xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จี้จ่ายย้อนหลังเหยื่อการเมืองในอดีต คดีฆ่าตัดตอน เหตุการณ์ใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” แนะ ครม.ทบทวนนโยบายเยียวยาเหยื่อการเมือง ย้ำควรจ่ายย้อนหลังให้กับเหยื่อในอดีต และคดีฆ่าตัดตอน รวมทั้งเหตุการณ์ 3 จว.ภาคใต้ หวั่นก่อชนวนความขัดแย้งจากเจ้าของภาษี พร้อมอาสาร่าง รธน.ให้ฟรี แขวะข้ออ้าง คอ.นธ.ไม่เอา ส.ส.ร.เพื่อความรวดเร็วประหยัด พร้อมย้ำยังห่วง พ.ร.ก.4 ฉบับ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติ ครม.ที่มีการเยียวยาให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองว่า ตนคิดว่าหลักคิดโดยภาพรวมมีปัญหา เพราะเมื่อได้ดูในรายละเอียดแล้วพบว่าขอบเขตหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้จะต้องดูให้ดี ไม่เช่นนั้นจะสร้างความรู้สึกว่าเลือกปฏิบัติ เพราะมีการพูดถึงความขัดแย้งหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่พูดถึงกรณีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนปี 2548 เช่น พฤษภา 35 ตุลา 16 ตุลา 19 ซึ่งอย่ามองว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว เพราะมีการเรียกร้องให้จ่ายชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมกับรัฐบาลที่แล้ว

อีกทั้งกรณีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ถือว่ามีผู้สูญเสียมีเหยื่อผู้บริสุทธิ์มากมาย จะได้รับด้วยหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ชี้แจงต่อสภาฯ ว่าได้ด้วย แต่ในมติคณะรัฐมนตรีกลับไม่ปรากฏ แล้วยังมีกรณีฆ่าตัดตอนเรื่องยาเสพติด ซึ่งผู้ออกนโยบายในขณะนั้นต่อมายอมรับว่าเป็นการดำเนินการผิดพลาด แล้วคนเหล่านี้จะได้ค่าชดเชยเยียวยาด้วยหรือไม่ และประเด็นที่ศาลพิพากษาแล้วว่าเป็นผู้ตั้งใจไปทำผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลจะเอาเงินภาษีอากรไปชดเชยให้ด้วยนั้น ควรจะต้องดูหลักเกณฑ์ให้ดีก่อน เกรงว่าจะกลายเป็นการเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นมา

“รัฐบาลต้องดูหลักเกณฑ์ให้ดีไม่เช่นนั้นอาจมีปฏิกิริยาจากกลุ่มคนอื่นๆ หรือจากผู้เสียภาษี แทนที่จะช่วยเรื่องการปรองดอง แต่กลายเป็นเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นมาอีก แต่กรณีของผู้ที่โดนลูกหลงที่มาชุมนุมโดยไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมาย คนเหล่านี้เมื่อเกิดความสูญเสียแล้วการที่เขาได้รับการเยียวยา ผมคิดว่าเป็นมาตรการที่ปฏิบัติกันในสากล แต่ถ้าจะเหมารวมหมดอันนี้อันตราย เพราะในบางเหตุการณ์ บางกรณีมีคนที่จงใจเข้ามาทำผิดกฎหมายก็มี”

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์เห็นว่า ตนยังไม่แน่ใจว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องใด แต่เมื่ออยากมีโอกาสปรับปรุงรัฐธรรมนูญ และเป็นนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภาฯ ว่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร.ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งก็เป็นแนวทางที่รับได้ เพียงแต่ขอดูกระบวนการต่างๆ ให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าเป็นการมีส่วนร่วมที่ไม่มีการเอนเอียงทางด้านการเมือง และเป็นการแก้ไขเพื่อให้ระบบดีขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคน หรือกลุ่มบุคคลใด

“ที่ คอ.นธ.จะไม่เอา ส.ส.ร. แต่ให้ตั้ง 30 กว่าคน โดยอ้างว่าเร็วและประหยัดเงิน ซึ่งผมก็ไม่เถียง แต่ถ้าอย่างนั้นให้ผมทำคนเดียวก็ได้วันเดียวก็เสร็จ ไม่ต้อง 7 วัน ผมก็มีความคิดของผม รัฐธรรมนูญหลายมาตราผมก็อ่านมาในฐานะนักการเมือง ใช้คนน้อยกว่าด้วย ไม่ต้องเสียเงินให้ผมด้วย ฉะนั้นประเด็นเหล่านี้คงไม่ใช่ แต่จะต้องตั้งหลักให้ดี”

นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความเป็นห่วงถึง พ.ร.ก.4 ฉบับที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว แต่ไม่กลับไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในขณะที่กำลังจะประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในเร็ววันนี้ แต่แม้จะยังไม่เห็นรายละเอียดตัวเงินกองทุน และโครงการบริหารจัดการ แต่ก็เห็นด้วยกับกองทุนประกันภัย ส่วนเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้านก็เป็นเรื่องที่จำเป็น แม้จะมองว่ามีทางเลือกอื่น แต่รัฐบาลอยากให้ ธปท.เป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็ถือว่าพอรับได้ แต่ พ.ร.ก.ที่มีปัญหา 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยเยียวยาเรื่องน้ำท่วม

“ผมเห็นว่าแผนของรัฐบาลไม่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการกู้เงินจำนวนดังกล่าวโดยทันที เพราะหลายโครงการเป็นแผนการใช้เงินในระยะ5 ปีขึ้นไปทั้งนั้น เหตุใดจึงต้องทำเป็น พ.ร.ก. อีกทั้งประชาชนจำนวนมากเกิดความกังวลว่าหลายโครงการที่เกี่ยวกับการชดเชยเยียวยาน้ำท่วมนี้จะนำไปสู่การทุจริตครั้งใหญ่ ในขณะที่หากจัดทำเป็น พ.ร.บ.แล้ว สภาฯ จะมีโอกาสตรวจสอบ และเกิดความโปร่งใส”

ส่วน พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูนั้น ทางพรรคฯ มองว่าขัดรัฐธรรมนูญที่จะออกเป็น พ.ร.ก. เพราะหากไม่มี พ.ร.ก.ตัวนี้เรื่องการยืมเงินเพื่อการฟื้นฟูน้ำท่วมก็สามารถทำได้ แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นความพยายามในการโยนภาระของรัฐบาลในเรื่องดอกเบี้ย หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ออกไป เพราะฉะนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น