xs
xsm
sm
md
lg

“วสิษฐ” ค้าน “นิติราษฎร์” แก้ ม.112 ชี้ พยายามลดฐานะพระมหากษัตริย์-เปิดช่องดูหมิ่นง่ายขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความ ว่าด้วยกลุ่มนิืติราษฎร์อีกครั้ง ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ใน นสพ.มติชนฉบับวันนี้ (31 ม.ค.)
อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ มองข้อเสนอ “นิติราษฎร์” แก้ไขมาตรา 112 พยายามลดฐานะของพระมหากษัตริย์ลง เปิดช่องหมิ่นประมาท-ดูหมิ่น-อาฆาตมาดร้าย ทำเหมือนประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์ เป็นประกันความมั่นคง ยอมไม่ได้ ขอประกาศตนคัดค้าน ชี้ พระมหากษัตริย์ในการปกครองแบบประชาธิปไตย ยังสำคัญ และจำเป็น ไม่หวั่นถูกมองกษัตริยนิยม แต่เป็นความรู้สึกจากการเห็นในหลวงสละพระราชหฤทัยและพระวรกายกว่า 60 ปี

วันนี้ (31 ม.ค.) หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ได้ตีพิมพ์บทความ “ว่าด้วยกลุ่มนิติราษฎร์อีกครั้ง” ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ โดยกล่าวว่า แม้ตนศึกษาความเป็นมาของกลุ่มนิติราษฎร์ และอ่านข้อเสนอของกลุ่มด้วยใจเป็นกลางแล้ว แต่อดรู้สึกไม่ได้ ว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์มีเจตนาอื่นแฝงเร้นอยู่ โดยเฉพาะการที่กลุ่มนิติราษฎร์ใช้คำว่า “กษัตริย์” แทนคำว่า “พระมหากษัตริย์” ที่คนไทยนิยมใช้เมื่อกล่าวถึงสถาบัน จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์มีเจตนาที่จะลดฐานะของพระมหากษัตริย์ลง

“ที่จริงคำว่า “กษัตริย์” ดั้งเดิมก็มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ผู้ป้องกันภัย หรือชาตินักรบบาลีว่าขัตติยะ (ขตฺติย) ในสังคมฮินดู ซึ่งแบ่งคนออกเป็นวรรณะหรือชั้นนั้น กษัตริย์เป็นวรรณะที่ 2 ใน 4 วรรณะ อีก 3 วรรณะ คือ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ไทยเรารับเอาคำ “กษัตริย์” มาใช้ให้หมายถึงผู้เป็นประมุขของประเทศ หรือพระเจ้าแผ่นดิน และนิยมเรียกว่า “พระมหากษัตริย์” ส่วนกษัตริย์ของประเทศอื่นนั้น เรียกว่า สมเด็จพระราชาธิบดี คำว่า “พระ” และ “มหา” ที่อยู่ในคำว่า “พระมหากษัตริย์” นั้น สะท้อนความเคารพสักการะที่คนไทยมีต่อสถาบันนั้นมาแต่โบราณ เมื่อกลุ่มนิติราษฎร์เรียกว่า “กษัตริย์” เฉยๆ จึงทำให้คนแก่หัวโบราณอย่างผมอดสงสัยไม่ได้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์มีเจตนาอยู่เป็นเบื้องต้นแล้ว ที่จะลดฐานะของพระมหากษัตริย์ลง” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวต่อว่า มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั้น อยู่ในภาค 2 ลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งความในมาตรา 112 และในประมวลกฎหมายอาญาภาคและลักษณะนั้นเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือของประเทศ และสะท้อนเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ยอมรับว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของชาตินั้น แยกกันไม่ได้หากจะให้บ้านเมืองอยู่ได้ก็ยังต้องมีพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม แม้สมาชิกบางคนของกลุ่มนิติราษฎร์ จะอ้างว่า ตนไม่มีเจตนาที่จะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และว่า ข้อเสนอของตนเป็นไปเพื่อเชิดชูสถาบัน แต่ข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอในวันที่ 26 ธันวาคม 2554 ที่ให้ยกมาตรา 112 ออกไปไว้ในส่วนใหม่ ที่ว่าด้วยเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยให้เหตุผลว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของบูรณภาพและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตนเห็นว่า ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากกลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่า ราชอาณาจักรไทย หรือประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องอาศัยพระมหากษัตริย์เป็นประกันความมั่นคง หรืออีกนัยหนึ่งเห็นว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทยต่อไปแล้ว

