“คุณชายดิศนัดดา” ระบุน้ำคือพระเจ้าอยู่หัว ป่าคือสมเด็จพระนางเจ้า เตือนสติ นายกฯ-รมต.-อธิบดี-ปลัด มีหน้าที่รักษาป่าอนุรักษ์ พร้อมสอนผ่านโครงการ“ปลูกป่า ปลูกคน” ต้องรู้แจ้งรู้จริงต้นเหตุของปัญหา ย้ำทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน ยก“โสเภณีดีกว่าคนโกงกินชาติ”ชี้ปมปัญหาความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล นายกฯ ผู้ว่าฯ ส่งผลแนวทางดำเนินการไม่ต่อเนื่อง ห่วงอนาคตอาหารโลกวิกฤต หันกลับให้ความสำคัญการเกษตร ควบคู่อุตสาหกรรม
วันนี้(14 ม.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น.ที่ดอยตุง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน ๖ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มายังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อไปตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมีม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เจ้าหน้าที่โครงการและประชาชนให้การต้อนรับ
จากนั้นม.ร.ว.ดิศนัดดา ได้บรรยายสรุปเรื่อง “ปลูกคน ปลูกป่า”และโครงการขยายผลการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนนั้น ตนสามารถพูดได้ทั้งวัน เพราะมีข้อมูลมาก แต่วันนี้นายกรัฐมนตรีกรุณามาสายนิดหน่อย จึงทำให้เวลาในการบรรยายลดน้อยลง ดังนั้นตนต้องพูดให้เร็วขึ้น ซึ่งตนก็ไม่ได้ต่อว่าใคร ส่วนเรื่องป่าควรจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งการปลูกป่านั้นต้องทำที่คน เพราะคนคือต้นเหตุของทุกอย่าง ดังนั้นการพัฒนาจะต้องยึดคนเป็นศูนย์กลาง เพราะป่าจะโยงไปยังเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรากเหง้าของปัญหาในดอยตุง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรน้ำขาดแคลน ยาเสพติด ค้ามนุษย์นั้น ต้นเหตุของปัญหาคือ เจ็บ จน และไม่รู้ หากถามว่าทำไมประชาชนบนดอยตุงเขาต้องปลูกฝิ่น เพื่อนำเงินมาเลี้ยงชีพ ถามว่าเขาผิดตรงไหน ถ้าเป็นตนก็ทำ เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นเราต้องเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง จึงอยากให้นายกฯเข้าใจปัญหาตรงนี้ เพื่อนำประเทศชาติไปในทางที่ถูกที่ควร ทั้งนี้หลักการปลูกป่าขอแม่ฟ้าหลวงไม่ได้มองเป็นเพียงการปลูกต้นไม้ แต่ใช้เป็นพาหะในการแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ประเด็นสำคัญเราต้องรู้จริงรู้แจ้งว่า ทำไมคนถึงตัดไม้ทำลายป่า ถ้าเราเข้าไปศึกษาถึงสาเหตุให้ลึกซึ้ง จะพบว่าการตัดไม้นั้นทั้งเสี่ยงต่อการถูกจับ เสี่ยงต่อการไม่มีน้ำกิน ยิ่งตัดยิ่งแล้ง เรื่องนี้ชาวบ้านรู้ดีกว่าเรา เพราะอยู่ในพื้นที่มาตลอดชีวิต ยิ่งตัดมากเท่าไรก็ยิ่งต้องเดินทางไปหาน้ำแบกมาใช้ไกลมากขึ้น ฉะนั้นเขาไม่ต้องการทำลายป่า แต่เหตุผลของการตัดไม้ที่แท้จริงคือ ความยากจน และการขาดโอกาสเพราะไม่มีทางเลือก จึงจำเป็นต้องทำนี้คือข้อเท็จจริง
