xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แจงยิบ ม.112 ชี้ใช้คุ้มครองประมุขรัฐ อัดอย่าใช้ความรู้สึก ปท.อื่น มาเป็นมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา (ภาพจากแฟ้ม)
เซียนกฎหมาย ชี้ กม.อาญาไม่ได้คุ้มครองเฉพาะ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ในมาตรา 112 แต่ยังคุ้มครองทั้ง 3 สถาบัน แม้แต่ประมุขรัฐ-ทูตต่างประเทศ ไปถึงเจ้าพนักงานและศาล กังขาจะให้พระมหากษัตริย์ กล่าวโทษด้วยตนเอง ทั้งที่พระองค์เมตตาและรักประชาชน ขัดหลักการรัฐธรรมนูญหรือไม่ แนะต้องบอกความจริงให้ประชาชนทราบ และไม่นำเอาความรู้สึกประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ ดอต คอม ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา พบว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2554 ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา” โดยกล่าวถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่า เมื่อกฎหมายล้าสมัย ไม่เหมาะสม หรือขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ก็สมควรยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขได้เสมอ แต่การกระทำอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 112 คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแม้ทำกับคนธรรมดาก็อาจเป็นความผิดได้เช่นเดียวกัน

“การที่มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูด หรือการแสดงความคิดเห็นนั้น มิได้หมายความว่า จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะสิทธินั้นมาควบคู่กับหน้าที่ คือ ในการใช้สิทธิก็ต้องคำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องเคารพถึงสิทธิของคนอื่นด้วย อยู่ๆ ใครจะลุกขึ้นใส่ร้ายใคร หรือดูหมิ่นใคร หรืออาฆาตมาดร้ายใคร แล้วอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นได้เสียเมื่อไหร่กัน” นายมีชัย กล่าว

อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวต่อว่า มีนักวิชาการบางคน อ้างว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญาสำหรับคนทั่วไป การบัญญัติความผิดเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์อีก ทำให้ไม่เสมอภาค และน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เห็นว่าตามกฎหมายอาญาของไทยไม่ได้คุ้มครองเป็นพิเศษเฉพาะพระมหากษัตริย์ แต่ได้ปกป้องคุ้มครองบุคคลอื่นๆ อาทิ มาตรา 133 ที่คุ้มครองราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ มาตรา 134 ที่คุ้มครองผู้แทนรัฐต่างประเทศ นอกจากนี้ คนไทยในฐานะต่างๆ กัน ก็ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ อาทิ มาตรา 136 ที่ให้ความคุ้มครองเจ้าพนักงาน ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พลตำรวจ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.หรือมาตรา 198 ที่ให้ความคุ้มครองศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี จึงเห็นได้ว่าได้ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลที่มีฐานะต่างๆ กันเป็นพิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ในส่วนของมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่บทบัญญัติใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 2475 ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกเป็นต้นมา ก็มีบทบัญญัติอย่างเดียวกันนี้มาทุกฉบับ เพียงแต่มีการแก้ไขด้วยการเติมคำว่า “ทรง” ในปี 2534 เป็นต้นมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไป เมื่อรัฐธรรมนูญรับรองฐานะของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในที่เคารพสักการะ จึงจำเป็นที่จะต้องมีบทกฎหมายกำหนดว่า คนทั่วไปจะต้องทำอย่างไร ซึ่งกฎหมายก็มิได้กำหนดให้ต้องทำอะไรมากไปกว่า การไม่ไปหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงการอาฆาตมาดร้าย

ในส่วนของสถาบันที่ผูกพันคนไทย ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กฎหมายไม่ได้คุ้มครองแต่เฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ยังคุ้มครองทั้ง 3 สถาบันไว้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกัน โดยเรื่องชาติ ซึ่งมีธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์ ก็มีมาตรา 118 กำกับ ซึ่งรวมทั้งชาติอื่นที่มีสัมพันธไมตรีกับไทยในมาตรา 135 ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาก็มีมาตรา 206 บัญญัติไว้ ซึ่งคุ้มครองไปถึงศาสนาทุกศาสนาที่แต่ละคนเคารพนับถือด้วย รวมความว่า ประมวลกฎหมายอาญา ได้ให้ความคุ้มครองทั้ง 3 สถาบันไว้เป็นพิเศษ และไม่เพียงแต่คุ้มครองสถาบันที่เป็นของไทยเท่านั้น แต่ได้คุ้มครองไปถึงสถาบันของประเทศทั้งหลายด้วย

