ครม.เห็นชอบเยียวยาเหยื่อการเมือง อ้างมาตรฐานยูเอ็น รวมเหตุก่อนรัฐประหาร-เผาเมือง 53 ตายและพิการ 4.5 ล้าน+ค่าปลงศพ 2.5 แสน+ชดเชยจิตใจ 3 ล้าน รวมได้ 7.75 ล้านต่อราย เสียอวัยวะสำคัญได้ 3.6 ล้าน ไม่สำคัญได้ 1.8 ล้าน เจ็บสาหัสได้ 1.125 ล้าน ไม่สาหัสได้ 6.75 แสน เจ็บนิดๆ ได้ 2.25 แสน วางงบไว้ 2 พันล้าน โยน สปน.-พม.รับผิดชอบ ให้ “ยงยุทธ” ดูร้านค้าถูกเผา
วันนี้ (10 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น.นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ และผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองให้เหมาะสม เป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรม เสมอภาค นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เสนอแนะมาตรการ กลไกและวิธีการเพื่อส่งเสริมการเยียวยา และฟื้นฟูเหยื่อ ผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติเดิม ทั้งทางการเงินและรูปแบบอื่น รวมถึงการสร้างโอกาสในการดำรงชีพและประกอบอาชีพตามปกติ โดยเทียบเคียงให้มีมาตรฐานเป็นสากลกับการกำหนดค่าชดเชยของสหประชาชาติ โดยการชดเชย เยียวยาจะครอบคลุมทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 เป็นต้นมา จนกระทั่งเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค. 53 โดยครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นางฐิติมากล่าวว่า สำหรับการกำหนดกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ เยียวยาความเสียหาย ได้แก่ 1.เงินชดเชยกรณีการเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท 2.เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท/ราย 3.เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (4.5 ล้านบาท/ราย) 4.เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ แบ่งเป็น 4.1 สูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราร้อยละ 80 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (3.6 ล้านบาท/ราย) 4.2 สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราร้อยละ 40 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (1.8 ล้านบาท/ราย)
5.เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ แบ่งเป็น 5.1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราร้อยละ 25 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (1,125,000 บาท/ราย) 5.2 ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราร้อยละ 15 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (675,000 บาท/ราย) 5.3 ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราร้อยละ 5 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (225,000 บาท/ราย)
6.เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล แบ่งเป็น 6.1 กรณีเสียชีวิต โดยได้เข้ารับการรักษาก่อนเสียชีวิต อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย 6.2 กรณีทุพพลภาพและสูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย และเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องจาก อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย/ปี 6.3 กรณีสูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000บาท/ราย และเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการรักษ่ต่อเนื่อง อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี 6.4 กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี 6.5 กรณีได้รับบาดเจ็บ ไม่สาหัส อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท/ราย/ปี 6.6 กรณีได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท/ราย/ปี
นางฐิติมากล่าวต่อว่า 7.เงินชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แบ่งเป็น 7.1กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ได้รับเงินชดเชยในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว โดยคำนวนตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทยปี พ.ศ. 2553 (150,177 บาท/ปี) 7.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/พิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก ให้ได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก โดยคำนวนตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทยปี พ.ศ. 2553 (150,177 บาท/ปี)
8.เงินชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ แบ่งเป็น 8.1 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ อัตรา 3 ล้านบาท/ราย 8.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และได้ถูกควบคุมหรือคุมขังก่อนศาลมีคำสั่ง/พิพากษาเป็นระยะเวลาเกินกว่า180 วัน อัตรา 1.5 ล้านบาท/ราย และเกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 750,000 บาท/ราย 8.3 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก เป็นระยะเวลาเกินกว่า 180 วัน อัตรา 1 ล้านบาท/ราย และเกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 500,000 บาท/ราย
นางฐิติมากล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้ประมาณการวงเงินงบประมาณไว้จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชดเชยเยียวยาจะครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนรแรงทางการเมืองทุกเหตุการณ์ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงปลายปี 48 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ทั้งนี้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และเป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟู ตามที่ ปคอป.เสนอ โดยนายกฯ ได้ระบุให้หลักเกณฑ์นี้เป็นวาระพิเศษ พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า โดยให้ ปคอป.ไปดูผลกระทบข้างเคียงด้วยเพื่อความสมานฉันท์ปรองดอง ให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธาน ปคอป.ไปดูผลกระทบเรื่องของร้านค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบด้วย