xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนประกันภัย ดัชนีวัดความไม่เชื่อมั่น แผนป้องกันน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงษ์ รามางกูร
สองเดือนกว่าผ่านไป สำหรับการทำงานของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟิ้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ซึ่งนายกฯ นกแก้ว สั่งให้รองนายกฯ ไก่โต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รับหน้าเสื่อเป็นประธาน ผลงานที่ปรากฏชัดเจนที่สุดคือ การซุกหนี้ แต่งบัญชี โดยอ้างเอาเรื่องการป้องกันน้ำท่วมมาเป็นเหตุผลว่า จะต้องกู้เงินก้อนใหญ่นับล้านล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วม และฟื้นฟู สร้างอนาคตของชาติกันใหม่ จึงต้องลดหนี้สาธารณะลงให้ต่ำที่สุก รองรับการกู้เงินครั้งมโหฬาร

สำหรับมาตรการป้องกันน้ำท่วมจริงๆ ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้น เป็นอัน มีแต่แผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน แต่ไม่มีรายละเอียดว่า จะทำอะไร ทำเมื่อไร ใครทำ

มาตรการรูปธรรมอันเดียวที่พอจะเห็นคือ การสร้างเขื่อนกั้นนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมครั้งที่แล้ว ซึ่งนายกิตติรัตน์ กำหนดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกุมภาพัน์นี้ และจะให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม ก่อนที่น้ำจะมา

ประชาชนที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม มีคำถามว่า แล้ว คนที่อยู่นอกนิคม ไม่ได้อยู่ในแผนป้องกันน้ำท่วมของ กยอ. และ กยน. เลยหรือ ส่วนคนที่เป็นเจ้าของโรงงานในนิคม ก็มีคำถามว่า ในนิคมฯ น้ำไม่ท่วม แต่ถนนข้างนอกท่วมหมด พนักงานจะมาทำงานอย่างไร จะขนส่งวัตถุดิบเข้ามา ส่งสินค้าออกไปอย่างไร

ความเชื่อมั่นในการทำงานของ กยอ และ กยน. วัดได้จาก ความคิดเห็นของนักลงทุน นักธุรกิจที่มีต่อมาตรการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างก็กังวลต่อภาวะน้ำท่วมที่ฤดูฝนใหม่ที่กำลังจะมาถึงว่า รัฐบาลจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้ มากน้อยเพียงใด เนื่องจากยอมรับว่าแผนที่รัฐบาลประกาศออกมายังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมนัก ทั้งที่เหลือเวลาไม่มาก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องเร่งเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานที่เป็นเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวกับระบบป้องกันและวางแผนจัดการน้ำต่างๆ อย่างเร่งด่วน

นี่เป็นเพียงหนึ่งในความเห็นที่แสดงออกอย่างเป็นทางการ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรม เท่านั้น ยังมีนักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศอีกจำนวนมาก ที่ไม่มั่นใจว่า รัฐบาลนี้จะมีมาตรการรับมือน้ำท่วมได้จริง เพราะยังไม่เห้นทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ไม่อยากพูดให้เป็นข่าวเท่านั้นเอง

ดัชนีชี้วัดความมั่นใจในแผนรับมือน้ำท่วมของ รัฐบาลตัวหนึ่ง ที่เปิดเผยออกมาแล้วคือ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม สหรัตนนคร ที่อยุธยา 14 โรง จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 43 โรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของญี่ปุ่น ประกาศปิดโรงงานหนีไปตั้งอยู่ในพื้นที่อื่น เพราะไม่มั่นใจว่า ปีหน้าจะถูกน้ำท่วมอีกหรือไม่

ตัวชี้วัด ความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การตั้งกองทุนประกันภัยของรัฐบาล โดยออกเป็นพระราชกำหนด มีเงินกองทุน 50,000 ล้านบาท เดิม กองทุนนี้ จะรับประกันภัยน้ำท่วม เฉพาะบ้านพัก อาศัย ของประชาชน และธุรกิจเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่นายกิตติรัตน์ สั่งให้ขยายการรับประกันให้ครอบคลุมถึง อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมด้วย ซึ่งจะมีวงเงินคุ้มครองสูงถึง 5 แสนล้านบาท

บริษัท เอออน เบนฟิลด์ ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ประกันภัยใหญ่ที่สุดในโลก ที่สมาคมประกันวินาศภัยเชิญมาหารือ เห็นตัวเลขนี้แล้ว ตกตะลึง เพราะเป็นวงเงินคุ้มครองที่สูงที่สุดในโลก ประเทศอื่นๆ เขาซื้อประกันสูงสุดกันแค่ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ประเทศไทยตั้งไว้ 5 แสนล้าน โลกใบนี้รับไม่ไหว จึงขอให้รัฐบาลไทย ลดวงเงินลงมาเหลือ 2แสนล้าน เหมือนชาวบ้านเขาได้ไหม