“บางคนอ้างว่า มาตรา 112 กำหนดให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวเหมือนอย่างการหมิ่นประมาทคนธรรมดาทั่วไป เป็นผลให้ใครๆ ก็สามารถกล่าวหาเพื่อให้ตำรวจเริ่มต้นคดีได้ ซึ่งก็จริงอยู่ แต่บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้นำของรัฐ ทูตานุทูต เจ้าพนักงาน และศาล รวมทั้งการคุ้มครองชาติและศาสนา ก็ล้วนแต่ถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดินเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องการทำผิดต่อสถาบัน ต่อผู้มีตำแหน่งแห่งที่ มิใช่เรื่องส่วนบุคคลของแต่ละคน ใจคอจะให้พระมหากษัตริย์มาเที่ยวได้ร้องทุกข์กล่าวโทษคนด้วยตนเองอย่างนั้นหรือ? ในเมื่อท่านมีแต่ความเมตตาและความรักให้กับประชาชน ถ้าทำเช่นนั้นจะไม่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประมุขของชาติดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะดอกหรือ” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า บางคนอ้างว่า มาตรา 112 ขัดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ เห็นว่าคนที่พูดเช่นนั้นอาจแยกไม่ออกระหว่างการแสดงความคิดเห็นกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย คำพูดบางอย่างบางลักษณะอาจไม่มีความผิดอะไร อาจไม่รู้สึกอะไร แต่ ถ้าพูดกับอีกคนหนึ่ง ก็อาจเป็นเรื่องได้ และสังคมคงรับไม่ได้ บางคนวิจารณ์ว่าโทษที่กำหนดไว้สูงเกินไป และยิ่งไปนำคดีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลตัดสินจำคุกคนทำผิดถึง 60 ปี

ทั้งนี้ แม้โทษที่กฎหมายกำหนดไว้จะค่อนข้างสูง แต่ศาลยังไม่เคยลงโทษสูงเต็มอัตรา ที่โทษรวมในคดีนั้นดูสูงนักเพราะความผิดหลายกระทง และยังผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อีกด้วย ซึ่งถ้ากระทำความผิดหลายครั้ง ถือเป็นความผิดเบ็ดเสร็จในตัว ที่เรียกกันว่ากระทงความผิด ซึ่งศาลจะลงโทษไปทุกกระทง นักสิทธิมนุษยชนอาจกล่าวว่าไม่เป็นธรรม แต่อาจารย์สอนกฎหมายจะเสนอให้แก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมในทัศนะของนักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งโทษตามกฎหมายอาญานั้น บางครั้งก็ถูกเพิ่มขึ้นตามความรู้สึกหนักเบาของสังคมในขณะหนึ่งๆ

นายมีชัย กล่าวย้ำว่า ความเห็นในเรื่องการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขกฎหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดแต่อย่างใด เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สังคมเปลี่ยนแปลงไป ความรู้สึกนึกคิด หรือความจำเป็น ความต้องการของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ย่อมเป็นปัจจัยที่จะริเริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการหรือวิวัฒนาการของโลกหรือสังคมได้เสมอ แต่คนที่เสนอแนะหรือเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงจะต้องบอกความจริงให้ประชาชนทราบอย่างครบถ้วนว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร ที่สำคัญ ต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหว แตกต่างกันไป ความรู้สึกของสังคมหนึ่งจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นเครื่องวัดมาตรฐานสำหรับอีกสังคมหนึ่งได้

อย่างไรก็ตาม นายมีชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การรณรงค์เพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ควรจะได้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า ในเมื่อกฎหมายปัจจุบันให้ความคุ้มครองสถาบันหลักทั้ง 3 สถาบัน ทั้งยังให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ อื่นๆ ที่กระทำการตามหน้าที่ ทำไมจึงสมควรยกเลิกการคุ้มครองแต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ โดยไม่พูดถึงหรือแตะต้อง การคุ้มครองสถาบันผู้นำสูงสุดของต่างประเทศ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ชาติ และศาสนา ที่กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองอยู่

