xs
xsm
sm
md
lg

กรณีการเยียวยาผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

ความขัดแย้งทางการเมือง ยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ หรือส่งเสริมพ่อค้าความตาย วีรบุรุษบนซากศพ ให้รางวัลคนทำลายหลักของบ้านเมือง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน โดยได้เสนอแนะมาตรการ กลไก และวิธีการเยียวยาผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ดังนี้

1. กรณีเสียชีวิต อัตรา 4.5 ล้านบาทต่อราย โดยคำนวณตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคนต่อเดือนตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทย (GDP per Capita) ของปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 1.5 แสนบาท ชดเชยค่าเสียโอกาสเป็นเวลา 30 ปี โดยประมาณว่าผู้เสียชีวิตมีอายุเฉลี่ยที่ 35 ปี จะมีโอกาสทำงานไปจนถึงอายุ 65 ปี

2. เงินช่วยเหลือค่าปลงศพ อัตรา 2.5 แสนบาทต่อราย

3. เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต

4. เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ สูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราร้อยละ 80 ของกรณีเสียชีวิต (3.6 ล้านบาทต่อราย) สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราร้อยละ 40 ของกรณีเสียชีวิต (1.8 ล้านบาทต่อราย)

5. กรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ ได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราร้อยละ 25 ของกรณีเสียชีวิต (1.1 ล้านบาทต่อราย) ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราร้อยละ 15 ของกรณีเสียชีวิต (6.7 แสนบาทต่อราย) ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราร้อยละ 5 ของกรณีเสียชีวิต (2.2 แสนบาทต่อราย)

6. เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล กรณีเสียชีวิตจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย กรณีทุพพลภาพและสูญเสียอวัยวะสำคัญจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย กรณีรักษาต่อเนื่องไม่เกิน 2 แสนบาทต่อรายต่อปี กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัสจ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีได้รับบาดเจ็บไม่สาหัสจ่ายไม่เกิน 2 หมื่นบาท กรณีได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจ่ายไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อราย

7. การชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง กรณีที่ศาลยกฟ้องให้ได้รับเงินชดเชยในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว โดยคำนวณจากรายได้ 1.5 แสนบาทต่อปี กรณีถูกศาลตัดสินให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินระยะเวลาที่กำหนด ให้ได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก

8. การชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ อาทิ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ อัตรา 3 ล้านบาทต่อราย กรณีศาลยกฟ้อง แต่ถูกควบคุมหรือคุมขัง เกินกว่า 180 วัน อัตรา 1.5 ล้านบาทต่อราย เกินกว่า 90 วันแต่ไม่ถึง 180 วัน อัตรา 7.5 แสนบาทต่อราย กรณีศาลตัดสินให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินระยะเวลาให้จำคุก เกินกว่า 180 วัน อัตรา 1 ล้านบาทต่อราย และเกินกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 5 แสนบาทต่อราย

อย่างไรก็ตาม การชดเชยเยียวยาให้ครอบคลุมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทุกเหตุการณ์ นับแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหตุรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมขับไล่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทั้งปี 2552 มาจนถึงเหตุความรุนแรง เมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 รวมวงเงินสองพันล้านบาท โดยไม่รวมถึงความเสียหายจากเหตุการณ์อื่นๆ อาทิ กรณีตากใบหรือกรือเซะ

เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดหลักการและเหตุผลตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า โดยหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริง และการบริหารราชการแผ่นดินที่ดีของรัฐ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติของราชการต่อกรณีปัญหาดังกล่าว มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาดังนี้

1. มติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

2. ผู้ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ตามมติ ครม.มีสิทธิได้รับชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายดังกล่าว หรือไม่?

3. จำนวนเงินและค่าเสียหายที่รัฐกำหนดเป็นการชดเชย โดยนำเงินจากภาษีอากรอันเป็นงบประมาณของแผ่นดินมาชำระให้ สมควรแก่เหตุและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

4. ผลกระทบจากมติ ครม.ดังกล่าว จะเกิดผลดีหรือเสียหายต่อการบริหารบ้านเมือง สังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างไรหรือไม่?

5. หากมติ ครม.นี้มิชอบด้วยกฎหมายและส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม จะสามารถยับยั้งหรือเพิกถอนได้หรือไม่?


ประเด็นทั้งหลายดังกล่าว ผู้เขียนต้องการที่จะตั้งเป็นเรื่องปุจฉา วิสัชนา เพื่อค้นหาเหตุผล และนำเสนอต่อสังคมได้พิจารณาร่วมกันในฐานะที่เราท่านทั้งหลายล้วนเป็นเจ้าของประเทศด้วยกัน และย่อมได้รับผลกระทบจากมติ ครม.ดังกล่าวนี้ร่วมกัน เพราะเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐนำมาจ่ายเป็นจำนวนเงินเฉพาะกรณีนี้ถึงสองพันล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมเงินอีกจำนวนเกือบหมื่นล้านบาทที่รัฐบาลก่อนได้ใช้ไป โดยเหตุผลและหลักการที่แตกต่างกัน

เมื่อพิจารณาโดยนำหลักกฎหมาย และข้อเท็จจริง มาพิเคราะห์ถึงการที่ ครม.มีมติดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นปัญหามากมายที่สังคมและประชาชนพึงรับรู้และผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จะมีผลกระทบลึกซึ้ง กว้างไกล และน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง หากปล่อยให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารบ้านเมืองไปในลักษณะเช่นนี้ หรือมีมติ ครม.ตามอำเภอใจ ลุแก่อำนาจไม่คำนึงถึงหลักการ ไม่ยึดหลักกฎหมายของบ้านเมือง หวังเพียงผลประโยชน์ทางการเมืองสูงสุดของพรรค และคำนึงถึงแต่การที่จะช่วยเหลือพวกพ้องและเอาใจฐานการเมืองผู้สนับสนุนตนเองขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น อันตรายอันเกิดจากการบริหารบ้านเมืองที่เลวร้ายเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าของประเทศไม่สมควรที่จะปล่อยให้ผ่านเลยไป (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น