xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐกลับลำแก้ รธน.50! ตั้ง ส.ส.ร.3 ยื่นร่างสมัยประชุมนี้ - “อภิวันท์” แย้มทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
ปธ.วิปรัฐบาล กลับลำ! อ้างที่ประชุมเห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญ 50 เหตุชาวบ้านทวง เล็งจัดการ ม.291 ตั้ง ส.ส.ร.3 ให้รัฐ-ส.ส.เสนอร่างคู่ ยันทำให้ทันสมัยประชุมนี้ เริ่มต้นเดือนหน้า เมินพวกประท้วงต้าน ด้าน “อภิวันท์” ปัดลูกพรรคเห็นต่าง ยันต้องทำประชามติ มีแต่ “ไอ้เต้น” ค้าน สับ รธน.เครื่องมือรัฐประหารต้องแก้ ยังอ้างไม่ได้ทำเพื่อ “นช.แม้ว” อ้างนานาชาติค้านยุบ ทรท. ขณะโฆษก ภท.แนะรอผล กมธ.วิฯ ปรองดองก่อน

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านทวงถามถึงนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นที่ประชุมวิปรัฐบาลจึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างเนื้อหาที่จะมีการแก้ไขทั้งหมด โดยจะให้รัฐบาลและ ส.ส.เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาคู่กัน เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายในเรื่องนี้ต่อรัฐสภา สำหรับช่วงเวลาในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเป็นภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มในเดือน ม.ค.เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับความพร้อม ส่วนจะยกร่างแก้ไขเสร็จเมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร.เป็นผู้กำหนด เพราะเราต้องให้อิสระกับ ส.ส.ร.ในการยกร่างแก้ไข โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ต้องให้ ส.ส.ร.กำหนดระยะเวลาในการทำงาน ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถไปกำหนดกรอบเวลาได้

ส่วนกรณีที่มีหลายกลุ่มเตรียมออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะมีการแก้ไขมาตราไหน และมีรูปแบบอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร. เราเป็นเพียงแค่เปิดทางให้มีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื้อหาจะต้องดีขึ้นไม่ใช่เลวลง กลุ่มขาประจำที่ออกมาก็เป็นเรื่องของเขา ไม่รู้ว่าได้ประโยชน์อะไรกับรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ จึงออกมาปกป้อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะเวลาในการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ คือ ระหว่างวันที่ 21 ธ.ค.54 - 18 เม.ย.55 โดยมีกฎหมายที่รอการรับรองจากสภาจำนวน 24 ฉบับ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่ต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาล 39 ฉบับ

ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ส.ส.พรรค กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวพรรคมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ไม่เป็นความจริง โดยตนกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็พูดในที่ประชุมไปในทิศทางเดียวกัน ที่เห็นว่าน่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ และทำประชามติ ขณะเดียวกันด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความเห็นที่แตกต่างออกมาว่าไม่จำเป็นที่ต้องทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของพรรคอยู่แล้ว ซึ่งต้องมีการหารือกันต่อไป และต้องถามประชาชนด้วยว่าเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลหรือไม่ อะไรที่เป็นเรื่องก้ำกึ่งก็ควรจะทำให้ชัดเจน ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีกฎหมายไม่มากก็ยังต้องทำประชามติทุกฉบับ เช่น เรื่องของภาษีท้องถิ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การทำประชามตินั้น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นมติพรรค แต่ถึงว่าในการประชุมวานนี้ (20 ธ.ค.) นั้นเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย ส่วนจะมีความพร้อมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใดนั้นก็ต้องดูอีกที

“ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ค่อนข้างมีปัญหา เป็นเครื่องมือของการทำรัฐประหาร อะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องแก้ ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งก็ไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือใครคนใดคนหนึ่งทั้งสิ้น ถึงเวลานี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะมีการแก้ไข แต่ทั้งนี้ต้องดูเวลาที่เหมาะสม และความพร้อมในเรื่องต่างๆ ด้วย” พ.อ.อภิวันท์ระบุ

พ.อ.อภิวันท์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสไปร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ซึ่งในที่ประชุมได้มีการหยิบยกกรณีการยุบพรรคไทยรักไทย และการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค โดยมีบทสรุปว่ากรณีดังกล่าว ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย และเป็นกฎหมายของการรัฐประหาร แสดงให้เห็นว่านานาชาติไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่มีบทลงโทษนี้

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวในกรณีเดียวกันว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสการทำงานให้แก่ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง) เสียก่อน เพื่อให้เป็นบทสรุปที่ออกมามาจากคนกลาง ไม่ได้มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะในกลไกของ กมธ.ปรองดองได้มีสถาบันพระปกเกล้า และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งเดป็นหน่วยงานที่เป็นกลางและมีความอิสระเข้ามาร่วมทำงานด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น