“ทำไมสถาบันอื่นๆ ยังสมควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ ทำไมจึงจะยกเลิกแต่เฉพาะการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่าเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ เหตุผลคืออะไร หรือตั้งใจจะยกเลิกการคุ้มครองเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าพนักงาน ก็ไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองกันเป็นพิเศษ ก็พูดมาเสียให้ชัดเพื่อประชาชนจะได้เข้าใจได้ถูก และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้อย่างถูกต้อง” นายมีชัย กล่าว

สำหรับบทความในหัวข้อ “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา” ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา

มีเสียงพูดกันถี่ขึ้นถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันติด ปากว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” บางคนก็บอกว่าต้องยกเลิกเพราะไม่เป็นประชาธิปไตยบ้าง ขัดต่อรัฐธรรมนูญบ้าง เป็นการขัดขวางต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบ้าง

บ้างก็ว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ เพราะโทษที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินไป น่าจะไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

ความคิดเห็นที่แตกต่างหรือการคิดปรับปรุงกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงนั้น ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของแต่ละบุคคลที่จะคิดได้ ถกเถียงกันได้ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าใครผิดหรือใครถูก

แต่ก่อนที่จะเฮโลกันเห็นด้วย หรือคัดค้าน หรือถกเถียงกัน ควรรู้เสียให้ตรงกันก่อนว่ากฎหมายในเรื่องนี้มีว่าอย่างไรบ้าง

เผื่อใครที่มีอำนาจ อยากจะยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติม จะได้ทำได้ถูกและหาเหตุผลชี้แจงให้คนทั่วไปเข้าใจได้

เพราะขึ้นชื่อว่า “กฎหมาย” เมื่อล้าสมัย หรือไม่เหมาะสมกับสังคม หรือขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ก็สมควรยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขได้เสมอ

การกระทำความผิดตามมาตรา 112 นั้น คนชอบเรียกกันว่าเป็นความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ซึ่งทำให้เข้าใจไขว้เขวไปว่า เป็นความผิดที่หาความชัดเจนและ แน่นอนไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า “พระบรมเดชานุภาพ” นั้นกว้างไกลเพียงใด ขึ้นอยู่กับใจของคนว่าใครจะมีความจงรักภักดีต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์มากน้อยเพียงใด คนที่มีความจงรักภักดีอย่างเหลือล้น ก็อาจกล่าวหาคนที่จงรักภักดีอย่างธรรมดาได้ สุดแต่ใครจะหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นข้อกล่าวหาเชือดเฉือนใคร และในที่สุดก็เลยกลายเป็นอาวุธทางการเมือง

ถ้ากฎหมายมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็สมควรยกเลิกหรือแก้ไขเสียใหม่โดยเร็ว

แล้วกฎหมายเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มีความดังนี้ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

แท้ที่จริงแล้ว การกระทำอันจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ มีอยู่ 3 อย่าง คือ หมิ่นประมาทอย่างหนึ่ง ดูหมิ่นอีกอย่างหนึ่ง และแสดงความอาฆาตมาดร้าย อีกอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรให้ต้องยุ่งยากเกี่ยวกับ “พระบรมเดชานุภาพ” ทั้งสิ้น ซึ่งการ กระทำทั้ง 3 อย่างนั้น อย่าว่าแต่ทำกับพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศเลย แม้ทำกับคนธรรมดาก็อาจเป็นความกระทำทั้ง 3 อย่างนั้น อย่าว่าแต่ทำกับพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศเลย แม้ทำกับคนธรรมดาก็อาจเป็นความผิดได้เช่นเดียวกัน

การที่มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูด หรือการแสดงความคิดเห็นนั้น มิได้หมายความว่าจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะสิทธินั้นมาควบคู่กับหน้าที่ คือ ในการใช้สิทธิ ก็ต้องคำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องเคารพถึงสิทธิของคนอื่นด้วย

อยู่ๆ ใครจะลุกขึ้นใส่ร้ายใคร หรือดูหมิ่นใคร หรืออาฆาตมาดร้ายใคร แล้วอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นได้เสียเมื่อไหร่กัน

