โฆษกประชาธิปัตย์ ไล่ “นพดล” กลับไปอ่าน 6 ข้อเสนอปรองดองของตัวเอง ชี้ชัด “นช.แม้ว” คือศูนย์กลางความขัดแย้ง ซัดเอาผลการเลือกตั้งตอกย้ำความบริสุทธิ์นายไม่เคารพนิติบัญญัติชัด สวนกลับยิ่งอยู่ยิ่งทำเพื่อไทยตกต่ำ ชูหลักฐานชัด “ทักษิณ” ตอบสื่อหวังบันคีมูนเจรจาในหลวง ถามนักเรียนทุนอานันทมหิดล นี่ใช่พฤติกรรมดึงสถาบันหรือไม่ หยันแค่ทาสรับใช้นายใหญ่ หนุนข้อเสนอ “บวรศักดิ์” ให้ นร.ทุนสาบานไม่เนรคุณกษัตริย์
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดาฯ กล่าวร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ว่ามีความคิดคับแคบที่ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งว่า ตนขอให้นายนพดลกลับไปอ่านข้อเสนอ 6 ข้อเพื่อให้เกิดความปรองดองของนายนพดล ก็จะเห็นว่านายนพดลเองก็คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือ ศูนย์กลางความขัดแย้งในสังคมไทย เพราะข้อเสนอทั้ง 6 ข้อที่อ้างว่าจะนำไปสู่ความปรองดองนั้น ล้วนเป็นข้อเสนอที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น
นายชวนนท์กล่าวว่า โดยข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย คดีทางการเมืองจะทำอย่างไร เช่น การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมืองของบ้านเลขที่ 111 และ 109 เพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม นั่นคือมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ, คดีอาญาที่ต่อเนื่องหลายคดี ที่เริ่มด้วยการเอาคนที่เป็นปฏิปักษ์และมีอคติต่อ พ.ต.ท.ทักษิณมาสอบ คือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.), เรื่องยึดทรัพย์ 4 หมื่นกว่าล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยุติธรรมแล้วหรือ เพราะคำพิพากษายึดทรัพย์ตัดแบ่งนับตั้งแต่ทรัพย์ในวันที่เป็นนายกฯ ยึดหมด วันที่เป็นนายกฯหุ้นขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วถูกยึดไปด้วย สมมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณโกง อย่างน้อยก็ควรให้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องไว้, การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คิดว่ามีหลายคดีที่เห็นแล้วไม่สบายใจ ต้องมาคุยกัน, เป็นเรื่องคดีความของทั้งสองฝ่าย ทั้งคดีเสื้อเหลืองและเสื้อแดง จะทำอย่างไร, แก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าควรกลับไปสู่ฐานของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือนำฉบับ 2540 มาใช้ก็จะปลดเงื่อนไขยุบพรรคตามมาตรา 237 ไปด้วย ซึ่งจากรายละเอียดตามข้อเสนอของนายนพดลเองจะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องได้ประโยชน์เท่านั้นความปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้ อย่างนี้จะไม่ให้หมายความว่า “ทักษิณคือ ศูนย์กลางความขัดแย้งได้อย่างไร”
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า นอกจากนี้ นายนพดลมักนำเรื่องการชนะเลือกตั้งของพ.ต.ท.ทักษิณ มาพูดข่มพรรคประชาธิปัตย์ ถึงขนาดเคยพูดว่าชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนี้ตอกย้ำให้คนทั่วโลกรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณบริสุทธิ์ ทั้งๆ ที่การทำผิดกฎหมาย ไม่สามารถนำปริมาณของมวลชนมาเป็นเครื่องตัดสินความถูกผิดได้ เป็นการแสดงความเห็นที่สะท้อนถึงความไร้หลักการและไม่เคารพต่อหลักนิติรัฐ และนิติธรรมของบ้านเมือง ซึ่งการกล่าวอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณชนะนั้นกลับไม่เคยพูดความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่ว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ก็คือความตกต่ำของพรรคไทยรักไทยในปี 2548 จากที่เคยได้ ส.ส.377 ที่นั่ง ส่วนหนึ่งได้มาจากการควบรวมพรรคการเมือง มีประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยขณะนั้น 19 ล้านเสียง มาวันนี้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.265 คน ติดลบถึง 112 คนโดยนับจากวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยรุ่งโรจน์ที่สุด มีประชาชนเลือก 15 ล้านคนติดลบจากที่เคยได้รับความนิยมถึง 4 ล้านคะแนน
นายชวนนท์กล่าวต่อว่า ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ปี 2548 มี ส.ส. 96 ที่นั่ง มีประชาชนเลือก กว่า 7 ล้านคะแนน มาวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.159 ที่นั่ง บวกเพิ่มจากปี 2548 ถึง 63 คน มีประชาชนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ 11 ล้านเสียง คะแนนนิยมเพิ่มจากปี 2548 4 ล้านคะแนน เท่ากับจำนวนประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยลดลง ซึ่งหมายถึงว่า พรรคเพื่อไทย กำลังก้าวสู่จุดเสื่อมถอย ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จะไต่ระดับไปสู่ชัยชนะ และก็เป็นตัวเลขที่สอดคล้องว่าพรรคประชาธิปัตย์พัฒนาขึ้นเมื่อนายนพดลออกไป และพรรคเพื่อไทยก็ตกต่ำลงนับแต่วันที่นายนพดล เข้าไปร่วมงาน เพราะฉะนั้นก็ขอให้นายนพดลได้อยู่รับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณไปนานๆ ด้วยเหตุผลเดียวกับที่นายนพดลหยิบยกมาอ้างว่า “ต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทย เพราะเราไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย และเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และไม่เคารพหลักนิติธรรมและมีสองมาตรฐาน” นั่นแหละ เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำทุกอย่างตามที่นายนพดลระบุ หนำซ้ำยังปล้นเงินจากกระเป๋าประชาชนด้วยนโยบายที่ต้มตุ๋นหลอกลวงอีกด้วย
