสงสัยว่าเก็บจรรยาบรรณใส่ลิ้นชัก

6 เดือนภายใต้การบริหารของ “นายกฯ นกแก้ว” หนังสือพิมพ์ในเครือดังกล่าวทำข่าวเจาะเรื่อง เสื้อผ้า หน้าผม ชื่นชมความงาม “ปู-ยิ่งลักษณ์” เกินกว่า 10 ครั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาถึงกับมีการเสนอภาพชุดในหัวข้อ “อีกมุมน่ารักของนายกฯ ปูขณะร่วมงานวันชาติอินเดีย”

ก่อนหน้านั้นก็มีการเสนอภาพส่วนตั๊วส่วนตัวของ “ปู-ยิ่งลักษณ์” ระหว่างเที่ยวชมทัชมาฮาล

หวังกระชากเรตติ้งเรื่องความงามของผู้นำ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรงตามมาทั้งบนโลกอินเทอร์เน็ต และคอลัมนิสต์ที่ไม่สยบยอมต่อทุนสามานย์

ความเพียรพยายามที่จะหยิบยกแต่ความงามมาชื่นชม สะท้อนว่า สื่อเครือนี้จนปัญญาที่จะหามุมอื่นมาเยินยอ “ปูนิ่ม” เพราะสมองกลวงเกินกว่าจะเยียวยาได้

เมื่อไปเฉิดฉายบนเวทีดาวอส ก็ยังโชว์ความนิ่มตายคาเวทีจนยังวิพากษ์กันไม่เลิกอยู่ในปัจจุบัน

ความอ่อนด้อยทางปัญญาของคนเป็นผู้นำที่ถูกหมิ่นแคลนอย่างหนัก เป็นเหตุให้ยุทธการแทรกซึมถูกนำมาใช้ทันที ส่วนจะแทรกซึมได้เพราะ “แทรกแซง” หรือ “สมยอม” ต้องจับตาติดตามดูกันต่อไป

30 มกราคม 2555 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้นำเสนอบทความชื่อ “ประเทศไทยได้อะไรจากการไปร่วมประชุมดาวอส” เขียนโดย “นิรุตติ์ คุณวัฒน์” เนื้อหาไม่ต้องพูดถึงอวย “นายกฯ นกแก้ว” จนอ้วกได้หมดพุง

นั่นคงไม่มีอะไรที่ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับจรรยาบรรณสื่อสารมวลชนของ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” หากจะมีการนำเสนออย่างตรงไปตรงมาว่า บทความชิ้นนี้เขียนโดย “นิรุตติ์ คุณวัฒน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” สอดไส้บทความนี้ไว้ในส่วนของ “รายงานพิเศษ” ทั้งๆ ที่ในหัวข้อของบทความก็ปรากฏชัดว่าเป็นทัศนะจากผู้อ่าน

เหตุใดจึงไม่ไปจัดวางไว้ให้ถูกที่ถูกทาง

ที่ประหลาดไปกว่านั้นคือ บทความชิ้นนี้ลงซ้ำซ้อนในคอลัมน์ “รายงานพิเศษ” และ “ทัศนะผู้อ่าน”

บทความชิ้นเดียวกับ 2 คอลัมน์บนหน้าเพจของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์นานติดต่อกันถึง 2 วัน คือวันที่30-31 มกราคม 2555 และยังเหนียวหนึบติดหน้าเพจของ “กรุงเทพธรุกิจออนไลน์” ในคอลัมน์ทัศนะผู้อ่านมาถึงวันที่ 1 ก.พ.55

ผิดปกติหรือไม่ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ควรต้องให้คำตอบต่อสาธารณชน เพราะกรณีนี้ต้องบอกว่าส่อจะผิดจรรยาบรรณสื่อสามเด้ง

เด้งแรก คือ หลอกลวงผู้อ่านทำให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าบทความอวย “นายกฯ นกแก้ว” เกิดจากมันสมองของทีมงานกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เพราะจัดวางไว้ในคอลัมน์รายงานพิเศษ

เด้งที่สอง คือ ใช้พื้นที่นำเสนอบทความซ้ำซ้อนอย่างมีนัยยะสำคัญในการกู้ภาพลักษณ์ผู้นำประเทศที่กำลังถูกวิจารณ์ความล้มเหลวในเวทีดาวอส

เด้งที่สาม คือ บทความที่มีลักษณะการประชาสัมพันธ์โดยรัฐอย่างชัดเจนเช่นนี้ ถ้าทำแบบตรงไปตรงมาก็ต้องระบุตำแหน่งทางการเมืองของผู้เขียน คือ นิรุตติ์ คุณวัฒน์ ให้ชัดเจนว่าเขาคือ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อที่ผู้อ่านจะได้แยกแยะชั่งน้ำหนักได้ว่า สมควรที่จะให้ความเชื่อถือกับข้อมูลที่นำเสนอเพียงใด ไม่ใช่สอดไส้ใน “รายงานพิเศษ” และ “ทัศนะผู้อ่าน” ที่ดูเหมือนว่าเขียนจากสายตาของบุคคลภายนอกที่มองไปยังผู้นำประเทศ

ทั้งๆ ที่บทความชิ้นนี้ ก็แค่เอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของทีมงานปูแดงเท่านั้น

ว่าแต่ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะกล้าเผชิญหน้ากับความจริง เด้งรับผิดชอบเรื่องนี้ในฐานะสื่อมวลชนที่มีจรรยาบรรณหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ถ้าไม่ทำก็ขอแนะนำให้ผู้บริหารเครือเนชั่นยุบคณะนิเทศศาสตร์ทิ้งซะ เพราะมหาวิทยาลัยเนชั่น คงมิอาจสอนนักศึกษาในเรื่องจรรยาบรรณสื่อสารมวลชนได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น