xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายสิทธิมนุษยชน” ยื่นหนังสือยูเอ็น ร้องสอดส่อง-ช่วยเหลือเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตรเพื่อประชาชนฯ เดินทางไปเรียกร้องต่อผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่องค์การสหประชาชาติ  เรื่อง ขอเรียกร้องให้ตรวจสอบสถานการณ์ต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ที่ก่อให้เกิดความเสียหายสูญเสียอย่างมหาศาลอันเกิดขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งทางดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2554

ทนายความสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือต่อข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ร้องให้ตรวจสอบสถานการณ์ต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และจัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนที่ลี้ภัยสงคราม ชี้ทหารไทยเรียกร้องให้เจรจา แต่ถูกกัมพูชาระดมยิงใส่ทหารไทย และบิดเบือนข่าว



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (29 เม.ย.) นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) ที่อาคารสหประชาชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบสถานการณ์ต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนไทยและกัมพูชา เนื่องจากถูกทางการกัมพูชาบิดเบือนข่าว อีกทั้งยังทำให้ราษฏรไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และได้รับผลกระทบต้องอพยพจากบ้านเรือนจำนวนมาก

ภายหลังการยื่นหนังสือ นายนิติธร เปิดเผยว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ตนทำในนามส่วนตัว ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการสิทธิมุนษยชน สภาทนายความ เพื่อต้องการให้โอเอชซีเอชอาร์เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่มีการปะทะ เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะราษฎรไทยที่มีบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้น ต้องได้รับผลกระทบจากการปะทะ โดยหวังว่าจะนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงที่มีประสิทธิภาพ และมีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี

นายนิติธร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในตอนนี้เห็นได้ชัดว่าทางฝ่ายกัมพูชาต้องการสร้างสถานการณ์ให้มีความรุนแรง จนเกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เพื่อดึงเรื่องไปยังที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) และต้องการให้มีการส่งกองกำลังสันติภาพเข้ามาในพื้นที่ หรือให้ประเทศที่ 3 เข้ามาแทรกแซง แต่การยื่นหนังสือของตนนั้น เพราะเห็นว่าเหตุการณ์ที่ชายแดนมีความจงใจของฝ่ายกัมพูชาที่จะโจมตีทำร้ายราษฎรไทย เนื่องจากบริเวณชายแดนไทยมีชุมชนราษฎรไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ห้ามยิง ในขณะที่ฝั่งกัมพูชาไม่มีราษฎรกัมพูชาอยู่แต่อย่างใด ก็ได้เปิดฉากโจมตีมายังชุมชนของไทย โดยทหารไทยก็ทำได้เพียงการป้องกัน ไม่สามารถตอบโต้ได้ เนื่องจากเกรงว่าจะกลายเป็นสงคราม ตามความต้องการของกัมพูชา ดังนั้นจึงขอให้โอเอชซีเอชอาร์ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ก่อนนำเสนอรายงานสู่ที่ประชุมยูเอ็นเอสซีต่อไป ซึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายไทยในการตอบโต้ เพื่อปกป้องดินแดนอธิปไตยและความปลอดภัยของราษฎรไทย โดยสิทธิอันชอบธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้อาจทำให้ยูเอ็นหรือประเทศที่ 3 เข้ามาแทรกแซงได้ นายนิติธร ชี้แจงว่า ตนไม่ได้ต้องการให้มีผู้ใดเข้ามาแทรกแซง แต่ต้องการให้มีหน่วยงานเข้ามาตรวจในเรื่องสิทธิมนุษยชนของราษฎรไทย ซึ่งเป็นคนละมุมกับกัมพูชาที่ต้องการให้มหาอำนาจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งนี้หากโอเอชซีเอชอาร์ดำเนินการตามที่ตนเรียกร้อง ก็จะเป็นการเบรกไม่ให้กัมพูชาสามารถดึงกองกำลังสันติภาพหรือประเทศที่ 3 เข้ามาในพื้นที่ได้ โดยใช้รายงานของโอเอชซีเอชอาร์ในการแสดงข้อเท็จจริงต่อยูเอ็นเอสซี รวมทั้งยังเป็นการขยายพื้นที่ให้ทหารไทยสามารถดูแลราษฎรไทยได้มากขึ้น หากมีการกำหนดพื้นที่ห้ามยิง อย่างไรก็ตามตนยังเตรียมการเพื่อนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปยื่นต่อกาชาดสากล เพื่อให้ลงพื้นที่ดูแลในเรื่องชีวิตวามเป็นอยู่ของราษฎรไทยด้วย

สำหรับหนังสือที่นายนิติธรยื่นต่อ UNOHCHR มีสาระสำคัญคือ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ มีถ้อยแถลงต่อเหตุการณ์ประเทศกัมพูชาและไทยว่าหลังจากการต่อสู้กันทางอาวุธทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ได้เรียกร้องให้ใช้กำลังต่อกันอย่างจำกัดที่สุด และต้องใช้มาตรการเจรจาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการหยุดยิง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการสู้รบ ทหารไทยได้เรียกร้องให้มีการเจรจา แต่ทหารกัมพูชากลับระดมยิงต่อทหารไทย ทำให้มีการโต้ตอบทางอาวุธกระทั่งปัจจุบัน ขณะเดียวกัน สื่อในกัมพูชายังเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เช่น อ้างว่าทหารไทยใช้อาวุธเคมีและจะใช้การโจมตีทางอากาศต่อประชาชาวกัมพูชา อีกทั้งสร้างสถานการณ์ให้เกิดความตึงเครียดและกล่าวโทษประเทศไทยว่ากระหายสงคราม ทั้งที่ในฝั่งไทยมีพื้นที่พักอาศัยของประชาชนหนาแน่น