ตัวอย่างเช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หรือออกแถลงการณ์ว่า ที่ตนสอบตก เพราะอาจารย์ที่สอนวิชานั้น เรียกไปบอกให้จ่ายเงิน มิฉะนั้นจะให้สอบตก เมื่อตนไม่จ่าย อาจารย์คนนั้นจึงให้ตนสอบตก ซึ่งไม่เป็นความจริง ก็อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทได้ หรือลูกศิษย์ไปยืนชี้หน้าด่าอธิการบดีว่า “มึง! ไอ้หน้าเลือด จะขึ้นค่าหน่วยกิตกันไปถึงไหน เห็นใจกูบ้างซิวะ” ก็อาจเข้าข่ายการดูหมิ่นซึ่งหน้า หรือถือไม้คมแฝกไปยืนดักพบอาจารย์ พอพบหน้าก็ยกไม้ขึ้นชี้หน้าพร้อมกับตะคอกว่า มึงไอ้ตัวดี ลองมึงให้คะแนนกูน้อยกว่าคนอื่น กูจะเอาเลือดมึงออกมาล้างตีนให้ดู ถ้าไม่ผิดฐานใดฐานหนึ่งเสียก่อน ก็คงได้ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย

อาจารย์หรือนักวิชาการทั้งหลายคงไม่ลงความเห็นว่า พฤติการณ์ของนักศึกษานั้นเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นที่สุจริต ที่สมควรได้รับการคุ้มครอง

มีนักวิชาการบางคนอ้างว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญาสำหรับคนทั่วไป ทำไมจึงต้องมีการบัญญัติความผิดขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์อีก ทำให้ไม่เสมอภาค และน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ข้อคิดเห็นอย่างนี้แหละที่สมควรจะต้องทำความเข้าใจกัน

ถ้าคนเสนอความคิดเห็นเป็นนักรัฐศาสตร์ นักกิจกรรม หรือนักอะไรต่ออะไร ที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ก็ยังพอทำเนา เพราะต่างคนต่างไม่รู้กฎหมาย การแสดงความคิดเห็นก็อาจเป็นไปโดยสุจริตใจตามที่ฟังๆ เขามา หรือตามความอยาก หรือความต้องการของแต่ละคนซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามพื้นฐานหรือปูมหลังของแต่ละคน แต่ถ้าเป็นนักกฎหมาย ก็น่าสงสัยว่าขาดความรู้จริงๆ หรือพยายามปกปิดความจริงไม่ให้ประชาชนรู้

เพราะตามกฎหมายอาญาของไทยนั้น ไม่ได้ปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษเฉพาะพระมหากษัตริย์ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 112 เท่านั้น หากแต่ได้ปกป้องคุ้มครองบุคคลอื่นๆ ไว้ในมาตราอื่นๆ ด้วยดังจะเห็นได้จากมาตราต่างๆ ดังต่อไปนี้

มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แปลว่า พระราชา พระราชินี คู่สมรส หรือประธานาธิบดีของประเทศไหนๆ ในโลก ไม่ว่าจะมีสัมพันธไมตรีกับเราหรือไม่ ก็ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ

ใครจะเที่ยวได้ใส่ร้าย ดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย ไม่ได้ และไม่ว่าจะไปแอบด่าเขาในเว็บไซต์ หรือยืนตะโกนด่าเขาหน้าสถานทูต ก็เป็นความผิดตามกฎหมายไทยเหมือนกัน

จะด่าโอบามา หรือภรรยาของโอบามา หรือด่ากัดดาฟี ก็อาจมีความผิดตามกฎหมายไทยได้เท่าๆ กัน

มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้แต่บรรดาทูตทั้งหลายที่ได้รับแต่งตั้งให้มาประจำอยู่ในประเทศไทย ไกลบ้านไกลเมืองของเขา เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากกฎหมายไทยเช่นกัน

นอกจากชาวต่างชาติแล้ว คนไทยด้วยกันในฐานะต่างๆ กัน ก็ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากมาตราต่างๆ ดังต่อไปนี้มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 198 ผู้ใดหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้ง แต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับมาตรา 136 นั้น อย่าไปนึกว่าเขียนสั้นๆ เพียงเท่า นั้นแล้วจะไม่มีความหมายอะไร เพราะผลแห่งการคุ้มครองนั้นกว้างขวางนัก กล่าวคือคุ้มครองตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พล ตำรวจ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.เพราะในการทำหน้า ที่ของบุคคลเหล่านั้น เป็นการทำหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานทั้งนั้น การคุ้มครองจึงขยายวงออกไปถึงเรื่องการ “ดูหมิ่น” ไม่ใช่เรื่องการ “หมิ่นประมาท” เหมือนคนธรรมดา

จากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาของไทย จึงเห็นได้ว่าได้ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลที่มีฐานะต่างๆ กันเป็นพิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้คุ้มครองแต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ไทยเท่านั้น

