xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จี้สำนึก รบ.ต้องมีมารยาท หากศาลตีความ พ.ร.ก.2 ฉบับขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผู้นำฝ่ายค้านคาดศาล รธน.ใช้เวลาวินิจฉัยการออก พ.ร.ก.2 ฉบับไม่เกิน 1 เดิน ชี้หากขัด รธน.จริง รัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ อยู่ที่มารยาท แนะคุย JICA หาช่องช่วยนิคมอุตสาหกรรมไม่ขัด กยอ.ผุดไอเดียตั้งองค์กรมหาชนป้องภัยพิบัติ ห่วงไฟใต้ลุกเพิ่ม แนะประสานชาวบ้านลดความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่

วันนี้ (31 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนด 2 ฉบับว่า การดำเนินการทั้งหมดนั้นมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เร่งรัดว่าต้องส่ง และศาลต้องพิจารณาอย่างรวดเร็ว เพราะการออก พ.ร.ก.เป็นเรื่องเร่งด่วน จากนี้ไปขั้นตอนคงไม่มีอะไรซับซ้อน การพิจารณาก็คงจะไม่นานมาก ไม่น่าจะเกิน 1 เดือน ขณะเดียวกัน การดำเนินการตามกฎหมายก็สามารถทำต่อไปได้ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามไว้ ทั้งนี้กฎหมายจึงยังมีผลบังคับใช้ ยกเว้นว่าในที่สุดแล้วศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญถึงจะเป็นโมฆะ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากศาลพิจารณาแล้วว่า พ.ร.ก.2 ฉบับนี้ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรนั้นอยู่ที่มารยาททางการเมือง พรรคยื่นตีความนั้นไม่ได้มีจุดมุ่งตรงนี้ แต่มุ่งไปที่กฎหมาย 2 ฉบับนี้ ที่เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการเปิดโอกาสให้มีการตรา พ.ร.ก.ในลักษณะนี้จะเป็นผลเสียกับส่วนรวม โดยเฉพาะเรื่องการโอนหนี้ฯ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเหมาะสม หากเร่งให้มีการโอนหนี้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายในวันข้างหน้าอีกจะเกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทุนสำรองระหว่างประเทศ ขณะที่ พ.ร.ก.อีกฉบับมีลักษณะเลี่ยงการใช้กฎหมายงบประมาณ และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออก

ส่วนกรณีรายงานข่าวที่ระบุว่านายกิตติรัตน์ได้หารือกับผู้ว่าฯ ธปท.เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งประกอบด้วย 1. อาศัยผลตอบแทนที่ได้จากทรัพย์สินของ ธปท. 2. นำทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ของกองทุนฟื้นฟูฯ 3. เรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินในส่วนเงินสมทบเข้ากองทุนสถาบันประกันเงินฝากนั้น ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไขที่เขียนอยู่ใน พ.ร.ก. ซึ่งแนวทางที่ 3 คือ เรื่องการใช้เงินจากการเรียกเก็บจากสถาบันการเงินนั้นเป็นที่ถกเถียงกันมาก หากดูผิวเผินแล้วเหมือนมีแหล่งเงินใหม่มาช่วยแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วตนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทางสถาบันการเงินจะยินดีแบกรับโดยที่ไม่ส่งต่อให้ประชาชน

ส่วนแนวทางของรัฐบาลในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้จาก 7 ปี เป็น 15 ปีนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมีความยืดเยื้อมานาน และเมื่อขยายเวลาชำระหนี้จาก 7 ปี เป็น 15 ปีแล้วก็อาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เหมือนรัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกเงินช่วยส่วนหนึ่ง หรือที่เรียกว่าเงินให้เปล่า โดยอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในทางกฎหมายว่าหากรัฐจะจัดสรรเงินหรืองบประมาณไปให้เอกชน ดังนั้นทำให้เกิดแนวคิดว่าจะโอนที่ดินให้ท้องถิ่นก่อน ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ลำบากเช่นกัน แต่หากเรื่องนี้จะได้มีการเจรจากับทาง JICA อาจมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับความช่วยเหลือ

