“ทูตสุรพงษ์” แจงปกติยูเอ็นจะไม่ยุ่งกับการพิจารณาของศาลในประเทศสมาชิก เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก อีกทั้งยังละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติด้วย ส่วนทูตสหรัฐฯ วิจารณ์คำพิพากษา “โจ กอร์ดอน” ถือว่าตบหน้าไทย เพราะตามมารยาทจะไม่พูดต่อสื่อ เชื่อรัฐบาลไทยรู้เห็น เพื่อเพิ่มแรงกดดันแก้ รธน. พร้อมย้ำไม่จำเป็นต้องรับประชาธิปไตยแบบที่ถูกยัดเยียดให้ ควรมั่นใจในความเป็นชาติของเราเอง
วันที่ 14 ธ.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี
จากกรณีที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องการให้ไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะที่นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็ได้วิจารณ์ถึงการตัดสินคดีนายโจ กอร์ดอน ว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเสรีภาพพื้นฐานสากลว่าด้วยสิทธิในการแสดงออก
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การที่ศาลของแต่ละประเทศพิจารณาคดีอะไรก็แล้วแต่ อย่างกรณีจำคุก 2 ปี นายโจ กอร์ดอน ส่วนที่เราเป็นภาคีอนุสัญญา หรือสนธิสัญญา เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศหรือสิทธิมนุษยชน อันนั้นก็ส่วนนั้น แต่กรณีอย่างนี้ปกติสหประชาชาติจะมีความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศสมาชิกจะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะหลักการตั้งสหประชาชาติก็มีกฎบัตรสหประชาชาติ ในประเด็นนี้ ตนมองว่าป็นการเมืองระหว่างประเทศ ที่ประเทศมหาอำนาจให้ท้ายยูเอ็นมากดดันประเทศไทย และเข้าใจว่ารัฐบาลไทยก็คงเห็นดีเห็นชอบด้วย
ขณะนี้การเมืองของไทยก็ต้องการนิรโทษกรรม แก้รัฐธรรมนูญ ในเมื่อกระแสภายในประเทศต่อต้านมาก รัฐบาลเลยเอาต่างประเทศมากดดัน ปกติสหประชาชาติต้องระมัดระวังมาก เพราะอย่างน้อยที่สุดมาตรา 2 ของหลักการกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อที่ 7 ระบุว่า ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะให้อำนาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซง ในเรื่องซึ่งโดยสาระสำคัญแล้ว ตกอยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐสมาชิก หรือจะเรียกให้สมาชิกเสนอเรื่อง เช่นว่า เพื่อการระงับตามกฎบัตรปัจจุบัน แต่หลักการนี้จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้บังคับ ตามหมวดที่ 7 หมวดที่ 7 ก็คือ หากเกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติคนล้มตายเป็นหมื่นเป็นแสนในประเทศ อันนี้จะเข้ามาพิจารณาได้
แต่อันนี้เป็นศาลพิจารณา มันไม่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ได้นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของภูมิภาค ไม่เข้าใจว่าทำอย่างนี้เพราะอะไร
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ไม่เข้าใจทำไมรัฐบาลไม่ออกมาปกป้องประเทศไทย สหประชาชาติละเมิดมาตรา 2 ข้อ 7 แต่กลับมองว่าให้กดดันแก้มาตรา 112 มันเป็นเกมการเมืองที่เราเชื้อเชิญเขาเข้ามา เพื่อตอบสนองวาระทางการเมืองของรัฐบาล รัฐบาลทั่วไปต้องตอบโต้ทันที
เราเข้าใจดีว่าทูตของแต่ละประเทศ ถ้าคนของเขาติดคุกก็ต้องดูแลคนของเขา มีสิทธิที่จะแสดงความเห็น แต่ปกติแล้วถ้าสหรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ควรพูดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของไทย พูดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ หรือหากเห็นว่าสำคัญมากๆก็พูดกับนายกฯ ไม่ใช่มาพูดกับสาธารณชนผ่านสื่อ อย่างนี้เท่ากับว่าไม่ให้เกียรติประเทศไทย เป็นการตบหน้าประเทศไทย
ปกติทางการทูตไม่ทำแบบนี้ เพราะหากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน กระทบต่อจิตใจของคนในประเทศ ต้องไม่พูดในที่สาธารณะ แต่นี่จงใจพูด เพื่อกดดันเพิ่มเติม ทำแบบนี้แล้วใครได้ประโยชน์ ดูจากการเมืองในไทย เหมือนกับว่าสหประชาชาติ สหรัฐ ร่วมมือกับรัฐบาลนี้หรือเปล่า เพื่อกดดันให้คนไทยเห็นว่าหากไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่แก้มาตรา 112 ประเทศไทยจะโดนหนัก รัฐบาลต้องเรียก ทูตสหรัฐ และสหประชาชาติ มาเตือน ผู้นำฝ่ายค้านก็ควรมีบทบาทตรงนี้ด้วย
เมื่อถามว่าถ้ายังปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้โลกล้อมประเทศอยู่อย่างนี้ น่าเป็นห่วงขนาดไหน นายสุรพงษ์กล่าวว่า น่าเป็นห่วงมาก ถ้าการเมืองของประเทศไทยไม่เปลี่ยนไปในทางที่ถูกที่ควร ต้องเจอปัญหาอีกยาวนานมาก ตนเชื่อว่าสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ สหรัฐปรามไว้ว่าไม่หนุนการปฏิวัติก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี มันอยู่ที่เราเคารพตัวเองมากแค่ไหน อยู่ที่เอกภาพภายในชาติ
ที่ต่างประเทศเป็นอย่างนี้เพราะการเมืองของไทยเชื้อเชิญให้เขาเป็นอย่างนี้ได้ ไม่ต้องไปกลัวเลย สหรัฐฯ บอกประชาธิปไตย แต่อย่างอียิปต์ มูบารัคก็เป็นหุ่นของสหรัฐฯ มา เผด็จการทั้งหลายก็เป็นมรดกของสงครามเย็น เป็นเครื่องมือของสหรัฐฯ ทั้งนั้น ประเทศตะวันตกมือถือสากปากถือศีล หลายมาตรฐานมาก
นายสุรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า ไม่มีประเทศไหนหรอก ที่เอาประชาธิปไตยของสังคมหนึ่งมาใช้เลย มันเป็นปัญหาที่เราติดกับดัก ยกตัวอย่างขนาดระบอบเผด็จการพลเรือนฟาสซิสต์ ของอิตาลี มุสโสลินียังเห็นถึงคุณค่าอัตลักษณ์ของชาติ เขายังไม่ทำลายสถาบันกษัตริย์เลย เพราะเขารู้คุณค่าของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ไม่ใช่เอาลัทธิอุดมการณ์อะไรเข้ามายัดเยียด แล้วทำลายส่วนอื่นๆของชาติ นี่ก็เพราะเราไม่มั่นใจในความเป็นชาติไทย ไม่มั่นใจในผลประโยชน์ และวัฒนธรรมของเรา ประเด็นคือทำไมเราต้องเอาประชาธิปไตยของใครที่มายัดเยียดให้ และจะต้องเป็นสูตรสำเร็จรูปว่าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเผด็จการ มันไม่ใช่