การต่อสู้ทางอาวุธทำให้ อ.พนมดงรัก และ อ.กราบเชิง จ.สุรินทร์ ได้รับความเสียหาย และทำให้ผู้อพยพหนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงกว่า 20 แห่ง จำนวนกว่า 27,000 คน เราหวังว่าสงครามในครั้งนี้จะยุติลงและมีการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในบริเวณชายแดนโดยสันติวิธี ขณะเดียวกันเราต้องป้องกันไม่ให้ประชากรทั้งสองประเทศไม่ให้ได้รับอันตรายและปลอดภัย จึงเรียกร้องให้ UNOHCHR ดำเนินการตรวจตราและสอดส่องอย่างระมัดระวัง อีกทั้งจัดให้มีความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในครั้งนี้ด้วย

สำหรับเนื้อหาหนังสือที่นายนิติธรยื่นต่อ UNOHCHR ฉบับเต็ม มีดังต่อไปนี้

(ฉบับภาษาอังกฤษ)

29 April 2011

Subject : Urge to monitor situation along Thai-Cambodia Border
Dear : Chief of Regional Office for South-East Asia, OHCHR

I, Mr. Nitithon Lamleua, 47 years old, a lawyer and a member of Human Rights Committee under Lawyer Council of Thailand would like to urge your office to carefully monitoring the situation related to high causality by unsolved Thai-Cambodia dispute and unnecessary armed attacks in the past days since 22 April 2011.

On April 24, 2011United Nations Secretary-General Ban Ki-moon urged Cambodia and Thailand on Saturday to reach a ceasefire after clashes on their joint border left 10 dead. The secretary-general calls on both sides to exercise maximum restraint and to take immediate measures to put in place for an effective and verifiable ceasefire.

Since the fighting started, we learnt that Thai soldiers has issued a warning and called for dialogue but Cambodian soldiers instead fired at Thai troops which have led to fierce fighting up to date. At the same time media in Cambodia has provided unreliable information such as chemical attack, air forced attack against Cambodian villagers in stimulating the tension and rebelled Thailand as the war hunger. In Thai side, we have more inhabitants along the fighting areas and therefore the fighting from both sides along Phanom Dong Rak Disticts and Kap Choeng District along Thai border has caused around 27,000 internal displaced persons.

We wish the war to over and the dispute to resolve peacefully. Meanwhile, we need to protect civilions of both sides.

According to the Geneva Conventions of 1949, civilians of both sides who is not taking part in combat must be spared and protected. The more fighting and shooting has suffered the greater number of internal displace persons from consequences of armed violence.

We wish that you good office monitor the fighting carefully and provide necessary he humanitarian needs of people affected by armed conflict.

Thanks for your kind attention

Best Regards,

Nitithon Lamlheua

(ฉบับแปลเป็นภาษาไทย)

29 เมษายน 2554

เรื่อง ขอเรียกร้องให้ตรวจสอบสถานการณ์ต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา

เรียน ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้าพเจ้านายนิติธร ล้ำเหลือ อายุ 47 ปี อาชีพทนายความ และในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ข้าพเจ้าประสงค์ให้หน่วยงานของท่านได้ใส่ใจในการตรวจตราสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายสูญเสียอย่างมหาศาลอันเกิดขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งทางดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 นายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติมีถ้อยแถลงต่อเหตุการณ์ประเทศกัมพูชาและประเทศไทยว่าหลังจากที่มีการต่อสู้กันทางอาวุธและทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และเรียกร้องให้มีการใช้กำลังต่อกันอย่างจำกัดที่สุด และต้องใช้มาตรการการเจรจาอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดการหยุดยิง

ตั้งแต่เริ่มมีการสู้รบ เราทราบว่าทหารไทยได้เรียกร้องให้มีการเจรจาแต่ทหารกัมพูชากลับระดมยิงต่อทหารไทยทำให้มีการโต้ตอบทางอาวุธจนกระทั่งปัจจุบัน ในขณะเดียวกันสื่อในประเทศกัมพูชายังได้เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเช่น อ้างว่าทหารไทยใช้อาวุธทางเคมีและจะใช้การโจมตีทางอากาศต่อประชาชนชาวกัมพูชา อีกทั้งสร้างสถานการณ์ให้เกิดความตึงเครียดและกล่าวโทษประเทศไทยว่าเป็นประเทศกระหายสงคราม ทั้งที่ในฝั่งของประเทศไทยมีพื้นที่พักอาศัยของประชาชนอย่างหนาแน่น การต่อสู้ทางอาวุธทำให้อำเภอพนมดงรักและอำเภอกราบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ได้รับความเสียหายและทำให้มีผู้อพยพหนี้ภัยการสู้รบในค่ายพักพิงกว่า 20 แห่ง จำนวนกว่า 27,000 คน

เราหวังว่าสงครามในครั้งนี้จะยุติลงและมีการการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในบริเวณชายแดนโดยสันติวิธี ขณะเดียวกันเราต้องป้องกันไม่ให้ประชากรทั้งสองฝั่งประเทศท่ามกลางความขัดแย้งทางอาวุธไม่ให้ได้รับอันตรายและปลอดภัย การต่อสู้ทางอาวุธที่มีอยู่มากเท่าไรก็ยิ่งทำให้มีผู้อพยพย้ายถิ่นในประเทศมากเท่านั้นอันเกิดขึ้นจากความรุนแรงของการสู้รบ

เราเรียกร้องให้หน่วยงานของท่านดำเนินการตรวจตราและสอดส่องอย่างระมัดระวังอีกทั้งจัดให้มีความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในครั้งนี้ด้วย

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นายนิติธร ล้ำเหลือ



กำลังโหลดความคิดเห็น