“ถ้าจะให้ผมแนะรัฐบาลนะครับ ดีที่สุดตอนนี้ก็คือว่าไปใช้เงินของญี่ปุ่น ถ้าจะใช้เงินงบประมาณหรือว่าจะต้องโอนไปท้องถิ่น ผมว่าใช้เวลานานเกินไป จะวุ่นวายพอสมควร ส่วนเรื่องความช่วยเหลือของ JICA นั้นผมเข้าใจว่าอาจมีเงินช่วยเหลือให้เปล่า อาจผสมกับการกู้ ผมไม่แน่ใจ แต่ผมว่าน่าจะลองดูตัวนี้ เจรจากันให้ครบก่อน เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมาพอสมควร และผมอยากให้มีคำตอบตรงนี้โดยเร็ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงแนวคิดกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ระบุควรจัดตั้งองค์กรบริหารภัยพิบัติแบบอิสระเป็นองค์การมหาชนว่า เป็นเรื่องดีที่จะมีหน่วยงานในการประสานงาน หรือดูให้มีความเป็นเอกภาพ แต่ก็ต้องดูในรายละเอียดด้วยว่าในที่สุดแล้วจะจบอย่างไร ซึ่งแนวทางในเรื่ององค์การมหาชนนั้นก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นคำตอบได้

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีเหตุคนร้ายโจมตีชุดปฏิบัติการทหารพราน จ.ปัตตานี จนเกิดการปะทะกันเมื่อคืนวานว่า น่าเป็นห่วง และรัฐบาลต้องเร่งหาแนวทางในการสร้างความชัดเจน เพราะหากไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในแนวทางของรัฐบาลได้ จะยิ่งทำให้เรื่องลุกลาม ตกเป็นเหยื่อของฝ่ายตรงกันข้าม ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่พูดว่าจะใช้นิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์นั้น มีความจำเป็นมาก ถ้าทำตรงนี้ได้สำเร็จจะเป็นผลดี เพราะมิเช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นเหยื่อ เขาจะไปพูดว่ารัฐใช้ความรุนแรงกับคนของเขา

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงความยากของการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยที่เป็นรัฐบาลว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ฝังรากลึก ดังนั้น การที่จะแก้ไขปัญหาจึงต้องลงลึกถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไว้เนื้อเชื่อใจ หากประชาชนในพื้นที่มีความหวาดระแวง เห็นว่าทางการของไทยทำไม่ถูกต้องก็จะไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้นการจะสร้างความไว้วางใจว่าทุกอย่างทำมาอย่างถูกต้อง อยู่ในกรอบของกฎหมายจึงมีความสำคัญมาก

“ช่วงที่เรามีปัญหามากๆ คือ มีช่วงหนึ่งที่ไม่ได้ทำอย่างนี้ อันนี้คือประเด็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเอาเรื่องของการพัฒนา เรื่องความยุติธรรมเป็นตัวนำ ซึ่งถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะเป็นผลดี ผมขอย้ำว่าความจริงแล้วเงินก็มีความจำเป็นในการแก้ปัญหา แต่ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินอย่างเดียว แต่อยู่ที่กระบวนการที่เราทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขาได้เป็นเจ้าของในกระบวนการของการพัฒนา เมื่อถามว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแค่ไหน ก็แน่นอนว่าปัญหายังไม่หมดไป แต่มีตัวบ่งชี้หลายตัวว่า เมื่อเราเอาเงินงบประมาณเข้าไปและเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตแล้ว ปรากฎว่าความยอมรับในเรื่องของอำนาจรัฐ ในเรื่องการให้ความร่วมมือ ความไว้เนื้อเชื่อใจพอไปสำรวจแล้วดีขึ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น