“ผมจึงขอประกาศด้วยบทความนี้ ว่า เป็นสิทธิของผมในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่จะไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะผมเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยยังสำคัญ และจำเป็นสำหรับประเทศไทย ผมอาจจะถูกหาว่าเป็น “อุลตร้ารอแยลิสต์ (ultraroyalist)” หรืออภิมหาราชนิยม หรือกษัตริยนิยม แต่ผมขอยืนยันว่า ทั้งสิ้นนี้เป็นความรู้สึกและความเห็นแท้ๆ ของผม ความรู้สึกและความเห็นที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากตำราฝรั่งภาษาใดเล่มใด หรือจากตำราไทยเล่มใดที่แปลงมาจากฝรั่ง แต่เป็นความรู้สึกและความเห็นที่เกิดจากการที่ได้เห็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สละพระราชหฤทัยและพระวรกาย “ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” (ซึ่งหมายรวมถึงบรรพบุรุษของผม ครอบครัวของผม และตัวผมด้วย) มาเป็นเวลากว่า 60 ปี เห็นพระองค์ทรงเผชิญกับรัฐบาลเผด็จการทหารและรัฐบาลพลเรือนทุจริตชุดแล้วชุดเล่า และเห็นผลลัพธ์คือความต่อเนื่องและยั่งยืนของเมืองไทยในปัจจุบัน” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมืองไทยที่คนไทยส่วนใหญ่ได้อาศัยเป็นที่ประกอบสัมมาชีพและมีความสุขพอควรแก่อัตภาพเมืองไทยที่คนไทยส่วนน้อยมีอิสรภาพเสรีภาพสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างและเรียกร้องเอาสิ่งที่ตนต้องการได้ ตราบเท่าที่ความเห็นที่แตกต่างและการเรียกร้องนั้น มิได้เป็นไปเพื่อทำลายสิ่งที่ผู้อื่นเคารพสักการะและเห็นว่ามีคุณค่าสำหรับเขา อาทิ ชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ สามสถาบันที่ทำให้เมืองไทยเป็นไทมาได้จนถึงวันนี้

สำหรับบทความของ พล.ต.อ.วสิษฐ มีดังต่อไปนี้

000

ว่าด้วยกลุ่มนิติราษฎร์อีกครั้ง

ทีแรกผมตั้งใจจะยังไม่เขียนเรื่องนิติราษฎร์กับมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาอีกเพราะเพิ่งเขียนไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้เอง แต่มีเหตุการณ์ไม่สู้ดีใหม่ๆ ปรากฏขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอดไม่ได้ ต้องขอเขียนอีก

เหตุการณ์ไม่สู้ดีใหม่ๆ ที่ว่านี้ คือ การที่มีหลายกลุ่มออกมาชุมนุมแสดงความเห็นคัดค้านกลุ่มนิติราษฎร์และในการแสดงความเห็นคัดค้านนั้น บางกลุ่มก็ส่อความรุนแรง เช่นกลุ่มที่ไปคัดค้านที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเผาหุ่นที่มีใบหน้าเหมือนคนสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ด้วย

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า ผมได้เคยเขียนติงกลุ่มนิติราษฎร์ไปแล้วในหน้านี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการที่ข้อเสนอของกลุ่มมีลักษณะจะให้มีมาตรการควบคุมพระมหากษัตริย์ ด้วยการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (ที่หากแก้ไขหรือร่างขึ้นใหม่ได้ตามที่กลุ่มนิติราษฎร์ต้องการ) ให้พระมหากษัตริย์สาบานพระองค์ก่อนครองราชย์ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้มีหลักประกันว่าทรง “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมได้เขียนไว้ในบทความว่า ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ต้องทรงประกาศต่อมหาสมาคมว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คำประกาศที่ถือกันว่าเป็นปฐมบรมราชโองการ (น่าจะเรียกว่าปฐมบรมราชปฏิญญา) นี้ ไม่ได้เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใด แต่เป็นไปตามโบราณราชประเพณี และมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับคำสาบานที่กลุ่มนิติราษฎร์ต้องการ

ผมศึกษาความเป็นมาของกลุ่มนิติราษฎร์ และอ่านข้อเสนอของกลุ่มแล้ว ต้องยอมรับว่าแม้จะพยายามศึกษาและอ่านด้วยใจเป็นกลางเพียงใด แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์มีเจตนาอื่น (ที่ไม่เปิดเผย) แฝงเร้นอยู่

กลุ่มนิติราษฎร์ใช้คำว่า “กษัตริย์” แทนคำว่า “พระมหากษัตริย์” ที่เราคนไทยนิยมใช้เมื่อกล่าวถึงสถาบันนั้น ที่จริงคำว่า “กษัตริย์” ดั้งเดิมก็มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่าผู้ป้องกันภัย หรือชาตินักรบบาลีว่าขัตติยะ (ขตฺติย) ในสังคมฮินดูซึ่งแบ่งคนออกเป็นวรรณะหรือชั้นนั้น กษัตริย์เป็นวรรณะที่ 2 ใน 4 วรรณะ อีก 3 วรรณะ คือ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ไทยเรารับเอาคำ “กษัตริย์” มาใช้ให้หมายถึงผู้เป็นประมุขของประเทศ หรือพระเจ้าแผ่นดิน และนิยมเรียกว่า “พระมหากษัตริย์” ส่วนกษัตริย์ของประเทศอื่นนั้น เรียกว่าสมเด็จพระราชาธิบดี

