“ยิ่งลักษณ์” เยือน “อิเหนา” แนะนำตัวนายกฯไทยอย่างเป็นทางการ ชื่นชมบทบาทอินโดนีเซียฐานะประธานอาเซียน ระบุไทยพร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน ต่างยึดมั่นในค่านิยมส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และนิติรัฐ
วันนี้ (12 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะประกอบด้วยบุคคลสำคัญ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยาน Halim Perdanakusuma กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อเยือนอย่างเป็นทางการพร้อมแนะนำตัวหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย โดยมี ดร.ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียรอให้การต้อนรับที่ทำเนียบประธานาธิบดี (Istana Merdeka) พร้อมเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศและทักทายบุคคลสำคัญของอินโดนีเซีย
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีได้หารือข้อราชการร่วมกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จากนั้นมีการหารือเต็มคณะ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ และขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่นในฐานะมิตรประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือขึ้นหารือ โดยทั้งสองฝ่ายพอใจพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียที่มีความใกล้ชิดและมีพลวัตรในทุกด้านและทุกระดับ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือกับอินโดนีเซีย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนของประเทศ
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านต่างๆ ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเห็นว่าไทยและอินโดนีเซียต่างยึดมั่นในค่านิยมและหลักการที่คล้ายคลึงกันในอันที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และนิติรัฐ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีอินโดนีเซียต่างพอใจพอใจในความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสองประเทศ ที่เพิ่มพูนขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังคงมีลู่ทางที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมฮาลาล พลังงาน และประมง โดยใช้จุดแข็งของกันและกันส่งเสริมความร่วมมือต่อกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนความร่วมมือกับอินโดนีเซีย บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนของไทย ดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องช่วยผลักดันให้มีการลงนามในความตกลงทางการค้าระหว่างกันได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ไทยประสงค์ที่ขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งไทยเองมีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล และประสงค์ที่จะส่งสินค้าอาหารไทยที่มีตราฮาลาล ออกไปยังอินโดนีเซียให้มากขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก ทำให้ตลาดสินค้าฮาลาลในอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่
สำหรับความร่วมมือด้านการประมง อินโดนีเซียมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งประมงนอกน่านน้ำที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของไทย และไทยมีนโยบายที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียในเรื่องการประมง บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
ส่วนด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการผลิตไบโอดีเซล และประสงค์ที่จะให้มีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ เทคโนโลยีรวมถึงงานวิจัย ระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณที่รัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุนบริษัทของไทยเป็นอย่างดี พร้อมย้ำว่า บริษัทเอกชนของไทยต่างดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหลัก
นอกจากนี้ ในประเด็นความสัมพันธ์พหุภาคี นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมบทบาทนำของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ในการผลักดันบทบาทอาเซียนให้โดดเด่น ทั้งในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองและความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนการดำเนินการของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 ซึ่งอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพที่บาหลี ในเดือนพฤศจิกายนศกนี้จะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนที่มีบทบาทสนับสนุนการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา และยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งขอบคุณประธานาธิบดีต่อการสนับสนุนและความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตลอดจนความร่วมมือในกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation - OIC)
จากนั้นเวลา 11.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ และดร.ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ได้แถลงข่าวร่วมกัน ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ภายหลังการหารือข้อราชการเต็มคณะ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้เยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้กรุณาให้เกียรติต้อนรับอย่างดียิ่งและอบอุ่น ในฐานะมิตรประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนอินโดนีเซียในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง การหารือกับประธานาธิบดีมีสาระครอบคลุมทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี โดยนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ แสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีสำหรับความสำเร็จด้านนโยบายการปฏิรูปประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของอินโดนีเซีย ซึ่งมีความก้าวหน้าภายใต้การนำดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน
นอกจากนี้ ในระดับทวิภาคี นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีอินโดนีเซียต่างพอใจพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียที่มีความใกล้ชิดและมีพลวัตรในทุกด้านและทุกระดับ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือกับอินโดนีเซีย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศทั้งสอง
นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านต่างๆ ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีความคืบหน้า นอกจากนี้ ทั้งไทยและอินโดนีเซียต่างยึดมั่นในค่านิยมและหลักการที่คล้ายคลึงกันในอันที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และนิติรัฐ
นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีพอใจที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพิ่มพูนขึ้นระหว่างสองประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน ในปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียมีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องว่ายังคงมีลู่ทางที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมฮาลาล พลังงาน และประมง โดยใช้จุดแข็งของกันและกันส่งเสริมความร่วมมือ ปัจจุบัน มีภาคเอกชนไทยจำนวนมากที่ลงทุนและดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำกับประธานาธิบดีว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนความร่วมมือกับอินโดนีเซียบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และสนับสนุนให้บริษัทเหล่านี้ของไทยดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) นอกจากนี้ เรายังหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงทางการค้าระหว่างกันได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
ในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมบทบาทนำของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ในการผลักดันบทบาทอาเซียนให้โดดเด่น ทั้งในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 พร้อมทั้งยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองและความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนการดำเนินการของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนอย่างเต็มที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 ซึ่งอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพที่บาหลี ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ จะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
ในฐานะประเทศมุสลิมสายกลางที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก อินโดนีเซียเป็นพันธมิตรและตัวเชื่อมสำคัญระหว่างไทยกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ถือโอกาสนี้ขอบคุณประธานาธิบดีอินโดนีเซียต่อการสนับสนุนและความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตลอดจนความร่วมมือในกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation - OIC)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สานต่อผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีในการเยือนครั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนของเราทั้งสองต่อไป