นายกรัฐมนตรีร่วมหารือกำหนดและจัดความสำคัญของปี 2012 เพื่อบริหารจัดการเศรษฐกิจโลก กับผู้นำประเทศและภาคเอกชนชั้นนำในเวที WEF ณ เมืองดาวอส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงค่ำ วันที่ 26 มกราคม 2555 ภายหลังเสร็จสิ้นการเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ออกเดินทางโดยเครื่องบินเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปยังนครซูริก สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปี เวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ครั้งที่ 42 ณ เมืองดาวอส
จากนั้น ในเวลา 22.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติซูริก และเดินทางต่อไปยังโรงแรม Radisson BLU เพื่อพักค้างคืน ก่อนออกเดินทางไปเมืองดาวอสในช่วงเช้า
วันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2555 ในช่วงเช้านายกรัฐมนตรีและคณะออกเดินทางโดยรถยนต์จากนครซูริก ไปยังเมืองดาวอส เพื่อร่วมการประชุม WEF โดยในเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ Congress Centre ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ His Royal Highness The Duke of York โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน โดยในโอกาสนี้ Duke of York ได้แนะนำ CEO ของ Tesco ให้รู้จักกับนายกรัฐมนตรีด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการหารือในฐานะ Contributor ระหว่างรับประทานอาหารกลางวันใน Informal Gathering of World Economic Leaders (IGWEL) หัวข้อ " Defining the Imperatives for 2012" หรือ การกำหนดความสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการในการบริหารจัดการเศรษฐกิจโลกในปี 2012 โดยมีผู้นำประเทศและผู้นำของบริษัทชั้นนำของโลกร่วมหารือ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งท้าทายของปี 2012 คือ ความไม่แน่นอนจากประเทศที่พัฒนาแล้วและผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญของโลกปี 1012 จะต้องร่วมกันปรึกษาหารือเกี่ยวกับสิ่งท้าทายเหล่านี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการถดถอยของเศรษฐกิจโลก วิกฤตหนี้ยุโรป และเศรษฐกิจโลก ว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ วิกฤตการว่างงาน และปัญหาหนี้ในยุโรป เหล่านี้คาดว่าจะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงในปี 2012 นี้ ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ของยุโรปถือว่าสำคัญและสร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก หากประเทศยุโรปไม่สามารถตกลงกันได้ถึงแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตนี้ อาจจะนำไปสู่การแตกหักของสกุลเงินเดียวของยุโรป และความไม่มั่นคงของสหภาพยุโรปเอง ในขณะที่เศรษฐกิจโลกนั้นเชื่อมโยงไว้ด้วยกัน ผลลัพธ์เช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างความเสียหายไม่เพียงแต่ต่อภูมิภาค แต่ยังส่งถึงระบบการเงินของโลกด้วย ดังนั้น เราจึงสนับสนุนความพยายามของผู้นำยุโรปในการร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ในครั้งนี้
ในการจำกัดผลกระทบนี้ เอเชียตะวันออกต้องดำเนินบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะบรรลุผลได้เราต้องมีเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และต้องส่งเสริมการสร้างความมั่งคั่งด้วย นอกจากนี้ จำเป็นต้องประกันความมั่นคงในการจ้างงาน เพิ่มรายได้และความมั่นคงทางการเมือง การรวมตัวระดับภูมิภาค จะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 อาเซียนจะเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิต การขยายการเชื่อมโยงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะช่วยลดค่าขนส่ง และสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับภูมิภาค รวมทั้งช่วยเพิ่มการผลิต การลงทุน และสำคัญที่สุด ปริมาณความต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว
ประเทศไทยมักจะพึ่งพาการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมีความจำเป็นในการปรับความสมดุลเศรษฐกิจ โดยการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์และการบริโภคภายในประเทศ นโยบายเหล่านี้ เพื่อเพิ่มกำลังการซื้อ จากรายได้และราคาเกษตรกรรมที่สูงขึ้น ในการนี้ รัฐบาลกำลังวางแผนการลงทุนมหาศาลด้านโลจิสติกส์และระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะช่วยสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาค
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาได้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติหลายครั้ง และเกิดขึ้นในทุกส่วนของโลก ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น อุทกภัยที่ไทย แผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและจีนประสบกับอุทกภัย รวมทั้งสหรัฐฯ ต้องต้องประสบกับพายุเฮอริเคน ทอร์นาโด ไฟป่า และอุทกภัยด้วย ภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาคสามารถนำไปสู่ การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก ด้วยเหตุที่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมและผลผลิตภาคเกษตรกรรมที่ลดลง ดังนั้น ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาของประเทศที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโลกที่ทุกคนต้องร่วมมือกันต่อสู้
ทั้งนี้ อาเซียนได้มีความก้าวหน้าในการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงมาตรการต่างๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งภูมิภาค และพัฒนาระบบเตือนภัยและการพยากรณ์ ควบคู่กันไปในแต่ละประเทศ อาเซียนกำลังพัฒนาหน่วยสั่งการเดียว Single Command Authority เพื่อวางแผนการบริหารจัดการวิกฤต ซึ่งจะนำไปสู่ระบบภูมิภาคในอนาคต