สมาคมต่อต้านโลกร้อน พาชาวบ้าน 1,047 ราย ยื่นฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายนายกฯ และรัฐทำน้ำท่วมรอบสอง พร้อมขอศาลสั่งชดเชยศพอุทกภัยรายละ 7.75 ล้านเท่าม็อบการเมือง
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯ ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ 1 และทีมทนายความ 11 คน ได้นำชาวบ้านประมาณ 100 คนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่มอบอำนาจให้สมาคมฯทั้งในนามบุคคล และบริษัทหรือโรงงานจำนวนทั้งสิ้น 1,047 ราย เข้ายื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐรวม 11 หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากการฟ้องครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา (คดีหมายเลขดำที่ ส.401/2554) เพื่อเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชย กรณีบริหารจัดการน้ำท่วมผิดพลาด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนผู้ฟ้องคดี ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีส่วนใหญ่ได้เดินทางมาศาลด้วยตัวเอง เพื่อให้ถ้อยคำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ตามหลักเกณฑ์ของศาล เนื่องจากเป็นคดีมีทุนทรัพย์
ทั้งนี้ สมาคมฯ และผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอเพิ่มเติมต่อศาลเพิ่มเติม คือ ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนและเสียหายของผู้ฟ้องคดีที่มีญาติ หรือทายาท หรือบุพการี หรือผู้สืบสันดาน ที่ต้องมาเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ หรือบาดเจ็บอันเนื่องมาจากความผิดพลาด ล้มเหลว หรือความล่าช้าเกินสมควร หรือการละเลย หรือการละเมิด หรือการประมาทเลินเล่อของผู้ถูกฟ้องคดี โดยจ่ายเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เทียบเท่าจำนวนเงินที่รัฐบาล และหรือคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจ่ายค่าชดเชยหรือเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่าย หรือการกำหนดมาตรการ กลไก และวิธีการเพื่อส่งเสริมการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
“เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ในการเห็นชอบชดเชยเยียวยาค่าเสียหายแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองรายละ 7.75 ล้านบาท ซึ่งในกรณีผู้เสียชีวิตจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำท่วมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 816 ศพ ดังนั้น ทายาทหรือญาติของผู้เสียชีวิต ควรที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยาเทียบเท่าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองด้วย ไม่เช่นนั้นจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30” นายศรีสุวรรณกล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การฟ้องครั้งนี้ทางสมาคมฯ ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ฟ้องคดีแทนจำนวน 695 ราย เป็นค่าเสียหายราว 2,500 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการฟ้องครั้งแรกที่มีผู้ฟ้องคดี 352 ราย ค่าเสียหายราว 740 ล้าน ทำให้ขณะนี้มีผู้เดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมที่มอบหมายให้สมาคมเป็นตัวแทนฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว 1,047 ราย รวมค่าเสียหายประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งทั้งหมดยื่นฟ้องขอให้นายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นที่มีตั้งแต่เสียหายหลักแสนบาท และสูงสุดคือ 350 ล้าน ที่เป็นการฟ้องในนามบริษัท ซึ่งโรงงานใน จ.อุยธยาได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตามในการฟ้องครั้งนี้ทางสมาคมได้มีคำขอเพิ่มเติมต่อศาลขอให้ศาลฯสั่งให้นายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุอุทกภัยครั้งนี้ที่มีประมาณ 816 ศพ ๆ ละ 7.75 ล้าน เท่ากับผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองตามมติครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา
“คำขอเรื่องนี้ทางญาติผู้เสียชีวิต และผู้ประสบภัยก็ได้พูดคุยกันเห็นว่า กรณีเสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมก็เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เช่นเดียวกับผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองดังนั้นก็ควรได้รับค่าชดเชยเยียวยาเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้ารัฐบาลจริงใจและยินดีจ่ายค่าชดเชยในอัตรานี้ให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุน้ำท่วมก็เชื่อว่ารัฐบาลจะเป็นที่รักใคร่ของประชาชนอีกเยอะ” นายศรีสุวรรณ กล่าวและว่า ทางสมาคมฯ ยังคงได้รับการร้องเรียนจากผู้ประสบเหตุน้ำท่วมขอให้ช่วยฟ้องคดีอย่างต่อเนื่องซึ่งก็จะมีการฟ้องรอบ 3 ในปลายเดือน ก.พ. รวมทั้งทางสมาคมฯ กำลังพิจารณาว่าจะฟ้องรัฐบาลอีกคดีหรือไม่ในกรณีที่ส่งเสริมให้ 7 นิคมอุตสาหกรรมทำกำแพงสูงเพื่อกั้นน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำเข้าท่วมชุมนุมแทนที่จะท่วมนิคมฯ โดยทางสมาคมฯ ได้มีหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว หากยังเดินหน้าก็จะฟ้องเป็นคดีต่อไป