“อยากให้นายนพดลไปสำรวจให้ดีว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยทำให้ “น้ำท่วมถึง ค่าครองชีพพุ่งกระฉูด สร้างหนี้ให้ประเทศ กำหนดนโยบายเพื่อนายทุนทอดทิ้งประชาชน” 15 ล้านเสียงยังอยู่ครบไหม เพราะถ้ายังอยู่ครบ คงไม่มีแท็กซี่ออกมาระบายความในใจว่าถูกพรรคเพื่อไทยเนรคุณคะแนนเสียง” นายชวนนท์กล่าว
ส่วนกรณีที่นายนพดลอ้างว่า ในหนังสือคอนเวอร์เซชัน วิท ทักษิณ (conversation with Thaksin) ไม่มีข้อความใดที่สร้างความไขว้เขวเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น นายชวนนท์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องย้อนคำสัมภาษณ์ที่นายนพดลพูดไว้ในวันที่ 24 มกราคม ว่าไม่มีเนื้อหาส่วนใดเป็นไปตามที่ข่าวเสนอว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอให้นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติมาประเทศไทยเพื่อขอพระราชทานโอกาสในการเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องการปรองดองในไทย แต่เมื่อสื่อมวลชนที่เสนอข่าวนี้นำหลักฐานมายืนยันว่ามีการสัมภาษณ์ประเด็นนี้ในหน้า 35-38 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้พูดในสิ่งที่ไม่บังควรหลายเรื่อง และเป็นการกล่าวร้ายสถาบันว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศ รวมถึงการใช้อำาจของฝ่ายตุลาการด้วย นายนพดลก็พลิกลิ้นใหม่อ้างว่าเป็นแค่การตอบคำถามสื่อมวลชนเท่านั้น
นายชวนนท์ระบุว่า เพราะฉะนั้นจึงอยากให้คนที่ได้รับทุนอานันทมหิดล ที่ไปเล่าเรียนยังต่างประเทศ ช่วยใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาด้วยว่ามีการแปลความหมายผิดเพี้ยนอย่างที่นายนพดลกล่าวอ้างหรือไม่ หรือหากเห็นว่าเป็นการแปลที่ถูกต้องแล้ว นายนพดลคิดว่านี่ไม่ใช่พฤติกรรมจาบจ้วง ดูหมิ่น ลบหลู่ และแอบอ้างสถาบันให้เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่
“พฤติกรรมของนายนพดล ผมเชื่อว่าประชาชนแยกแยะได้ว่ายังเป็นบุคลที่ควรค่าแก่การเชื่อถือหรือไม่ เพราะทุกคำพูดของนพดลแสดงให้เห็นธาตุแท้และตัวตนที่แท้จริงว่าเป็นได้แค่ทาสรับใช้ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นเจ้านายเท่านั้น ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ให้แก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดลให้ผู้รับทุนสาบานว่าจะไม่เนรคุณและไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุน แต่น่าเสียดายที่หากมีการดำเนินการแก้ไขจริงในวันนี้ก็นำมาใช้กับนายนพดลไม่ทันเสียแล้ว” นายชวนนท์กล่าว
โดยรายละเอียดของบทสัมภาษณ์ตามที่สำนักข่าวทีนิวส์ ได้รายงานเป็นดังนี้
นายทอม เพลท ถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า “Who can talk to King and Queen of Thailand? The Pope? Allah? Buddha? Whom do they listen to?”
แปลเป็นไทยก็คือ “ใครสามารถพูดกับในหลวง ราชินี พระสังฆราช อัลเลาะห์ หรือ สันตะปาปา? ใครที่ในหลวงทรงฟัง?”
พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า “Well, His Majesty respects international opinion. So if it is world opinion that this is time for Thailand to reconcile, and there is consultation with His Majesty, and they give him some ideas, then His Majesty might come to think that okey, that is the solution. I do believe that that will be a solution.”
หรือ “สถาบันเราเคารพในความคิดแบบนานาชาติ ซึ่งถ้าเวทีโลกบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยต้องมีการประนีประนอม ก็จะมีการหารือกันเกิดขึ้น แล้วถ้าเวทีโลกบอกในหลวงให้ทำอะไร ในหลวงก็จะทำตามนั้น ผมเชื่อว่านี่คือทางแก้”
นายทอม เพลท ถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า “Alright, let me give you another scenario. Supposing someone of respect-Ban Ki-moon, the United Nation Secretary General-supposing he were to go to Bangkok and to the talk to the King, and say, There has been all this turmoil and bloodshed, this is not good for Thailand. Why can’t there be reconciliation? Would the King listen? Would the King receive him?”
แปลเป็นภาษาไทยก็คือ “ถ้างั้นผมให้ทางเลือกหนึ่ง ถ้า บันคีมูน เลขาธิการยูเอ็น มากรุงเทพฯ แล้วพูดคุยกับในหลวง ว่ามันจะมีแต่ความยุ่งเหยิงและการนองเลือด ซึ่งมันไม่ดีกับเมืองไทยแน่ ทำไมเราไม่มีการประนีประนอม ในหลวงจะยอมรับบันคีมูนหรือไม่”
พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า “I think that, given Ban’s position, the King will welcome him. That kind of high-level position is the right position to provide international leadership because His Majesty is very senior. He’s the most senior head of state.”
หรือ “ผมคิดว่า ด้วยตำแหน่งของบันคีมูนแล้ว ในหลวงจะยอมรับฟังเขา เพราะตำแหน่งที่สูงและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เพราะในหลวงของเราเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ”