“ยิ่งลักษณ์” ผวา ส.ว.ยื่นตีความ พ.ร.ก.กู้เงิน เลขากฤษฎีกาแจงทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ เพราะดูช่อง กม.ครบถ้วนแล้ว เย้ยอย่างดีก็แค่ทำให้การออก พ.ร.ก.ล่าช้า ถ่วงเวลาลุยเมกะโปรเจกต์ “โต้ง-ธีระชัย” เลิกกินเกาเหลา กอดคอแถลงข่าว เร่งชี้แจงให้ ปชช.เข้าใจ รบ.จำเป็นต้องหาเงินเร่งฟื้นฟูเยียวยา วางอนาคตประเทศ จับตาหลังตรุษจีนเม็ดเงินนักลงทุนไหลเข้า ดัชนีวัดนโยบายรัฐเดินถูกทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ได้เสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.บริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท พ.ร.ก. แก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำเงิน 3 แสนล้านบาทปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ปล่อยกู้ให่แก่เอสเอ็มอี และประชาชนรายย่อย, พ.ร.ก.ออกพันธบัตรเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วม, พ.ร.ก.ตั้งกองทุนประภัย 5 หมื่นล้านบาท และการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯ เก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากธนาคาร พาณิชย์ โดยให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากปรับลดค่าธรรมเนียมลง เสนอเป็นวาระจร ซึ่งเป็นเรื่องลับขอเก็บเอกสารกลับคืนหลังการประชุม โดยที่ประชุมใช้เวลาหารือนานกว่า 20 นาที
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า นายกฯ ได้สอบถามนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวสมาชิกวุฒิสภาบางกลุ่มขู่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ เขาจะทำอะไรเราได้หรือไม่ เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องไปอธิบายสื่อสารให้กับสังคมและประชาชนเข้าใจถึง ความจำเป็นของรัฐบาลในการใช้เงิน ซึ่งนายอัชพรได้ชี้แจงว่า เขาทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ได้มีการศึกษาในข้อกฎหมายไว้ครบถ้วนเรียบร้อยหมดแล้ว การเลือกช่องทางออกเป็น พ.ร.ก.ถูกต้องแล้ว เว้นเสียแต่ว่าถ้า ส.ว.ไปยื่นตีความจริงก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ล่าช้าออกไป ซึ่งถ้าตีความว่าเป็นการออกกฎหมายโดยมิชอบ เขาก็ดำเนินการยื่นถอดถอนนายกฯ รองนายกฯ และ รมว.คลัง ซึ่งนายกฯระบุว่าเป็นการดี ที่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้พูดว่าจะออกเป็น พ.ร.ก.ที่ไม่ได้พูดไม่ใช่เพราะเราไม่พูด แต่เพราะเราพูดไม่ได้ เนื่องจากมันจะออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.หรือกฎหมายแบบไหนอย่างไร ยังไม่ทราบเลย แต่วันนี้เราทราบแล้วว่าเราเลือกแนวทางให้ออกเป็น พ.ร.ก. แต่อย่างน้อยการที่ก่อนหน้านี้การที่เรายังไม่ทราบก็มีมุมที่ดีที่ทำให้เรา ได้ดูศึกษาอย่างรอบคอบ ถ้าเราไปพูดก่อนแล้วค่อยมาศึกษามาใหม่แล้วไม่ใช่ก็จะเป็นประเด็น ซึ่งนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม.ได้กล่าวเสริมว่า การที่ ครม.ยังไม่เปิดตัวออกมาก่อนว่าจะทำเป็น พ.ร.ก.ก็เป็นการดีที่จะทำให้กระบวนการที่จะยื่นตีความและถอดถอนนั้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ได้กล่าวเสริมว่า ถ้าอย่างนั้นตนจะอาศัยสถานการณ์ในช่วงนี้ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับ ประชาชน ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจยาก ตนทำเรื่องนี้มาก็ยังว่ายาก บุคลากรใน ธปท.ที่อาจจะไม่เข้าใจเราหรือไปอ่านจากสื่อมายังเข้าใจยาก ดังนั้นเมื่อเราเลือกแนวทางการออก พ.ร.ก. แล้วเราจะเร่งอธิบายสื่อสารกับสังคม ถ้าต้องทำชาร์ตเขียนผังด้วยกระดาษแผ่นเดียวอธิบายโครงการต่างๆ ที่ต้องใช้เงินงบประมาณอย่างไรก็ต้องทำ
ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง ได้กล่าวเสริมว่า เป็นแนวคิดที่ดีที่สื่อสารให้พี่น้องประชาน ตนเชื่อมั่นว่าในฐานะที่ตนเคยอยู่ที่ ธปท. คนรู้แค่ว่าตนเป็นลูกหม้อ ธปท. แต่นักข่าวหรือกลุ่มที่วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจจริงๆ ก็หายากที่จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างละเอียด สรุปว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย โดยหลักการคือเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะนำเงินมาฟื้นฟูเยียวยาและวางระบบ อนาคตโครงสร้างของประเทศ ประเด็นที่วิจารณ์ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่มาก เราก็สามารถอธิบายได้ว่าประเด็นไมาได้อยูที่เงินมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ว่าถ้าเราสามารถที่จะจัดระบบ และควบคุมนโยบายการเงินการคลังร่วมกับ ธปท.ได้ ก็จะเป็นการเสริมความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์รู้ดีเรื่องตลาดทุน เราจะจับตาว่าในภาคการเงินที่แท้จริงที่ไม่ใช่นักวิชาการหรือคอลัมนิสต์ จะซึมซับกับข่าวนี้อย่างไร จะไปดูกระแสเสียงวิจารณ์จากคอลัมนิสต์หน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้ แต่ต้องไปดูนักลงทุนในตลาดว่าจากนี้ไป 2 สัปดาห์หรือถ้าจะให้ดีหลังตรุษจีน เราจะได้เห็นเลยว่ามาตรการเกิดผลอย่างไร และขณะเดียวกันเราจะดูกลุ่มนักลงทุน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักลงทุนในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศเทรดกันแค่ไหนอย่างไร แต่โครงการนี้ต้องยอมรับว่าเรามุ่งเน้นที่จะจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ กับนักลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น ถ้าหลังตรุษจีนเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาสู่ตลาดหลักทรพัย์ หรือตลาดทุนของไทย ก็แสดงว่านโยบายรัฐบาลเดินมาถูกทาง ไม่มีใครสามารถว่าเราได้
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การหารือครั้งนี้ทั้งนายกิตติรัตน์และนายธีระชัยมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน คอยชี้แจงเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งในตอนท้ายนายกฯ ได้เน้นย้ำให้นายกิตติรัตน์และนายธีระชัยไปแถลงข่าวร่วมกันภายหลังการประชุม ครม.เสร็จสิ้น