คำว่า “พระ” และ “มหา” ที่อยู่ในคำว่า “พระมหากษัตริย์” นั้น สะท้อนความเคารพสักการะที่คนไทยมีต่อสถาบันนั้นมาแต่โบราณ เมื่อกลุ่มนิติราษฎร์เรียกว่า “กษัตริย์” เฉยๆ จึงทำให้คนแก่หัวโบราณอย่างผมอดสงสัยไม่ได้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์มีเจตนาอยู่เป็นเบื้องต้นแล้ว ที่จะลดฐานะของพระมหากษัตริย์ลง

ผมขอตั้งข้อสังเกตอีกครั้งหนึ่งว่า มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั้น อยู่ในภาค 2 ลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ที่ผมใช้ตัวหนาและขีดเส้นใต้เอาไว้นี้ ก็เพื่อเน้นและเตือนท่านผู้อ่านว่า ความในมาตรา 112 และในประมวลกฎหมายอาญาภาคและลักษณะนั้นเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือของประเทศ และสะท้อนเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ยอมรับว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของชาตินั้นแยกกันไม่ได้หากจะให้บ้านเมืองอยู่ได้ก็ยังต้องมีพระมหากษัตริย์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้สมาชิกบางคนของกลุ่มนิติราษฎร์ จะอ้างว่า ตนไม่มีเจตนาที่จะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และว่าข้อเสนอของตนเป็นไปเพื่อเชิดชูสถาบัน แต่แล้วก็ “ข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” ที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอในวันที่ 26 ธันวาคม 2554 ปีกลายนี้นั้นเอง ที่ให้ยกมาตรา 112 ออกไปไว้ในส่วน (ใหม่) ที่ว่าด้วย “เกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” โดยเฉพาะ ยิ่งกว่านั้น กลุ่มนิติราษฎร์ยังให้เหตุผลด้วยว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ฯลฯ “ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของบูรณภาพและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

ผมอ่านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างไรๆ ก็ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่า กลุ่มนิติราษฎร์ เห็นว่า ราชอาณาจักรไทย หรือประเทศไทยไม่จำเป็นต้องอาศัยพระมหากษัตริย์เป็นประกันความมั่นคงต่อไปอีกแล้ว

หรืออีกนัยหนึ่ง กลุ่มนิติราษฎร์ เห็นว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทยต่อไปแล้ว

ผมจึงขอประกาศด้วยบทความนี้ว่า เป็นสิทธิของผมในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่จะไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะผมเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยยังสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศไทย

ผมอาจจะถูกหาว่าเป็น “อุลตร้ารอแยลิสต์ (ultraroyalist)” หรืออภิมหาราชนิยม หรือกษัตริยนิยม แต่ผมขอยืนยันว่า ทั้งสิ้นนี้เป็นความรู้สึกและความเห็นแท้ๆ ของผม ความรู้สึกและความเห็นที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากตำราฝรั่งภาษาใดเล่มใด หรือจากตำราไทยเล่มใดที่แปลงมาจากฝรั่ง แต่เป็นความรู้สึกและความเห็นที่เกิดจากการที่ได้เห็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สละพระราชหฤทัยและพระวรกาย “ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” (ซึ่งหมายรวมถึงบรรพบุรุษของผม ครอบครัวของผม และตัวผมด้วย) มาเป็นเวลากว่า 60 ปี เห็นพระองค์ทรงเผชิญกับรัฐบาลเผด็จการทหารและรัฐบาลพลเรือนทุจริตชุดแล้วชุดเล่า และเห็นผลลัพธ์ คือ ความต่อเนื่องและยั่งยืนของเมืองไทยในปัจจุบัน

เมืองไทยที่คนไทยส่วนใหญ่ได้อาศัยเป็นที่ประกอบสัมมาชีพและมีความสุขพอควรแก่อัตภาพเมืองไทยที่คนไทยส่วนน้อยมีอิสรภาพเสรีภาพสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างและเรียกร้องเอาสิ่งที่ตนต้องการได้

ตราบเท่าที่ความเห็นที่แตกต่างและการเรียกร้องนั้น มิได้เป็นไปเพื่อทำลายสิ่งที่ผู้อื่นเคารพสักการะและเห็นว่ามีคุณค่าสำหรับเขา อาทิ ชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ สามสถาบันที่ทำให้เมืองไทยเป็นไทมาได้จนถึงวันนี้
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร
กำลังโหลดความคิดเห็น