“น้ำคือพระเจ้าอยู่หัว ป่าคือสมเด็จพระนางเจ้า ดังนั้นอธิบดีป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยาน ขอให้ฟังสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของพวกคุณ ไม่ใช่หน้าที่ผม ไม่มีใครมาจ้างผมทำงาน แม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้จ้างผม เขาขอให้ผมมาทำช่วยชาติ เลยเสียตัว ตอนนี้ท่านทำผมท้องแล้ว ต้องรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ทำผมท้องแล้วจะมาทำผมแท้งไม่ได้ การแก้ปัญหาต้องรู้แจ้งรู้จริงว่าต้นเหตุของปัญหาอยู่ตรงไหน สรุปง่ายๆ คือ บนดอยต้องทำให้เป็นป่า และต้องเก็บน้ำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส และดร.สุเมธ นำมาแปลต่อ และสอนผม ดร.สุเมธฉลาดเป็นที่ปรึกษาให้เราเป็นประธาน และบอกให้เราทำ เขาก็สบาย” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ข้อต่อสำคัญในการปลูกป่า จะต้องมีปลัดอำเภอ และลงไปอยู่ในหมู่บ้าน กินนอนกับชาวบ้านอีกข้อต่อคือ ชาวบ้านในพื้นที่ โดยให้ชุมชนเลือกผู้แทนมาเป็นอาสาสมัครพัฒนา อสพ.ถ้าดีไม่ดีชาวบ้านก็รับผิดชอบเอง เราไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ได้เลือก โดยสรุปแล้วข้อต่อจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล 1 คน และอีกคนคือ ตัวแทนชุมชน ถ้าไม่มี 2 ตัวนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ดังนั้นต้องปลูกป่า และปลูกคน ป่าเศรษฐกิจ ตนไปเอามาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นคนออกเงิน อันนั้นชัยพัฒนาก็มาให้แม่ฟ้าหลวงทำ เขาชอบคิดแล้วให้คนอื่นทำ ท่านนายกฯระวัง เกิดการพัฒนาดอยตุง และไม่ใช่ทหารโครงการดอยตุงก็ไม่เกิดขึ้น ไปดูประวัติได้ คนสำคัญคือพล.อ.จรวย วงษ์สายัณฑ์ เสนาธิการทหารบก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก และคนที่สามคือพลเอกเปรม ติณสูญลานนท์ ประธานองคมนตรี ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงได้ดันเรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวต่อว่า เรื่องของเลขและการวางแผนเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ หากเราแบ่งการใช้สอย ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ พื้นที่ใช้สอย ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย นำสิ่งเหล่านี้มาวิเคราะห์ เรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาคุยกันก็จะทำให้ป่ากลับมาได้ถึง 80 % ซึ่งเชื่อว่าวิธีการนี้ทำได้ และทำมาแล้ว ทั้งหมดต้องสร้างความเข้าใจ และมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งชุมชนต้องเป็นเจ้าของ ต้องคิดผลประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลได้อะไร ชาวบ้านได้อะไร แล้วปรับตามภูมิสังคม สำคัญที่สุดคือทุกภาคส่วน รัฐบาลกลาง ซึ่งนายกฯ รัฐมนตรี อธิบดี ปลัดกระทรวงต้องเอากับเรา นั่นคืออันดับแรก ส่วนอันดับที่สองคือ ผู้ว่าฯของจังหวัดนั้น ข้าราชการ ต้องเอากับเรา เห็นชอบในวิธีการร่วมกัน และอันดับที่สามคือชุมชน รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องร่วมด้วย ทุกขั้นตอนรวมถึงชุมชน ต้องสร้างความเข้าใจและต่อเนื่อง อย่างรัฐบาลที่ทำไม่สำเร็จ ต้องขอโทษ ไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้ แต่ว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ทุกรัฐบาล ไม่มีความต่อเนื่อง มีหรือไม่โครงการ 10 ปี หรือ 12 ปี แต่ปีหนึ่งก็ตัดงบประมาณทีหนึ่ง มันไม่ต่อเนื่อง คนก็ไม่ต่อเนื่อง มาที่ก็เปลี่ยนผู้ว่าฯที มันก็เปลี่ยนไปเรื่องแล้วมันจะต่อเนื่องได้อย่างไร ถ้ารัฐบาลหรือยายกฯ อยู่ยาวซักหน่อย มันก็จะมีความต่อเนื่อง แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทุกคนจะต้องใส่ชิฟเข้าไปในสมองว่า ทุกอย่างที่เราทำ ชาวบ้านได้อะไร