สำหรับพระมหากษัตริย์ของไทย ที่มีบทบัญญัติคุ้มครองเป็นพิเศษ ก็เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐ ธรรมนูญ และเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 8 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

สำหรับมาตรา 8 ดังกล่าวนี้ เห็นจะต้องบอกไว้เสียก่อนว่า ไม่ใช่บทบัญญัติใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 2475 ที่ประเทศ ไทยมีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกเป็นต้นมา ก็มีบทบัญญัติอย่างเดียวกันนี้มาทุกฉบับ ตลอดระยะเวลา 79 ปีที่ผ่านมา บทบัญ ญัติในเรื่องนี้มีถ้อยคำที่แตกต่างกันเพียงคำเดียวคือ ความขึ้นต้นที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ ทรง ดำรงอยู่ในฐานะ...“ นั้น แต่ เดิมไม่มีคำว่า “ทรง” เพิ่งจะมามีในรัฐธรรมนูญ ปี 2534 เป็น ต้นมา ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไป ส่วนถ้อยคำอื่นๆ นั้นเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

ถ้าไม่บอกไว้ให้ละเอียด เดี๋ยวจะมีคนหาว่าเพิ่งจะมาเขียนในรัฐธรรมนูญปี 2550

เมื่อรัฐธรรมนูญรับรองฐานะของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในที่เคารพสักการะ จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีบทกฎหมายกำหนดว่า คนทั่วไปจะต้องทำอย่างไร ซึ่งกฎหมายก็มิได้กำหนดให้ต้องทำอะไรมากไปกว่า “การไม่ไป หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงการอาฆาตมาดร้าย”

กฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมีขึ้นด้วยประการฉะนี้ และเป็นการบัญญัติที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว

อันการกระทำทั้ง 3 อย่างดังกล่าวสำหรับคนไทยโดยทั่วไปนั้น อย่าว่าแต่จะทำองค์พระมหากษัตริย์เลย แม้แต่ครูบาอาจารย์ ไม่ว่าครูบาอาจารย์นั้นจะเป็นคนดีหรือไม่ดีอย่างไร เราก็ไม่ทำเช่นนั้น มิใช่หรือ?

และถ้าเรานึกถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันที่ผูกพันคนไทยไว้ด้วยกัน ก็อาจตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อมีถึง 3 สถาบัน เหตุใดจึงมีกฎหมายคุ้มครองแต่เฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์

ความสงสัยเช่นว่านี้น่าจะเข้าใจได้ เพราะเวลาที่มีคนหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด มักจะพูดถึงแต่การเฉพาะมาตรา 112 ที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์เท่านั้น

แท้ที่จริงแล้วกฎหมายอาญาคุ้มครองทั้ง 3 สถาบันไว้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกัน

ในเรื่องชาติ ซึ่งมีธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์ กฎหมายอาญาก็บัญญัติคุ้มครองไว้ในมาตรา 118 ว่า “ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และไม่เพียงแต่คุ้มครองชาติไทยเท่านั้น แม้แต่ชาติอื่นที่มีสัมพันธไมตรีกับไทย ก็คุ้มครองด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา 135 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำการใดต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐต่างประเทศซึ่งมีสัมพันธไมตรี เพื่อเหยียดหยามรัฐ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท

ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา ประมวลกฎหมายอาญาก็บัญญัติไว้ในมาตรา 206 ว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดแก่วัตถุหรือสถานที่อันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการ เหยียดหยามศาสนา นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งถ้าอ่านให้ดีก็จะเห็นได้ว่า การคุ้มครองศาสนานั้นไม่ได้คุ้มครองแต่เฉพาะศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาที่ถือกันว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทยเท่านั้น หากแต่ได้เผื่อแผ่ไปถึงศาสนาทุกศาสนาที่แต่ละคนเคารพนับถือด้วย

รวมความว่า ประมวลกฎหมายอาญา ได้ให้ความคุ้มครองทั้ง 3 สถาบันไว้เป็นพิเศษ และไม่เพียงแต่คุ้มครองสถาบันที่เป็นของไทยเท่านั้น แต่ได้คุ้มครองไปถึงสถาบันของประเทศทั้งหลายด้วย

บางคนอ้างว่า มาตรา 112 กำหนดให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวเหมือนอย่างการหมิ่นประมาทคนธรรมดาทั่วไป เป็นผลให้ใครๆ ก็สามารถกล่าวหาเพื่อให้ตำรวจเริ่มต้นคดีได้ ซึ่งก็จริงอยู่

แต่บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้นำของรัฐ ทูตานุทูต เจ้าพนักงาน และศาล รวมทั้งการคุ้มครองชาติและศาสนา ก็ล้วนแต่ถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดินเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องการทำผิดต่อสถาบัน ต่อผู้มีตำแหน่งแห่งที่ มิใช่เรื่องส่วนบุคคลของแต่ละคน

ใจคอจะให้พระมหากษัตริย์มาเที่ยวได้ร้องทุกข์กล่าวโทษคนด้วยตนเองอย่างนั้นหรือ? ในเมื่อท่านมีแต่ความเมตตาและความรักให้กับประชาชน

ถ้าทำเช่นนั้นจะไม่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประมุขของชาติดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะดอกหรือ

บางคนอ้างว่ากฎหมายเช่นนี้ ทำให้ขัดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ คนที่พูดเช่นนั้นอาจแยกไม่ออกระหว่างการแสดงความคิดเห็นกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย

คำพูดบางอย่างบางลักษณะพูดกับคนหนึ่งอาจไม่มีความผิดอะไร ไม่เกิดความรู้สึกอะไร ทั้งต่อคนที่พูดด้วย และคนที่ได้ยินได้ฟัง แต่คำพูดเดียวกัน เหมือนกัน ถ้าพูดกับอีกคนหนึ่ง ก็อาจเป็นเรื่องได้ และสังคมคงรับไม่ได้ เช่น

พอพบหน้าเพื่อนที่ไม่ได้พบกันมา 2-3 วันก็ตะโกนขึ้นว่า “ไอ้ห่า มึงหายหัวไปไหนวะ กูนึกว่ามึงตายโหงตายห่าไปแล้ว” เพื่อนก็คงเดินยิ้มเข้ามากอดรัดฟัดเหวี่ยงแล้วชวนกันไปเที่ยวต่อ คนผ่านไปผ่านมาได้ยินเข้า ก็ไม่รู้สึกอะไรเพื่อนก็คงเดินยิ้มเข้ามากอดรัดฟัดเหวี่ยงแล้วชวนกันไปเที่ยวต่อ คนผ่านไปผ่านมาได้ยินเข้า ก็ไม่รู้สึกอะไร

แต่ถ้าอาจารย์เดินเข้ามาในห้องเรียน หลังจากที่ป่วยไม่ได้มาสอน 2-3 วัน แล้วมีนักศึกษาตะโกนขึ้นว่า “ไอ้ห่า มึงหายหัวไปไหนวะ กูนึกว่ามึงตายโหงตายห่าไปแล้ว” ประโยคเดียวกันเหมือนกันทุกตัวอักษร อาจารย์คงไม่เดินเข้าไปลูบ หน้าลูบหลังแล้วชวนไปเลี้ยงข้าว คนภายนอกได้ยินเข้าคง ไม่มีใครสรรเสริญมหาวิทยาลัยแห่งนั้นว่าช่างมีสิทธิและเสรี ภาพดีแท้

สำหรับที่บางคนวิจารณ์ว่าโทษที่กำหนดไว้สูงเกินไป และยิ่งไปนำคดีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ศาลตัดสินจำคุกคนทำผิดถึง 60 ปี ก็ยิ่งดูสมจริงสมจัง

แม้โทษที่กฎหมายกำหนดไว้จะค่อนข้างสูง คือ อาจจำคุกได้ถึง 15 ปี แต่ดูเหมือนศาลยังไม่เคยลงโทษสูงเต็มอัตรา แต่ที่โทษรวมในคดีนั้นดูสูงนัก ก็เพราะเป็นการกระทำความผิดหลายกระทง และยังกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อีกด้วย

คนที่เรียนกฎหมายย่อมรับรู้กันอยู่ทั่วไปว่า ในการกระ ทำความผิดนั้น ถ้ากระทำความผิดหลายครั้ง แต่ละครั้งย่อมถือเป็นการกระทำความผิดเบ็ดเสร็จในตัว ที่เรียกกันว่ากระทงความผิด ซึ่งศาลจะลงโทษไปทุกกระทง

