ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ตั้งข้อสังเกต 15 นักวิชาการเสนอตั้ง กก.กลั่นกรองคดีหมิ่นฯ เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทำให้การขอแก้ ม.112 กลายเป็นปัญหาการเมืองขาดความเป็นอิสระ
วันนี้ (18 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้ตั้งข้อสังเกต 5 ข้อ ต่อข้อเสนอของนักวิชาการ 15 คน ให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่า เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทำให้เรื่องขอแก้ ม.112 กลา่ยเป็นประเด็นการเมือง อาจสลับซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น แนะหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุควบคู่ไปด้วย
“ผมเห็นว่า ข้อเสนอของ 15 นักวิชาการที่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองคดีหมิ่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่ควรมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง เพื่อหาข้อยุติและไม่ให้การนำกฎหมาย ม. 112 ไปใช้ในทางที่ผิดหรือกลั่นแกล้งสุจริตชน
“แต่ข้อเสนอของนักวิชาการทั้ง 15 ท่านดังกล่าวก็มีจุดอ่อนและช่องโหว่ ซึ่งผมมีข้อสังเกต 5 ข้อเพื่อการถกเถียงแลกเปลี่ยน ดังนี้ 1.องค์ประกอบหรือสัดส่วนของคณะกรรมการกลั่นกรองจะยึดความหลากหลายแค่ไหนและจะอ้างอิงฐานคิดหรือกรอบอะไร จะต้องออกเป็นกฎหมายรองรับหรือไม่ 2.ที่มาของคณะกรรมการใครมีอำนาจแต่งตั้ง หรือถ้าใช้ระบบสรรหาจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนและได้รับการยอมรับจากภาคส่วนนั้นๆ จริง เช่น นักวิชาการ ผู้นำชาวบ้าน ตัวแทนสหภาพแรงงานฯ 3.จะมั่นใจได้อย่างไรว่า กรรมการกลั่นกรองฯ จะมีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะกรรมการบางคนอาจมีธงหรือจุดยืนต่อ ม.112 อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว หรือกรรมการบางคนอาจเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง จะกระทบต่อมติของกรรมการกลั่นกรองฯ หรือไม่ และผู้ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นฯ ภายใต้มติของกรรมการกรั่นกรองฯ จะสามารถฟ้องร้องเอาผิดกรรมการได้หรือไม่ 4.ขอบเขตอำนาจหน้าที่มีแค่ไหนจะจัดความสัมพันธ์กับอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน อัยการและศาลอย่างไร เช่น ถ้าบางเรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองบอกไม่มีมูลหมิ่นฯ แต่มีประชาชนนำเหตุดังกล่าวไปยื่นฟ้องศาลโดยตรงจะขัดแย้งกันหรือไม่ 5.ถ้ามติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีผลผูกพัน ตำรวจ อัยการ และศาล เท่ากับคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ หรือเป็นการตั้ง “ศาลพิเศษ” ขึ้นมาซ้อนศาลปกติหรือไม่
“ผมมองว่า ข้อเสนอดังกล่าวค่อนข้างเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุที่เราต้องยอมรับความจริงกันก็คือ มีขบวนการล้มเจ้าจริงและมีการจัดตั้งทำงานกันเป็นเครือข่ายกว้างขวางเป็นระบบ คนกลุ่มนี้ไม่สนใจ ม.112 ว่า จะแก้ไขหรือยกเลิกด้วยซ้ำ ที่ผมเป็นห่วงก็คือหากกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่อิสระ มีวาระส่วนตัวกัน จนขาดความน่าเชื่อถือ การเมืองว่าด้วยเรื่อง ม. 112 ยิ่งจะสลับซับซ้อนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คณะนักวิชาการทั้ง 15 ท่านคงต้องคิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุควบคู่ไปได้วย” นายสุริยะใส ระบุ