อดีต ผอ.ข่าวกรองฯ ชี้ ฝ่ายความมั่นคงต้องคุ้มครองดูแลไม่ให้เกิดเหตุ ทำตามหน้าที่ไม่ได้ชักศึกเข้าบ้าน เตือนคนให้ข่าวต้องคิดถึงประโยชน์ชาติ มากกว่าผลประโยชน์ทางการเมือง “ศ.ดร.อิมรอน” ติงอย่ารีบปักใจเชื่อเป็นพวก “ฮิซบอลเลาะห์”
จากกรณีที่ทางการไทยควบคุมตัวนายอาทริส ฮุสเซน ชาวเลบานอน ผู้ต้องสงสัยจะเข้ามาก่อการร้าย และนำไปสู่การตรวจค้นโกดังจนพบสารเคมีส่วนประกอบระเบิดจำนวนมาก เช่น แอมโมเนียไนเตรต และยูเรีย โดยนายอาทริสให้การว่าตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ อดีต ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวในรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นแชนแนลว่า เรื่องการก่อการร้ายระหว่างประเทศถือว่าเป็นหนึ่งในภัยที่คุกคามต่อโลกที่ต้องคอยเฝ้าติดตามใกล้ชิด ไม่มีประเทศใดจะปลอดการก่อการร้าย 100% การทำงานป้องกันก่อการร้ายระหว่างประเทศต้องร่วมมือ กันในหมู่มิตรประเทศ ในกรณีนี้ หน่วยข่าวของไทย เฝ้าติดตามการก่อการร้าย ในไทยมาโดยตลอด ในกรณีนี้พบตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีผู้ต้องสงสัยเข้ามาในประเทศไทย หน่วยข่าวก็เฝ้าติดตามดู
เราได้ข้อมูลจากมิตรประเทศมา ต้องดูว่าจริงหรือไม่ บางประเทศให้ข้อมูลมาเพราะอยากให้เราคิดเหมือนเขา แต่จากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกันมา ข้อมูลจาก อิสราเอลนั้นข้อมูลส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อถือได้ แต่เราก็ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมจะต้องทำในขณะนี้ ทำไมเลือกท่ประเทศไทย ทั้งที่มีอีกหลายประเทศ และถ้าทำ ได้สำเร็จแล้วจะมีผลอย่างไร โดยปกติเราจะไม่เปิดเผยต้นตอของข้อมูล การสืบสวนทางลับปกติจะทำอย่างเงียบๆ ส่วนกรณีสหรัฐฯ เตือน เขามีสิทธิ์เตือนคนของเขา แต่ประเทศเราเสียหาย น่าจะพูดคุยกับทางเราก่อนที่จะเผยแพร่ข่าว เพื่อหาจุดประนีประนอมกัน
ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม รองประธานกรรมการกลางอิสลาม กล่าวว่า การต่อสู้ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์นั้นมีความมุ่งมั่นต่อสู้กับอิสราเอลโดยเฉพาะ ตนยังมีความรู้สึกว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ไม่น่าจะมีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมก่อการร้าย ยังไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่านี่เป็นสมาชิกของฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งทางโน้นปฏิเสธว่าไม่ใช่สมาชิกของเขา อาจจะเป็นกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ในโลกมุสลิมก็ไม่เชื่อว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มก่อการร้าย อยากจะเตือนรัฐบาลว่าอะไรที่ไม่เป็นศัตรูกับเราอย่าชักศึกเข้าบ้าน
ศ.ดร.อิมรอนยังกล่าวว่า เท่าที่ตนได้พูดคุยกัยมุสลิมในไทย ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเป็นกลุ่มฮิสบอเลาะห์ เรารู้จักกลุ่มนี้มานาน
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในกรณีนี้ประการแรก คือ ประชาชนตื่นตระหนกเกินจำเป็น กระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะมองว่าประเทศเราไม่ปลอดภัย แต่คิดว่าคงไม่นาน เราไม่ใช่เป้าหมายหลัก ประการที่ 2 กรณีนี้ทำให้เราถูกมองว่าพึ่งพิงบางประเทศมากเกินไป ถูกมองว่ารับข้อมูลมาใช้ไม่รอบคอบ ถูกมองว่าเราไม่ได้ติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้น ดูเหมือนเราอยู่ภายใต้การชี้นำ การกำกับ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือ
และประการที่ 3 กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ประเทศเราไม่ใช่คู่กรณี ภายในกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เองก็มีกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม มีกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มอนุรักษนิยม ปกติเราไม่เอา ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง แต่ถ้าเข้ามาก่อการในประเทศเราก็จับ ในอดีตเราจับกุม ปัจจุบันนี้มีกฎหมายต่อต้านก่อการร้าย ก็สามารถจับกุมได้ในขณะที่อยู่ ระหว่างการวางแผนจะก่อการร้าย
นายภุมรัตน์กล่าวว่า การมองว่าเราไปยุ่งในเรื่องความขัดแย้ง หรือชักศึกเข้าบ้านนั้น ทุกๆรัฐบาล หน่วยงานความมั่นคง ทำไปตามหน้าที่ เรามีข้อมูลของเราเอง โดย ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก แต่การป้องกันการก่อการร้ายจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนข่าวกรองกัน หากมีใครเอาความขัดแย้งของตนเอง แต่มาทำในบ้านเรา ให้บ้านเราเสียหาย เราต้องทำหน้าที่ เราไม่ได้เข้าไปยุ่งกับเขา แต่เราเป็นประเทศเจ้าบ้าน ต้องคุ้มครองดูแล ถ้าปล่อยไปสิ่งที่เกิดขึ้นจะ รุนแรงมาก
สำหรับการให้ข่าวต่างๆ ออกมา นายภุมรัตน์กล่าวว่า ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมือง หน่วยข่าวต่างๆ คงอึดอัด บางทีควรพูดน้อยๆ ลงหน่อย และก่อนจะพูดอะไรควรคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานก่อน ถึงจะหวังผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ก็ต้องมองผลของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ด้วย
ศ.ดร.อิมรอนกล่าวว่า อยากจะบอกรัฐบาลว่า ควรวางตัวเป็นกลางให้ชัดเจน อย่าเอียงไปทางใดทางหนึ่ง บางทีถ้ายังไม่มีหลักฐานชัดเจน ก็ควรจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นบ้าง เรื่องไม่ควรเป็นเรื่องอย่าทำให้เป็นเรื่อง เหมือนที่ผ่านมาสหรัฐฯ โจมตีอิรัก ประเทศในอาเซียนมีประเทศไทยและฟิลิปปินส์ที่ส่งทหารไปร่วม ทำให้ประเทศมุสลิมไม่พอใจอย่างมากในขณะนั้น