“สุขุมพันธุ์” แถลงการจัดซื้อและติดตั้งกล้อง CCTV ในกรุงเทพฯ มีกล้องเปล่าจริง แต่เป็นไปตามสัญญาจัดซื้อ อย่ากล่าวหาคอร์รัปชัน พร้อมเปิดเผยสัญญาให้ตรวจสอบ ขณะเดียวกันสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทำงานร่วมกับ ป.ป.ช.กทม. และเผยแพร่พิกัด CCTV ผ่านเว็บไซต์ กทม.ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ส่วนกล้องเปล่า 500 ตัวเร่งถอดออก และติดตั้งกล้องจริง
วันนี้ (21 ก.ย.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวกรณีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ CCTV ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้ง CCTV ระยะ แรกภายหลังเกิดเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2550 โดยรัฐบาลมอบภารกิจให้ กทม.ดำเนินการติดตั้งโดยใช้งบประมาณฉุกเฉินของรัฐบาล จำนวน 330 ล้านบาท ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการร่างรายละเอียดและข้อกำหนดของกล้อง CCTV ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2550 และยกร่างเสร็จในเดือน ก.ค. 2551 สามารถจัดซื้อได้ในเดือน พ.ย.2552 รวมจำนวน 2,046 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกล้องเปล่า 1,325 ตัว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงจำเป็นต้องมีกล้องเปล่ารวมอยู่ด้วย โดยกล้อง CCTV มีราคาตัวละ 34,000-130,000 บาท และกล้องเปล่าราคา 2,500-2,700 บาท
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการจัดซื้อกล้อง CCTV ของกทม. แต่จะกล่าวหาว่าเกิดการคอร์รัปชันไม่ได้ เนื่องจากในรายละเอียดและข้อกำหนดการจัดซื้อกล้อง CCTV ระบุ ให้มีการจัดซื้อกล้องเปล่ารวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ตนเองเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้ประกาศนโยบายที่จะติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 10,000 ตัว ในระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เพื่อดูแความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้ดำเนินการครบแล้วเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2554 และเป็นกล้อง CCTV ที่ สามารถใช้ได้จริงทุกตัว พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บกล้องเปล่าออกทั้งหมด แต่ยังคงเหลือค้างประมาณ 500 ตัว ซื่งจะต้องดำเนินการจัดเก็บให้หมดต่อไป นอกจากนี้ กทม.ยังเดินหน้าติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมให้ได้ 20,000 ตัว เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
สำหรับกรณี CCTV ที่เกิดขึ้น ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้ปลัด กทม. เปิดเผยสัญญาจัดซื้อกล้อง CCTV ทุกฉบับตั้งแต่การจัดซื้อครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อเรื่องดังกล่าว และให้คณะ กรรมการสืบสวนสอบสวนการทุจริต และประพฤติมิชอบในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ป.ป.ช.กทม.) ซึ่งมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานกรรมการ ร่วมพิจารณาเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งนำข้อมูลพิกัดการติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 10,000 ตัว ตลอดจนพิกัดกล้องเปล่า 500 ตัว ขึ้นเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการติดตั้งกล้อง CCTV แต่ยกเว้นจุดติดตั้ง CCTV ในเขตพระราชฐาน และสถานที่ราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง