ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นายฮอร์นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้สั่งให้เอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ที่ประจำในประเทศ และดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ช่วยกันจับตาการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และเตรียมรับมือผลพวงที่จะติดตามมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในนโยบายต่างประเทศสำหรับปีนี้ และในขณะที่กัมพูชากำลังจะสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปีหน้า
นายฮง ให้นโยบายดังกล่าวระหว่างการประชุมบรรดาเอกอัครราชทูตกัมพูชา 26 คน กับกงสุลใหญ่อีก 8 คนจากทั่วโลก และกงสุลใหญ่กัมพูชา โดยให้ถือเป็นภารกิจที่ “ท้าทายที่สุด” ขณะที่ศาลระหว่างประเทศกำลังจะแจ้งผลการตีความคำพิพากษาปี 2505 เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งทุกฝ่ายต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ
ภารกิจอันดับ 2 คือ กัมพูชากำลังจะสมัครเป็นสมาชิกประเภทหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคง หรือ UNSC (United Nation Security Council) ประจำปี 2556-2557 ซึ่งจะต้องรณรงค์ระดมการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก และ ภารกิจอันดับ 3 คือ กัมพูชากำลังทำหน้าที่ประธานกลุ่มอาเซียนในปีนี้ สำนักข่าวกัมพูชา กล่าว
ไม่มีรายงานในรายละเอียด ว่า เพราะเหตุใดนายฮง จึงให้บรรดานักการทูตต้องให้ความใส่ใจกรณีปราสาทพระวิหารกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร อย่างเป็นพิเศษ ในขณะที่ศาลโลกกำลังตีนัดฟังผลการตีความในเร็วๆ นี้ ตามการร้องขอของกัมพูชาในเดือน เม.ย.2554
.
.
ศาลโลกในกรุงเฮกออกคำสั่งในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง และถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ที่ถูกประกาศรวมอยู่ในเขตปลอดทหารชั่วคราว และให้กองกำลังรักษาสันติภาพของอาเซียนเข้าประจำในพื้นที่ ขณะรอฟังผลการตีความที่คาดว่าจะออกมาในเดือน ก.พ.ศกนี้
อุทกภัยครั้งใหญ่ในสองประเทศเมื่อปีที่แล้ว ได้ทำให้การดำเนินการต่างๆ มีอุปสรรค และจนถึงปัจจุบันไทยและกัมพูชายังไม่ได้ถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทอย่างเป็นทางการ
คณะกรรมการชายแดนทั่วไปของไทย นำโดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะไปร่วมประชุมกับฝ่ายกัมพูชาที่เมืองเสียมราฐเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว และตกลงให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมสองประเทศขึ้นมาเพื่อดำเนินการถอนทหาร
พล.อ.เตียบัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา ให้สัมภาษณ์สัปดาห์ที่แล้วว่า ฝ่ายกัมพูชากำลังรอนัดหมายจากฝ่ายไทยเพื่อจัดประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งแรกในประเทศไทย