สาเหตุที่รัฐบาลต้องขยายการคุ้มครอง ไปถึงอุตสาหกรรมรายใหญ่ ซึ่งทำให้วงเงินคุ้มครองของกองทุนประกันภัยสูงที่สุดในโลก ก็เพราะว่า บริษัทรับประกันภัยต่อ ในต่างประเทศ หลายๆแห่ง ไม่รับประกันภัยน้ำท่วมในประเทศไทย หรือ ถ้ารับก็คิดเบี้ยประกันในอัตราที่สูงมาก ถึง 3 เท่าจาก อัตราปกติ คือ จากเบี้ยประกันปกติ ไม่เกิน 5% ของวงเงินคุ้มครอง ก็เพิ่มขึ้นเป็น 16 % แล้วในขณะนี้

เรืองนี้ รับรู้กันทั่วไปในวงการประกันภัยบ้านเรา ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะ บริษัทรับประกันภัยต่อ ขนาดใหญ่ของโลก ล้วนต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าชดชเยให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม รวมเป็นเงิน ถึง สองแสนล้านบาท เป็นความเสียหายที่รุนแรงมาก เพราะคิดไม่ถึงว่า น้ำจะท่วมหนักและท่วมนานขนาดนั้น

พวกเขาเข็ดขยาดกับน้ำท่วมปีที่แล้ว และไม่มั่นใจกับ แผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล หลายแห่งจึงมีนโยบายไม่รับประกัน บางแห่งรับ แต่คิดเบี้ยประกันแพง เพราะความเสี่ยงสูง กระทรวงการคลัง ส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับบริษัทรับประกันภัยต่อ 2-3 แห่งที่ สิงคโปร์ แต่ถูกปฏิเสธกลับมา

นายกิตติรัตน์เอง ก็ยอมรับว่า เท่าที่ได้หารือกับบริษัทประกันภัยต่างประเทศ เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการน้ำที่ยัง ไม่มีความชัดเจน ดังนั้น รัฐบาลจะรับประกันเอง เพราะเชื่อว่า “ เอาอยู่”

ยังจำกันได้ไหม หลังจาก นายวีรพงษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน กยอ. ได้เดินทางไปคุยกับ ประธานบริษัทลอยด์ ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไปคุยกับบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่น แล้วกลับมาบอกคนไทยว่า บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของโลก เชื่อมั่นในแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ยินยันว่า จะรับประกันภัยต่อ ไม่มีปัญหา ย.ห. อย่าห่วง

สองคนนี้ ต้องมีใครสักคนที่พูดโกหก

กองทุนประกันภัยนี้ เอาเงินภาษีของประชาชน 5 หมื่นล้านไปตั้งเป็นกองทุนประเดิม และ กฎหมายยังเปิดช่องให้ เพิ่มเงินกองทุนได้อย่างไม่จำกัด หากเกิดน้ำท่วมแล้ว รัฐบาลเอาไม่อยู่ เหมือนปีที่แล้ว ก็หมายความว่า ประชาชนต้องเป็นผู้จ่ายเงินชดเชย ให้กับความไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลนกแก้ว

เวลานี้ ในวงการประกันภัยพูดกันหนาหูว่า รัฐบาลจะเอาใครมาบริหาร กองทุนที่ต้องดูแลเงินถึง 50,000 ล้านบาทนี้ เพราะต้องใช้ทักษะ ความรู้ด้านการประกันภัย ซึ่งต้องไปจ้างบริษัทประกันภัย จากต่างประเทศมาบริหารจัดการแน่ ใครจะได้งานตรงนี้ไป ก็อยู่ที่ว่าจะเข้าถึง “ วีรพงษ์ - นิพัทธ -วิจิตร” ได้มากน้อยขนาดไหน

ผลงานชิ้นโบว์แดงของ กยอ. และ กยน. ใน การวางแผนป้องกันน้ำท่วม เท่าที่เห็นก็มี รื่อง ตั้งกองทุนประกันภัย นี่แหละ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความลมเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เพราะต่างชาติ ไม่รับประกัน รัฐบาลจึงต้องเอาเงินภาษีประชาชน มารับความเสี่ยงจากการบริหารจัดการน้ำ ที่ล้เหลวแทน
 กิตติรัตน์ ณ ระนอง
กำลังโหลดความคิดเห็น