ที่ประชุมรัฐสภา มีมติสั่งงดประชุม 3 วัน สัปดาห์นี้ หวังให้ ส.ส.-ส.ว.ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุกทกภัยเต็มที่ตั้ง ด้านที่ประชุม ครม.เซ็นตั้ง “ประชา” เป็นประธานเยียวยาภาคใต้ “บังยี” โผล่นั่งกรรมการ ให้อำนาจเสนอความเห็นนายกฯ ครม.ดับไฟ พร้อมให้จัดประชุมร่วม โอไอซี-ทูตมุสลิมทำความเข้าใจสถานการณ์ ให้เวลาทำงาน 1 ปี
วันนี้ (11 ต.ค.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 รักษาราชการแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ติดภารกิจอยู่ที่ต่างประเทศ และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา แล้วเห็นตรงกันว่า ส.ส.และ ส.ว.มีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแล และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จึงของดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12-13 ต.ค. รวมทั้งงดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17 ต.ค.นี้
ด้าน นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมคณะกรรมมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรนั้น จะมีการประชุมกันตามปกติ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมมาธิการว่าจะพิจารณาอย่างไร
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การดำเนินงานในการเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นธรรม โดยคณะกรรมการทั้งสิ้น 29 คน มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นกรรมการ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ นายธงทอง จันทรางศุ เป็นกรรมการ นายโคทม อารียา เป็นกรรมการ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นกรรมการ นางอังคณา นีละไพจิตร นายวรวีร์ มะกูดี เป็นกรรมการเป็นต้น
ส่วนอำนาจหน้าที่นั้นต้องมีการสำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริง จัดทำฐานข้อมูล จัดให้มีเวทีสาธารณะ และการประชุมผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา หรือเยียวยาแล้วแต่ไม่เป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี และครม.เกี่ยวกับแนวทางแก้ไข ปัญหา การพัฒนา และการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งจัดให้มีการประชุมคณะทูตของประเทศมุสลิม ผู้แทนองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและเผยแพร่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกับประเทศมุสลิม รวมทั้งให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณได้จัดสรรเงินงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและให้เพียงพอกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมกรรมการ ทั้งนี้ยังระบุให้คณะกรรมการดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่ง