นายกฯ ร่วมถกนักลงทุนจ่อเข้าไทย ยันรัฐวางแผนจัดการน้ำแก้ปัญหาอุทกภัยแล้ว โวไม่ท่วมอีกแน่ ตั้งเป้าบริโภคภายในกระตุ้นจีดีพีเพิ่ม โอ่สถานะการคลังเข้มแข็ง เชื่องานไทยแลนด์ไนท์ ทำคนร่วมเสวนากลางปีเพียบ พร้อมเชิญสวิสเป็นสมาชิกเอเซม ทำเอฟทีเอ 2 ชาติ ก่อนบินกลับไทยคาดถึงราวบ่ายโมง
เมื่อวันที่ (28 ม.ค.) ที่คองเกรส เซ็นเตอร์ (Congress Center) เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการอภิปรายพับลิก ไพรเวต อินเตอร์แอ็กชัน ออน ไทยแลนด์ (Public Private Interaction on Thailand) เพื่อพบปะและพูดคุยกับ ผู้บริหารของบริษัทที่มีความสนใจการค้าการลงทุนในไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และแนวนโยบายในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทย ซึ่งตระหนักดีถึงข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของนักลงทุน รัฐบาลจึงได้วางแผนการบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาวิกฤตอุทกภัยและมีแผนเพื่อให้ความมั่นใจว่าวิกฤตจะไม่เกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำด้วยงบประมาณ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกำลังดำเนินการไปด้วยดี ในแผนดังกล่าวจะมีการสร้างคันกั้นน้ำตามที่ต่างๆ เพื่อป้องกันสาธารณูปโภคและเขตเศรษฐกิจ ทางน้ำและระบบระบายน้ำจะมีการปรับปรุงเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้ดีขึ้น พัฒนาระบบเตือนภัยและพยากรณ์ รวมถึงการตั้งหน่วยสั่งการเดียว หรือ Single Command Authority เพื่อการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพในการบริหารภาวะวิกฤต
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียอมรับว่า ปัญหาอุทกภัยส่งผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพี โดยลดลงประมาณร้อยละ 2 แต่ทั้งนี้ไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จึงคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นลักษณะ V shape ด้วย จีดีพีที่จะโตขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 5 ในปี 2555 ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและวิกฤติหนี้ในสหภาพยุโรป รัฐบาลจึงตั้งเป้าการบริโภคและอุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยนโยบายต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังการซื้อของผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อเริ่มธุรกิจของตนเอง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนการเร่งด่วนในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคสำคัญ โดยเฉพาะระบบการขนส่งมวลชนและรถไฟ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และยังนำไปสู่การสร้างงานและการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วย
ขณะเดียวกัน สถานะทางการเงินการคลังปัจจุบันของไทยอยู่ในภาวะที่ดีเยี่ยม มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ประมาณร้อยละ 40 เงินทุนแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสูงประมาณ 180 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสี่เท่าของหนี้ภายนอก ดังนั้น จึงช่วยให้ไทยมีสถานะที่เข้มแข็งในการหาเงินทุนสำหรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคที่สำคัญ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลยังคงยึดมั่นในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เสรีและแข่งขันได้ รัฐบาลจะลดภาษีรายได้ของบริษัท Corporate Income Tax ลงเหลือร้อยละ 20 ในปีหน้า จะขจัดข้อจำกัดสำหรับบริษัทที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค หรือ Regional Headquarters ในประเทศไทย พร้อมทั้ง ยังมีแรงงานทักษะที่มีคุณภาพเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ดังนั้น ไทยจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในฐานะศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ที่มีผู้บริโภครวมกันกว่า 600 ล้านคน นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จะมีการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานทักษะที่อิสระ และมีการไหลของทุนที่อิสระยิ่งขึ้น เหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมจากการเชื่อมโยงภายในอาเซียนและนอกอาเซียนที่กว้างขวางยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสริมเรื่องความมั่นคงทางการเมืองและประชาธิปไตยของไทยว่า การเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมาที่มีความสำคัญและทุกภาคส่วนยอมรับผลการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่า ประชาชนไทยปราถนาที่จะสร้างความปรองดองและประชาธิปไตยที่แท้จริง รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินงานสู่การสร้างปรองดองแห่งชาติ ยึดในนิติรัฐ และส่งเสริมความเป็นเอกภาพของสังคม ด้วยสิ่งเหล่านี้เป็นดังพื้นฐานที่เข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมประชุมประจำปี เวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum )(WEF) ครั้งที่ 42 ว่า ในการจัดงาน Thailand Night เมื่อคืนที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีทั้งกลุ่มนักลงทุนเดิมและกลุ่มผู้ที่สนใจเข้าลงทุนใหม่ และมั่นใจว่าจากความสำเร็จนี้จะทำให้มีผู้ตอบรับเข้าร่วมประชุม ประจำปี World Economic Forum on East Asia ที่จะจัดในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งการประชุมดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้มีผู้สนใจลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพพร้อมในการลงทุน
ส่วนการพบกับประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิสนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้เชิญสมาพันธรัฐสวิส เข้าร่วมเป็นสมาชิกการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สมาพันธรัฐสวิสจะเข้ามาเป็นสมาชิกและจะเข้าร่วมการประชุมที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพในปีนี้ นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน เพราะทั้งสองประเทศห่างหายมานาน โดยจะนำเข้ามาพิจารณาดำเนินการต่อไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เชื่อว่าหากสำเร็จจะทำให้ทั้งสองประเทศมีการค้า การท่องเที่ยวและความสัมพันธ์เพิ่มพูนระหว่างกัน
สำหรับการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี และยูโรนิวส์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สื่อมวลชนต่างประเทศได้ถามถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเราให้ความมั่นใจว่าขณะนี้ความมั่นคงภายในประเทศได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่มีความสงบสุข พร้อมมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจีดีพีจะโตขึ้นอีก ร้อยละ 5 ในปีนี้
นายกรัฐมนตรีเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมไม่มีการสอบถามถึงกรณีการประกาศเตือนห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยเนื่องจากอาจเกิดเหตุก่อการร้าย ซึ่งขณะนี้หลายประเทศได้ถอนประกาศแล้ว เพราะเข้าใจผิด และการที่ไม่ได้สอบถามเพราะมั่นใจความปลอดภัยในประเทศไทย
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว นายกรัฐมนตรีและคณะจะออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาตินครซูริก เวลาประมาณ 21.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลาประมาณ 13.25 น.ของวันที่ 29 มกราคม 2555 ตามเวลาประเทศไทย