“ผมอยากให้รัฐบาลคิดอย่างนี้เหมือนกันว่า ทุกคนควรจะคิดว่าทุกบาททุกสตางค์ที่ใส่ไป ชาวบ้านได้อะไร วัด ได้หรือไม่ สังคม สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ เอาวิชาการเข้ามา ซึ่งมันทำได้ และถ้าเป็นเงินส่วนตัวของท่าน ท่านจะทำหรือไม่แบบนี้ ถ้าเป็นเงินส่วนตัวที่ท่านหามาโดยชอบธรรม ท่านจะทำหรือไม่แบบนี้ ถ้า 2 ข้อนี้อยู่ในใจเสมอ จะไม่มีทางที่จะทำพลาด ผมเชื่อว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จ ไม่ว่าใครก็ทำได้”ม.ร.ว.ดิศนัดดา
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวต่อว่า นี่ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เราจะทำได้ดีที่สุด และเซฟเงินรัฐบาลไว้ได้ และเป็นประโยชน์กับชุมชน ชาวบ้านได้จริง ๆ อีก 30 ปี น้ำมันกินไม่ได้ อาหาร ณ วันนี้ขาดตลาดโลก 1,200 ล้านคน อีก 30 ปี จะมี 3 พันล้านคนเกิดขึ้น จะกินอะไร ดังนั้นกรุณากลับไปอาชีพเดิมของเราคือเกษตรกรรม อุตสาหกรรมไม่ทิ้ง แต่กลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรม แล้วกระจายออกตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ อย่าไปกระจุกที่กทม.ไม่ได้ ทั้งหมดสรุปง่าย ๆ ก็คือความมั่นคงของชาติ จะสังเกตได้ว่าเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส ไม่มีพระราชดำรัสตรงไหนที่ไม่มีคำว่าความมั่นคง ซึ่งเรื่องของความมั่นคง ตนและทหารทำมาเยอะ ดังนั้นประชาชนจะมีความผาสุก
จากนั้น ม.ร.ว.ดิศนัดดา ได้พานายกรัฐมนตรี พร้อมผบ.ทบ. และดร.สุเมธ ไปดูโครงการปลูกป่าเศรษฐกิจที่นวุติไซด์ 1 โดยนายกฯได้ชื่นชมโครงการปลูกป่าเศรษฐกิจว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะ นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ซึ่งนายกฯได้พูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ให้ช่วยพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน และช่วยสร้างความเข้มแข็งตามแนวชายแดน เพราะถ้าไม่มีปัญหายาเสพติดและไม่มีการสู้รบตามแนวชายแดนก็จะทำให้การพัฒนาเข้มแข็งขึ้น
"ปู" อ้อน "สุเมธ" ทำงานกยน.ต่อ เจ้าตัวบอกไล่ก็ไม่ไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านั้น ดร.สุเมธ ได้เดินทางมาถึงก่อน จากนั้นพล.อ.ประยุทธ ได้เดินทางมาถึง และได้พูดคุยกับม.ร.ว.ดิศนัดดา ฯ กระทั่งนายกฯได้เดินทางมาถึง ได้เข้าไปยกมือไหว้ทักทาย ดร.สุเมธ ซึ่งได้ยืนพูดคุยกับนักข่าว
โดยดร.สุเมธ ได้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า ผู้สื่อข่าวมาถามตนว่าโดนบังคับให้ลาออกจากที่ปรึกษากยน.หรือยัง ซึ่งตนก็บอกว่าถ้านายกฯไม่ไล่ก็ไม่ไป นายกรัฐมนตรี จึงกล่าวตอบว่า "ไม่ได้ ไม่ยอม เริ่มต้นก็ต้องประคับประคองไปด้วยกัน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเสนอข่าวการที่ดร.สุเมธไม่ร่วมประชุมกยน.เพราะน้อยใจและไม่พอใจการแบ่งงาน