ผู้จัดการธนาคาร ยักยอกเงินของธนาคารไปครั้งเดียว 100 ล้านบาท ถ้าไม่ได้กระทำความผิดอย่างอื่นด้วย ศาลก็ลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่พนักงานขายของในร้านสะดวกซื้อ ยักยอกเงินของร้านไปทุกๆ วัน วันละ 1,000 บาท รวมยักยอกไป 30 วัน จึงถูกจับได้ ได้เงินไป 30,000 บาท อัยการก็คงต้องฟ้องเป็น 30 กระทง ถ้าศาลปรานีลงโทษเพียงกระทงละ 1 ปี เมื่อรวมแล้วก็จะถูกลงโทษ 30 ปี

นักสิทธิมนุษยชนคงร้องลั่นว่า ไม่เป็นธรรม แต่อาจารย์สอนกฎหมายจะเสนอให้แก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมในทัศนะของนักสิทธิมนุษยชนไหม?

โทษตามกฎหมายอาญานั้น บางครั้งก็ถูกเพิ่มขึ้นตามความรู้สึกหนักเบาของสังคมในขณะหนึ่งๆ เช่น เมื่อมีคนขโมยพระพุทธรูปเอาไปขายฝรั่งกันมากขึ้น ก็มีการแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มโทษการขโมยพระพุทธรูปในวัด ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 15 ปี โทษปรับอีกต่างหาก โทษที่กำหนดนั้นสูงกว่าการทำให้คนตายโดยเจตนาด้วยซ้ำไป (การทำให้คนตายโดยไม่เจตนามีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี) ในขณะที่ความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาๆ มีโทษจำคุกเพียงไม่เกิน 3 ปี

ขอย้ำอีกครั้งว่า ความเห็นในเรื่องการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขกฎหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดแต่อย่างใด เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สังคมเปลี่ยนแปลงไป ความรู้สึกนึกคิด หรือความจำเป็น ความต้องการของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ย่อมเป็นปัจจัยที่จะริเริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการหรือวิวัฒนาการของโลกหรือสังคมได้เสมอ แต่คนที่เสนอแนะหรือเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงจะต้องบอกความจริงให้ประชาชนทราบอย่างครบถ้วนว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร

ที่สำคัญ ต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหว แตกต่างกันไป

คนไทยที่ผิวคล้ำหรือดำเป็นตอตะโก ถูกเรียกว่า “ไอ้ดำ” หรือ “ไอ้มืด” อาจจะฉุนอยู่บ้างแต่ก็เท่านั้นเอง แต่ใครไปเรียก คนอเมริกันเชื้อชาติแอฟริกันว่า “ไอ้มืด” หรือ “นิโกร” คนอเมริกันยอมกันได้ที่ไหน จะต้องขึ้นศาลกันกี่ศาลก็เอากันจนถึงที่สุด ยิ่งถ้าใครขืนไปเรียกประธานาธิบดีของเขาอย่างนั้น คงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย อาจถูกไล่ล่าเสียยิ่งกว่าบินลาดิน

ใครไปด่าพ่อแม่ของคนอเมริกัน คนอเมริกันอาจไม่รู้สึกอะไร หรือบางทีก็อาจผสมโรงพลอยด่าไปด้วย แต่ใครมาด่าพ่อแม่ของคนไทย คงได้เจ็บตัวกันไปข้างหนึ่ง

ความรู้สึกของสังคมหนึ่งจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นเครื่องวัดมาตรฐานสำหรับอีกสังคมหนึ่งได้

ใครที่คิดหรือรณรงค์เพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ควรจะได้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า ในเมื่อกฎหมายปัจจุบันให้ความคุ้มครองสถาบันหลักทั้ง 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ อื่นๆ ที่กระทำการตามหน้าที่ ทำไมจึงสมควรยกเลิกการคุ้ม ครองแต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ โดยไม่พูดถึงหรือแตะต้อง การคุ้มครองสถาบันผู้นำสูงสุดของต่างประเทศ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ชาติ และศาสนา ที่กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองอยู่

ทำไมสถาบันอื่นๆ ยังสมควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ

ทำไมจึงจะยกเลิกแต่เฉพาะการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่าเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ เหตุผลคืออะไร

หรือตั้งใจจะยกเลิกการคุ้มครองเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าพนักงาน ก็ไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองกันเป็นพิเศษ ก็พูดมาเสียให้ชัด

เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจได้ถูก และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้อย่างถูกต้อง !!

มีชัย ฤชุพันธุ์
22 ธันวาคม 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น